ผลจากทีวีดิจิตอล เชื่อไม่เกิน 5 ปี “ช่อง3” แซง “ช่อง7”
เสวนาทีวีดิจิตอล กสทช.ยกข้อดีเพียบ บิ๊กเนชั่นมองเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ คาดไม่เกิน 5 ปี “ช่อง3” จะแซง “ช่อง7”อ.จุฬาฯชี้ช่วยลดอำนาจสถานีกำหนดเนื้อหา ด้านนักวิชาการสื่อห่วงเกิดวิกฤตแรงงานสื่อ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2557 ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “ทีวีดิจิตอล อนาคตประเทศไทย...? ใครได้รับผลประโยชน์”
นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทีวีดิจิตอล คือการเปลี่ยนระบบการส่งคลื่นความถี่ จากเดิมที่ส่งสัญญาณจากอนาล็อกมาเป็นดิจิตอล ซึ่งทีวีรุ่นเก่าๆ จะรับสัญญาณดิจิตอลไม่ได้ แก้ได้ด้วยการไปซื้อกล่องแปลงสัญญาณดิจิตอลมาใช้เท่านั้น ข้อดีของสัญญาณดิจิตอล คือสัญญาณชัดเจนขึ้น และสามารถทำเป็นความละเอียดสูง (HD) ได้
นายธวัชชัย กล่าวว่า ที่ว่าสอดคล้องกับการปฏิรูปสื่อ ตนมองว่ามี 3 ข้อ 1.คนทำสื่อมีอิสระมากขึ้น เพราะสัมปทาน คนทำสื่อจะตอบสนองผู้มีอำนาจ แต่พอเป็นใบอนุญาต จะมีองค์กรอิสระอย่าง กสทช.มาดูแล ดังนั้นอิสรภาพในการทำงานของสื่อจะมากกว่า เพราะไม่ต้องไปแบมือขอใครแล้ว 2.สร้างความหลากหลายทางความคิด ทีวีดิจิตอลยังทำช่องได้มากขึ้น จากเดิมมีฟรีทีวี 6 ช่อง ของใหม่มีได้ถึง 50 ช่อง ฟรีทีวีในอดีตมีช่องธุรกิจแค่ช่อง 3 กับช่อง 7 ส่วนที่เหลือมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ของใหม่มีช่องธุรกิจถึง 24 ช่อง และ 3.การเข้าถึงง่ายขึ้น เพราะอนาล็อกมีข้อจำกัด ส่วนดิจิตอลมีการบังคับเรื่องการกระจาย ให้ครอบคลุมมากขึ้น
นายธวัชชัย กล่าวว่า ส่วนที่คนเป็นห่วงเรื่องการกำกับดูแล เราจะส่งเสริมให้กำกับดูแลกันเอง เพราะฝ่ายวิชาชีพจะรู้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่ กสทช.จะได้ไปแทรกแซงน้อย เฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ
“ที่คนพยายามทำมาตลอด ทุกคนต้องช่วยกันจับตามอง เพราะมีคนพยายามดึงไปเบี้ยวๆ เยอะ” นายธวัชชัยกล่าว
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งวัฒนกิจ กรรมการบริหาร บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล ตนไม่ได้มองแค่ปฏิรูปสื่อ แต่มองถึงขึ้นเป็นการปฏิวัติ เพราะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นเจ้าของ เนื่องจากทีวีอนาล็อกอยู่กับเรามากว่า 50 ปีแล้ว แม้จะมีทีวีดาวเทียมมา 5-6 ปี แต่ก็ไม่ถือเป็นการปฏิวัติ อาจเป็นแค่กบฏย่อยๆ ที่แย่งคนดูทีวีอนาล็อก ทั้งนี้ หากดูผู้ชนะประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง มี 17 ราย เป็นรายเก่า 3 ราย มีรายใหม่ 14 ราย โดยกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิตอลอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะประมูลได้ถึง 7 ช่อง มากกว่ากลุ่มธุรกิจประเภทอื่นๆ
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับรายเก่าที่ชนะประมูล ช่อง 7 ตนมองว่าเป็นการนับถอยหลัง เพราะสัมปทานที่ทำไว้กับกองทัพบก (ทบ.) เหลือแค่ 5 ปีเท่านั้น ต่างกับช่อง 3 ที่ประมูลได้ถึง 3 ช่อง นั่นหมายความว่าช่อง 3 น่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำวงการทีวีในระยะเวลา 5 ปี หลังจากช่อง 7 หมดสัมปทานกับ ทบ. ส่วนช่อง 9 อาจจะทำตัวลำบาก เพราะการที่เป็นรัฐวิสาหกิจไม่เคยชินกับการแข่งขัน ทำให้ต้องอยู่ในสถานะตั้งรับเยอะ นอกจากนี้ จากเดิมที่ช่อง 9 ไม่มีภาระค่าคลื่น แต่พอประมูลชนะก็ต้องมีภาระค่าคลื่นปีละ 250-400 ล้านบาท ทำให้พอประเมินว่าอีกไม่นานช่อง 3 จะกบฏกับช่อง 9 จากเดิมที่เคยเป็นสัมปทานอยู่ โดยอาจจะคืนคลื่นให้กับช่อง 9 ทำให้ช่อง 9 น่าจะรายได้หดตัวลง ถ้าช่อง 9 ไม่ปรับตัวเอง ท่ามกลางบริบทที่ต่างไป ไม่เกิน 3 ปี ช่อง 9 จะขาดทุน
