‘หาญณรงค์’ เตรียมยื่น 1 หมื่นชื่อ แก้กม.ตั้งคกก.ลุ่มน้ำแทนกบอ.
‘หาญณรงค์’ เผยศาลปค.สูงสุดยังไม่กำหนดวันตัดสินฟ้องเพิกถอนโครงการน้ำ เตรียมชงรบ.ใหม่แก้กฎหมายตั้งคกก.ลุ่มน้ำแทนกบอ.หลังขาดธรรมาภิบาล ระบุบ่ายเบี่ยงเตรียมยื่น 1 หมื่นชื่อกดดัน
วันที่ 25 มกราคม 2557 คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมพัฒนาสังคม และสมาคมการจัดการสิ่งแวดล้อมนิด้า จัดประชุมวิชาการ ‘ธรรมาภิบาลกับการจัดการน้ำ’ ณ อาคารสยามบรมราชกุมารี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยไม่มีพื้นที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว เพราะทุกครั้งที่มีโครงการเกิดขึ้นจะต้องย้ายชาวบ้านออกไป ทำให้ไม่มีพื้นที่ใหม่รองรับ เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านจึงเกิดการต่อต้าน พร้อมเรียกร้องให้มีการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมแทน
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท นายหาญณรงค์ กล่าวว่า รัฐบาลเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลการจัดการน้ำที่ต้องให้ความสำคัญทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่เมื่อคิดโครงการขึ้นมากลับไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้โครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลคิดนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ จึงเสนอให้มีการใช้หลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยก่อสร้างโครงการขนาดเล็กที่ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ พร้อมยุบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และส่งเสริมให้เกิดการทำงานภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารระดับสูงต้องไม่ใช่นายปลอดประสพ สุรัสวดี
“ที่ผ่านมามีการเสนอให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายทรัพยากรน้ำ 6-7 ฉบับ อย่างไรก็ตาม หากมีรัฐบาลใหม่แล้วกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลงคงต้องรวบรวม 1 หมื่นรายชื่อ เสนอต่อรัฐสภาต่อไป ซึ่งหนึ่งในข้อเรียกร้อง คือ จะต้องให้คงไว้ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้งนี้ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำของไทยจะไม่อับจน” นายหาญณรงค์ กล่าว
ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ ยังกล่าวถึงผลการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 45 คน ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คน ในฐานดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมิได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หลังจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ศาลได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อเท็จจริงเป็นครั้งสุดท้าย ว่ายังไม่กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเเต่อย่างใด
ด้านรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยให้ชาวบ้านได้มีอำนาจการตัดสินใจเลือกรับโครงการเข้าไปในชุมชนด้วยตนเอง เพราะปัจจุบันนี้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลจากนิทรรศการน้ำที่ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้รัฐบาลกลับไปจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหม่ก็อาจทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่มอีก ส่วนงบประมาณที่ผ่านมาก็ต้องเสียไป
อีกทั้งหากดำเนินโครงการ 3.5 แสนล้านบาทต่อไป แล้วชาวบ้านไม่ยอมให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อก่อสร้างก็อาจทำให้ต้องเสียเงิน 5% ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาตามข้อกำหนด ดังนั้นตราบใดที่ยังขาดการดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการดังกล่าวก็ยังมีความเสี่ยงอยู่
ขณะที่ผศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า กล่าวว่า ปัญหาของหลักธรรมาภิบาลกับการจัดการน้ำเกิดจากชาวบ้านขาดความศรัทธาในผู้นำและองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นทางออกจะต้องเร่งกู้ความศรัทธาคืนมาและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
“อยากเห็นการออกมาให้ข้อมูลผ่านสื่อร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลอย่างเท่าเทียม มิเช่นนั้นต่อให้มีการบริหารจัดการที่ดี แต่ไม่ถูกนำไปใช้และติดปัญหาการเมืองก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้มีการสนับสนุนคนดีเข้ามามีอำนาจในประเทศเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรได้ต่อไป” ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าว .