สภาเกษตรกรฯ-กป.อพช. จี้ รบ.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลดจุดเดือดขัดแย้ง
วงเสวนาปลดล็อควิกฤตการเมือง เสนอ 4 แนวทาง ชี้คู่ขัดแย้งต้องเร่งเจรจาและปฏิรูปทันที หากไม่ยอมพูดคุย แนะพลังเงียบร่วมกดดัน ฉะ รบ.อย่าสุดโต่งใช้หลักนิติศาสตร์มาเป็นเกมการเมือง
วันที่ 23 มกราคม 2557 สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนจัดเสวนา "ปลดล็อควิกฤตการเมือง เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย" ณ อาคารวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน โดยมี นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชน และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา
นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงแนวความคิดหลักที่ขอเสนอ 4 ข้อ ได้แก่
1.ไม่มีข้อเสนอใดที่จะปลดล็อควิกฤตการเมืองหรือแก้ปัญหาได้นอกจาก 'การเจรจา' กันของคู่ขัดแย้ง
2.หากคู่ขัดแย้งไม่เจรจากัน ประชาชน หรือ 'พลังเงียบ' ต้องแสดงตัว เรียกร้องให้เกิดการเจรจา
3.เร่งดำเนินการ 'ปฏิรูป' ทันที เพราะหากปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง นักการเมืองจะไม่สนใจ โดยเริ่มที่ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ความเดือดร้อนของชาวนา ที่
4.ต้องมองข้าม และหลุดพ้นอุปสรรคของการใช้ 'หลักนิติศาสตร์' มาเป็นเกมการเมืองไปให้ได้
สำหรับแนวทางในการปลดล็อควิกฤตการเมือง นายศรีสุวรรณ เห็นว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้ริเริ่มปลดล็อค ปลดชนวน และสลายเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง โดยต้อง
1.ยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทันที เพื่อเป็นการปรับปรุงบรรยากาศทางการเมือง
2.คู่ขัดแย้งต้องริเริ่มเจรจา ซึ่งการที่รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มก่อนนั้นดีที่สุด ที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการเจรจาอย่างจริงจัง
3.หารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย
4.หารือเพื่อให้ได้แนวทางว่าจะปฏิรูปอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร Road Map การปฏิรูปเป็นอย่างไร โดยไม่ใช่การปฏิรูปจากฝ่ายใดฝ่ายเดียว
ขณะที่นายประพัฒน์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่จะมีการปฏิรูป ก็จะมีการพูดคุยในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก และรวมไปถึงการเมือง รัฐสภา และการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาในรอบหลายสิบปี เกษตรกร โดยเฉพาะคนในชนบทนั้นได้ประโยชน์น้อยมาก อันเป็นเรื่องที่สภาเกษตรกรเป็นห่วงมาก แม้ในขณะนี้ได้มีกระแสของการปฏิรูปขึ้นมาอีกครั้ง แต่การปฏิรูปที่พูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง การสร้างคุณภาพชีวิตของคนชนบทให้เท่าเทียมกับคนในเมืองยังมีอยู่น้อยมาก
"เรื่องคนชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสานเหตุใดจึงมีทัศนคติค่านิยมทางการเมืองที่แต่งต่างจากคนภาคกลางและภาคใต้นั้นเป็นความแต่งต่างที่คนไม่ได้เข้าไปสัมผัสเองจะเข้าใจได้ยาก คนกรุงเทพฯ และคนภาคใต้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากคนรากหญ้าคิดอย่างเดียวว่าจะเลี้ยงปากท้องอย่างไรให้อยู่รอด ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในประเทศผลประโยชน์ก็ตกมาอยู่ที่คนชนชั้นกลางในเมือง"
นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า อยากให้การเมืองของไทยมีการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม ต้องมีการเจรจากันทุกฝ่าย ไม่อยากเห็นใครตายอีกแล้ว เพราะปัจจุบันทัศนคติทางการเมืองได้ฝั่งลึกเข้าไปในจิตใจคนเป็นอย่างมากจนยอมตายเพื่ออุดมการณ์ และคนที่ตายไม่ใช่แกนนำแต่เป็นผู้เข้าร่วมที่ต้องเผชิญหน้า
ทั้งนี้ เชื่อว่าการเมืองเชิงจริยธรรมมีเสถียรภาพเป็นความฝันที่หลายคนอยากเห็น สำหรับคนที่ยังมีทัศนคติการเมืองที่ล้าหลังอยากให้พากันขึ้นมาให้เท่าเทียมกัน มิใช่มาด่าตำหนิ ประณามคนที่เห็นต่าง เพราะหากไม่แก้ไขต่อให้ปฏิรูปกี่ครั้งก็ยังเหมือนเดิม
ด้านนายจินดา กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการออกมาขับเคลื่อนของมวลชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนเป็นเรื่องที่สวยงาม แม้ว่าจะมีการให้ข้อมูลที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นการปลุกมวลชนให้ผลักดันการแก้ไขนโยบาย และไม่เห็นด้วยกับการยับยั้งการขับเคลื่อนของมวลชนโดยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะการที่มวลชนออกมาแสดงความคิดเห็น ก็เพื่อต้องการให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรื่องการปฏิรูป การจัดการทรัพยากรในชุมชน และให้ชุมชนสามารถออกกติกาในชุมชนเอง เพราะกองทุนของรัฐไม่ได้เข้าไปสนับสนุนภาคเกษตรกรรมเท่าใดนัก และหากจะมีการปฏิรูปต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ภาคประชาชนที่เป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในชุมชน
สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้ง นายจินดา กล่าวว่า รัฐต้องหาทางออก ทั้งนี้อยากให้มีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป เพราะการเลือกครั้งนี้เปรียบเสมือนไม่ได้เลือก โดยรัฐอาจขยายเวลาเพื่อยืดระยะเวลาความขัดแย้งที่มันจะถึงจุดเดือดออกไปก่อน และฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็ควรระบุว่าถึงการเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายหาญณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ของรัฐบาล ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่บรรยากาศของการเลือกตั้ง ไม่มีการรับฟังนโยบายจากภาคประชาชน ส่วนแนวทางในการปลดล็อคนั้น ในเบื้องต้นรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเสียก่อน จากนั้นเจรจากันว่าจะยอมถอยกันได้ในระดับไหน