“ส่วนกลุ่มธุรกิจบันเทิงที่ประมูลได้ คือแกรมมี่ เวิร์คพอยท์ อาร์เอส ซึ่งน่าจะทำให้การแข่งขันด้าน content สูงขึ้น ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากละคร ผมเชื่อว่าในอนาคตทั้ง 3 รายจะถอนตัวออกจากฟรีทีวีช่องต่างๆ ซึ่งช่อง 5 กับช่อง 9 น่าจะได้รับผลกระทบที่สุด เพราะไม่ได้สร้างผู้ผลิตของตัวเองเอาไว้เลย เอกชนบางเจ้าที่แพ้ประมูลยังบอกว่า ตอนนี้มีแต่คนวิ่งเข้มาหา เพราะอยากได้ content ดังนั้น เวลานี้ content provider มีอำนาจต่อรองเหนือช่อง ช่องแทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ” นายอดิศักดิ์กล่าว
นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การมีทีวีดิจิตอลเป็นการปฏิวัติวงการโทรทัศน์ เห็นได้จากการที่มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น และใน 15 ปีข้างหน้าจะเริ่มเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยจะส่งผลกระทบ 1.เคเบิลทีวีท้องถิ่น จะไม่มีใครอยากเป็นสมาชิก เพราะมีทีวีดิจิตอล ให้ดูฟรีถึง 48 ช่อง 2.ทีวีดาวเทียม มีการพยากรณ์ว่า พอทีวีดิจิตอลเกิดรายได้ทีวีดาวเทียมจะเริ่มลดลง จากเดิมที่โตสองหลักมาตลอด และ 3.หนังสือพิมพ์ ถ้างบโฆษณาไม่ขยาย ก็ต้องปรับตัว ในอนาคตทีวีดิจิตอลจะเป็นตัวเล่นหลักในธุรกิจสื่อ
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อมวลชนสาธารณะ กล่าวว่า เวลามีทีวีดิจิตอลเกิดใหม่ 24 ช่อง ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นโอกาส แต่อีกด้าน ตนมองว่าจะเป็นวิกฤตใหม่แห่งวงการทีวีไทย เพราะทำให้ปริมาณช่องและชั่วโมงที่ต้องผลิตงานมากขึ้นเป็นหมื่นๆ ชั่วโมง แปลว่าจะต้องใช้คนจำนวนมหาศาล ซึ่งคนที่ผลิตมาจากคณะนิเทศ คณะวารสาร คณะสื่อสาร จะไม่พอ ก็จะได้บัณฑิตที่จบอะไรก็ได้ เข้าไปฝึกงานในนั้น ทำให้ฉุกละหุกมากในการหาคนเข้าทำงาน ก็จะเกิดวิกฤตทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สิ่งเหล่านี้สถาบันการศึกษาจะต้องเร่งรับมือ ทุกมหาวิทยาลัย
“ช่วงแรกรายการในทีวีดิจิตอลอาจจะไม่ค่อยมีคุณภาพ เพราะค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลง ถ้าช่องต่างๆ ไม่กล้าลงทุน ก็จะมีแต่รายการที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ” นายสมเกียรติกล่าว
ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต อาจารย์นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประโยชน์จากทีวีดิจิตอล ที่แน่ๆ คือเทคโนโลยี โอกาสใหม่ ความท้าทาย แต่ในอีกด้านอาจจะมีปัญหาเรื่องเหล้าเก่าในของใหม่ คือแค่เปลี่ยน platform ไม่ได้สร้างปัญญา
“ทีวีดิจิตอลจะเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมสื่อ จากสมัยก่อนที่สถานีจะมีอำนาจมาก สถานีว่าอย่างไร ผู้ผลิตว่าอย่างนั้น นอกจากนี้ สถานียังเป็นตัวกำหนดว่าผู้บริโภคจะได้ดูอะไรบ้าง แต่สมัยใหม่ น่าจะทำให้สลายการผูกขาดอำนาจโดยสถานี ทั้งนี้จะทำให้เรตโฆษณามีราคาถูกลง เพราะจากเดิมมีฟรีทีวี มีแค่ 6 ช่อง มาเป็น 24 ช่อง ไม่รวมถึงช่องทีวีสาธารณะ บุคลากรข่าวมีโอกาสอัพเงินเดือน และมีโอกาสในการบอกความจริงมีมากขึ้น“ น.ส.พิรงรองกล่าว
น.ส.พิรงรอง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่าทีวีดิจิตอลจะเข้ามาแก้ปัญหาปรากฏการณ์ คนเลือกดูสื่อของใครสื่อของมันได้หรือไม่ เพราเวทีสังคมแบ่งแยกทางความคิดมาก ดังนั้น บลูสกาย เอเชียอัพเดท ก็ยังน่าจะอยู่ได้ จริงๆ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้กำกับดูแลควรจะให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ hate speech ที่พบเยอะมากในทีวีสีเสื้อต่างๆ