"โคทม"สวดนักการเมืองพูดแต่เรื่องเฉพาะหน้า เมินปัญหาโครงสร้าง "ไฟใต้-ความเป็นธรรม"
เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสานเสวนาเรื่อง "พลเมืองกับการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรมสู่การดับไฟใต้" ที่โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี เพื่อหวังขับเคลื่อนนโยบายดับไฟใต้ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยอาศัยช่วงจังหวะที่พรรคการเมืองกำลังรณรงค์หาเสียงและให้สัญญาประชาคมกับพี่น้องประชาชนเป็นแรงบวก
เวทีนี้ได้เชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย หากแต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะมีคนจากภาคการเมืองเข้าร่วมค่อนข้างบางตา สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากงานจัดในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง หลายคนจึงเลือกลงพื้นที่พบปะประชาชนให้มากที่สุดแทน
แต่ประเด็นที่ยกขึ้นมาพูดคุยกันนับว่าน่าสนใจ และสมควรขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อไป “ทีมข่าวอิศรา” สัมภาษณ์พิเศษ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงเส้นทางอันยาวไกลของกระบวนการ “ดับไฟใต้” และสถาปนาสันติสุขขึ้นในดินแดนแห่งนี้
O ที่ผ่านมามีการจัดเวทีเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมาแล้วหลายเวที คิดว่าวิธีการนี้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งได้หรือไม่ อย่างไร?
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ยาวนาน แผนที่เดินทาง (โรดแมพ ; Roadmap) ยังเห็นได้เพียงลางๆ เรารู้อยู่ว่าเป้าหมายน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายคิดตรงกัน ผมใช้คำว่า “สันติปัตตานี” นี่คือเป้าหมาย แต่วิธีการที่จะไปถึงยังคิดต่างกันมาก เราพยายามเสนอวิธีการหนึ่งคือให้ทุกภาคส่วนได้มีเสียงมีส่วนในการดำเนินการไปข้างหน้า เคารพในความแตกต่าง ขณะเดียวกันก็เข้าใจผู้อื่นและเดินทางไปสู่เป้าหมายด้วยกัน ซึ่งกระบวนการนี้เรียกชื่อกว้างๆ ว่า “กระบวนการสานเสวนาสันติภาพ” เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ และกลุ่มอื่นมาร่วมคิด อย่างคราวนี้เป็นความพยายามชวนฝ่ายการเมืองซึ่งชวนยากทั้งที่พื้นที่นี้ใช้การเมืองนำการทหาร เอากระบวนการที่พยายามรวมทุกภาคส่วน แต่ต่างคนยังต่างคิด น่าจะจัดเวทีที่สานเสวนาอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดใจกว้าง ตั้งใจฟัง คิดใคร่ครวญแล้วจึงเสนอความเห็นต่อกัน กระบวนการนี้ต้องทำต่อไปอีก ขณะนี้เห็นผลแล้วบ้าง แต่ยังไม่ชัดมาก
O แสดงว่าภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแสวงหาสันติปัตตานี?
วิธีการที่ผมเสนอเป็นวิธีการทางความคิด ขณะที่พรรคการเมืองต้องการเอาชนะใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยการมีความคิดอ่านที่แยบยล มีกุศโลบายที่แยบคาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อนำทางไปสู่สันติสุขได้ นี่คือความคิดของผม ส่วนการหาเสียงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จะเอาชนะกัน แต่ผมเห็นว่าพรรคการเมืองควรคำนึงถึงสิ่งที่มันถาวรมากกว่านี้
O เนื้อหาที่ได้รับจากการจัดเวทีมีอะไรบ้าง?
เราพยายามเสนอรูปแบบที่ไม่ใช่การประชันวิสัยทัศน์ แต่ยกประเด็นขึ้นมาพูดคุยกัน เช่น การยกประเด็นความยุติธรรมในภาพกว้าง การเคารพสิทธิของผู้ต้องหา การวางระบบกระบวนการยุติธรรมที่ทันท่วงที การกระจายอำนาจ รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การศึกษาและศาสนา
ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในนโยบายต่างๆ แต่เท่าที่สังเกตดู ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือคนจากภาคการเมืองยังพูดแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่คิดว่าจะโดนใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปโครงสร้างธรรมชาติของคนในพื้นที่ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ระบบอัยการ ระบบศาล ราชทัณฑ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนการยุติธรรม ยังไม่ค่อยได้พูดกัน
ในระยะยาวเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน (ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนรวมกันเป็นหนึ่ง ปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558) หากยังสู้รบกันแบบนี้ผมรู้สึกว่าการจะทำให้เกิดบูรณาการกับอาเซียนจะทำอย่างไร อีกด้านของชายแดนก็ยังสู้รบกับกัมพูชา ยังไม่เห็นวี่แววว่าไทยจะมีบทบาทอย่างไร 2-3 ปัญหานี้เป็นปัญหาหนัก และยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่ลงตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรายังพูดกันน้อยมาก
O ปัญหาความยุติธรรมเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน คิดว่าปัจจุบันดีขึ้นบ้างหรือไม่?
