นักการตลาดญี่ปุ่นแนะชุมชนดึงภูมิปัญญาสร้างแบรนด์ท้องถิ่น ขายผ่านเน็ต
สันนิบาตหวังฟื้นสหกรณ์สู่ศักยภาพแข่งขันเวทีโลก ญี่ปุ่นชี้ตลาดเอเชียยังไปอีกไกล แนะชุมชนนำเทรนด์ดึงภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างสินค้าโดดเด่น-ขายผ่านอินเตอร์เน็ต คนบางบ่อโชว์ประโยชน์สหกรณ์ เอื้อผลผลิตการเกษตร-มีทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านกู้
วันที่ 1 ก.ค. 54 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดสัมมนา “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมเครือข่ายสหกรณ์สากล” ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ได้เพิ่มทักษะทั้งในด้านการผลิต การตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันสู่เวทีการค้าโลก โดยมีหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มอาชีพเข้าร่วมกว่า 200 คน
นายศิริชัย ออสุวรรณ รองประธาน สสท.กล่าวว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและการตลาดสมัยใหม่ เช่นการขายตรง ช่องทางการซื้อขายที่รวดเร็วขึ้น ทำให้ระบบสหกรณ์ขาดการเชื่อมโยงและอ่อนแอ สสท.จึงหวังจะพลิกฟื้นระบบสหกรณ์ให้กลับคืนมา โดยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ องค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 แห่ง มีสมาชิกกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ
นายโยชิอากิ โอกาเนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนและการตลาดจาก JA Zenchu ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงแนวโน้มตลาดการบริโภคเอเชียว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากรซึ่งมีกำลังซื้อสูง หากกลุ่มสหกรณ์ต้องการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ควรทำความเข้าใจเรื่องรสนิยมของผู้บริโภค เพื่อวิเคราะห์ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
“เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ผู้ผลิตควรวางแผนรอบด้านก่อน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การขาย ว่าผลิตสินค้าเพื่อใคร ขายอย่างไร ไม่ขายอย่างในอดีต โดยยึดหลักการผลิต 3 ข้อ Know me ผลิตภัณฑ์ต้องเชิญชวนให้คนซื้อ Love me ต้องทำให้คนชื่นชอบ และ Respect me ต้องทำให้เชื่อมั่นไว้วางใจสินค้านั้น”
นายโยชิอากิ กล่าวต่อว่าผู้ผลิตต้องรู้และแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง แล้วสร้างนวัตกรรมใหม่ ด้านผู้นำชุมชนควรมีความกระตือรือร้น ดึงเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าในท้องถิ่นให้ได้ อย่าสนใจเพียงว่าตลาดปัจจุบันเป็นเช่นไร แต่ควรสร้างช่องทางใหม่ๆขึ้นมาเอง และควรเป็นความร่วมมือระดับประเทศ
“ช่องทางการขายผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องน่าสน กลไกเล็กๆแต่เห็นสินค้าพร้อมกันทั่วโลกได้ มีต้นทุนต่ำ และสามารถทำได้เลย แต่ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ต้องโดดเด่นและน่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามเครือข่ายสหกรณ์ต้องมีความเข้มแข็งก่อน” นายโยชิอากิ กล่าว
นายวีระพัฒน์ กฤตธนาทิพย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ไทยสร้างสรรค์ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าสหกรณ์ยังขาดความพร้อมหลายด้าน หากจะตีตลาดต่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่นอกเหนือจากภาษี เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพสินค้า ส่วนด้านผลิตภัณฑ์ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า พัฒนารูปแบบและการบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ
“สหกรณ์ต้องสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมาเอง และต้องเป็นสินค้าคุณภาพ เน้นขายเป็นสินค้าแปรรูปที่หลากหลาย เพราะเมืองไทยมีวัตถุดิบมากมายทั้งสมุนไพร วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น”
นางเตือนใจ ปั้นมณี จากสหกรณ์การเกษตร อ. บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่าสหกรณ์บางบ่อ เกิดจากการรวมกลุ่มของสมาชิกในอำเภอหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400 คน จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมาชิก เช่น ปลาสลิด ข้าว ปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน
“สินค้าที่นี่ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสหกรณ์ อย่างปลาสลิด สัตว์ทะเล อย่างกุ้ง หอย ส่วนลูกค้าก็มีทั้งจากสมาชิกและกลุ่มโรงงานมาซื้อสินค้าประเภทน้ำมันพืช น้ำปลา น้ำยาล้างจานที่เอาไปผสมเอง”
ตัวแทนสหกรณ์การเกษตรบางบ่อ กล่าวอีกว่าสหกรณ์นอกจากเป็นพื้นที่กระจายสินค้าชุมชนแล้ว ยังมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท ให้สมาชิกกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท
“อยากให้แต่ละชุมชนมีสหกกรณ์เป็นของตัวเองเหมือนที่บางบ่อ จะได้ช่วยชาวบ้านที่เขาลำบากจริงๆ เพราะจะให้ไปกู้เงินข้างนอกดอกเบี้ยก็แพง” นางเตือนใจกล่าว .