ต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งญาติพี่น้องที่ตกเป็นผู้ต้องหา คดีที่มีความล่าช้า หรือไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุได้ เป็นเหมือนบาดแผลที่ต้องรักษาใส่ยา เมื่อพยาธิสภาพเบียดเบียนก็ต้องรักษาร่างกาย แต่เรื่องที่ต้องพูดคือ ทำอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกัน ไปดูสาเหตุของโรค เราไม่ได้ดูในเบื้องลึก แต่ไปติดตามตอบโต้เอาคืน คนไข้ก็ทรุดหนัก
O หากมองในมิติการเมืองคิดว่าหลังเลือกตั้งฝ่ายการเมืองจะทำอย่างไรกับปัญหาภาคใต้?
ผมเชื่อว่าคำตอบไม่น่ากำหนดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สมมติว่าพรรคจำนวนหนึ่งรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล คิดกันในหมู่ผู้มีอำนาจ ส่วนใหญ่คือคนในส่วนกลาง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม อาจจะมีความรู้สึกว่าไม่รับฟังเสียงคนในพื้นที่มากพอควร ผมจินตนาการว่าเมื่อคนที่คิดส่วนใหญ่เป็นคนในส่วนกลาง จะคิดดีอย่างไรก็ไม่ได้รับฟังเสียงคนในพื้นที่เท่าที่ควร เหตุการณ์ความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจากอะไรก็สุดแล้วแต่ เห็นว่าถึงจะคิดแก้อย่างดีที่สุด อารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่ก็บอกว่าไม่ใช่คำตอบสำหรับเขา คำตอบคือต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เป็นคำตอบของทุกภาคส่วน อยากให้เป็นกระบวนการของคนในพื้นที่จริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น หากเราปีนขึ้นไปบนภูเขาแล้วมองลงมาเห็นแม่น้ำเกือบทั้งสาย เราก็จะรู้ว่าแม่น้ำไหลไปทางไหน เหมือนเห็นเป้าหมายแห่งสันติสุข แต่หากเรามัวแต่ดูอยู่ห่างๆ มองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด แล้วคลุกคลีอยู่แต่กับปัญหาเฉพาะหน้า มันก็จะไปไม่ได้ เพราะเมื่อเราจะไปที่ลำน้ำต้องรู้ว่าตรงไหนเป็นคุ้งเป็นแคว ต้องมาคลุกคลีกับปัญหาประจำวันด้วย ฉะนั้นทั้งสองด้านต้องควบคู่กันไป
สิ่งที่อาจพอเร่งรัดได้คือความยุติธรรม ส่วนเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การทำมาหากินต้องค่อยๆ ดำเนินการไป เรื่องที่เป็นนามธรรมควรนำมาพูดกันบ่อยๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรม แต่ความจริงไม่พ้นความไม่ไว้วางใจกัน น่าจะหยิบยกปัญหาการเมืองการปกครองมาพูดคุยกัน แผนที่เดินทางการเมืองการปกครองของสามจังหวัดจะไปในทิศทางใด ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ ใครมีอำนาจมากน้อยเพียงใด อำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นที่เหมาะสมคือตรงไหน ต้องพูดคุยกันบ่อยๆ
O การสานเสวนาแบบนี้คนอาจมองว่าเป็นวิธีการที่ดี แต่ไม่ทันเวลา?
ผมเข้าใจ แต่มองว่าปัญหาภาคใต้ยืดเยื้อแน่ เช่น ที่มีคนเสนอแต่ผมไม่เชื่อ คือถอนทหารแล้วปัญหาที่มีจะจบลง ผมไม่เชื่อเพราะบทวิเคราะห์ต่างกัน คนอื่นอาจดูว่าปัญหาจากการมีทหารอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ทหารก็บอกว่าเขาไม่ต้องการให้มีการประทุษร้ายกัน ถ้าเราฟังทั้งสองฝ่ายแล้วบอกว่า “สันติ” เป็นเป้าหมาย มันยากที่จะทำให้ฝ่ายหนึ่งวางอาวุธ ในขณะที่อีกฝ่ายใช้อาวุธ หากทหารและขบวนการจะตกลงกันก็ต้องมีความชัดเจน มีหลักประกันที่ต้องมาคุยกัน
ที่อื่นที่มีปัญหาก็มีการเจรจาอย่างเป็นกระบวนการ ตกลงกันเป็นขั้นตอน มีรายละเอียด ผมเห็นด้วยกับเป้าหมายสุดท้ายคือการหยุดยิง ถอนกำลัง วางอาวุธด้วยกัน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายปรารถนา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ papershop.blog.mthai.com