'อภิชัย พันธเสน' มองป.ป.ช.ทำคดีทุจริตข้าวล่าช้า ไม่ยุติธรรมกับประเทศ
"...ป.ป.ช.ไม่จำเป็นจะต้องทำการสอบสวนเพื่อชี้มูลให้ล่าช้าต่อไป เพราะ ป.ป.ช.มีข้อมูลเพียงพอที่จะส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯได้ทันที เพราะศาลดังกล่าวมีหน้าที่ในการไต่สวนได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว..."
ถึงแม้จะมีความเชื่อในบรรดานักกฎหมายที่ว่า การปล่อยคนผิดให้พ้นผิดไปร้อยคน ดีกว่าการลงโทษผู้ที่ไม่ได้ทำความผิดเพียงคนเดียว (เพราะความเร่งรีบของกระบวนการยุติธรรม) ความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ เพราะการลงโทษผู้ที่ไม่มีความผิดนั้นเป็นความร้ายแรงยิ่งกว่า
แต่ในขณะเดียวกันความยุติธรรมก็มีประเด็นด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรมล่าช้าออกไปมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำก็จะไม่ได้รับการหยุดยั้งตลอดจนความเสียหายย่อมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นความยุติธรรมที่ต้องรอคอยและใช้เวลานานย่อมเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่เสียหาย เป็นการลงโทษผู้เสียหายอยู่แล้วให้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการตัดสินลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดเช่นกัน
ประเด็นนี้มักไม่ได้รับความสนใจจากนักกฎหมายเท่าที่ควร โดยเฉพาะกรณีความอาญาที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่นักการเมืองเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดหรือเป็นจำเลยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีศาลพิเศษเพื่อตัดสินคดีดังกล่าว นั่นก็คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ทำหน้าที่ไต่สวนเพื่อหาความผิดจากนักการเมือง และมีเพียงศาลเดียว ไม่มีศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คือ เมื่อศาลฎีกาพิจารณาและตัดสินแล้วถือเป็นเด็ดขาด
ทั้งนี้เพราะนักการเมืองเองโดยหลักการจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมสูงกว่าบุคคลโดยทั่วไป เพราะเป็นผู้อาสามารับใช้ประชาชนทั้งประเทศ อีกทั้งตัวนักการเมืองเองก็เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลสูง โดยตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ ถ้าหากไม่ตัดสินอย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็อาจจะใช้อิทธิพลที่มีอยู่ประกอบการดำเนินการด้วยกลวิธีต่าง ๆ ที่ทำให้ตัวเองพ้นความผิดได้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว
เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งก็คือรัฐบาลรักษาการณ์ในปัจจุบัน เป็นโครงการที่ส่อเค้าว่าจะมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนข้าราชการที่ทำหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่างออกมาท้วงติงและคัดค้านโครงการดังกล่าว แต่อดีตรัฐบาลดังกล่าวก็ดันทุรังผลักดันเดินหน้าโครงการพร้อมกับปกปิดข้อมูล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่มีการอ้างว่า มีการขายข้าวให้ต่างประเทศระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government หรือ G to G:จีทูจี) ที่กระทรวงพาณิชย์โดยรัฐมนตรีและข้าราชการของรัฐที่เกี่ยวข้องต่างออกมาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยอ้างว่า เป็นข้อมูลทางการค้าต้องเก็บเป็นความลับ จนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง นำมาซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้าน พร้อมทั้งได้นำข้อมูลไปฟ้องร้องกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนหามูลความผิด
หลังจากที่ ป.ป.ช.รับฟ้องแล้ว ก็เริ่มกระบวนการไต่สวน ความผิดสังเกตของโครงการดังกล่าวเกิดจากการมีเช็คสั่งจ่ายจำนวนหลายพันใบ จำนวนเงินไม่มากในกระบวนการซื้อขาย ซึ่งผิดวิสัยการค้าระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี ซึ่งควรจะเป็นเงินก้อนใหญ่และมีจำนวนมาก
ความล่าช้าของการสืบสวนของ ป.ป.ช. อยู่ที่ความพยายามในการสอบสวนหาที่มาที่ไปของเช็คทั้งหมด เพื่อยืนยันหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของการค้าดังกล่าว ในระหว่างนั้น ป.ป.ช.ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงให้ทบทวนและป้องกันมิให้เกิดการทุจริต
ป.ป.ช. ได้มีหนังสือดังกล่าวเตือนไปถึงสองครั้ง แต่ในที่สุดการทุจริตก็ยังดำเนินต่อไปโดยอดีตนายกรัฐมนตรีมิได้มีมาตรการป้องกันหรือแก้ไขแต่ประการใด
ในส่วนของ ป.ป.ช.เองได้เคยประกาศต่อสาธารณชนว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการเกษียณอายุของนายกล้านรงค์ จันทิก ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ ว่าจะทำให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งปรากฏว่า นายกล้านรงค์ เกษียณอายุไปก่อนโดยไม่สามารถประกาศผลการสอบสวนต่อสาธารณชนได้
สาเหตุสำคัญของความล่าช้าที่ ป.ป.ช. อ้างนั้นคือ ไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารต่าง ๆ ที่เป็นผู้ออกและรับโอนเช็คเหล่านั้น ซึ่งก็ชัดเจนว่า ความล่าช้าดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งถูกขัดขวางโดยอิทธิพลจากฝ่ายรัฐบาล งานนี้จึงตกมาอยู่ในความดูแลของนายวิชา มหาคุณ
และในที่สุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาอีกเกือบ 4 เดือน จึงสามารถชี้มูลความผิดได้ โดยมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ 2 คน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วยข้าราชการจำนวนหนึ่ง
ส่วนอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้น ประธานอนุกรรมการ ป.ป.ช.มิได้กล่าวหาในเบื้องต้น แต่ชี้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ อีกทั้งได้รับการเตือนจาก ป.ป.ช. สองครั้ง แต่ก็เพิกเฉยไม่แก้ไข มีผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติเอกฉันท์ให้ไต่สวนด้วย
ตรงนี้คือประเด็นปัญหาที่ ป.ป.ช.ไม่จำเป็นจะต้องทำการสอบสวนเพื่อชี้มูลให้ล่าช้าต่อไป เพราะ ป.ป.ช.มีข้อมูลเพียงพอที่จะส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทันที เพราะศาลดังกล่าวมีหน้าที่ในการไต่สวนได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
ป.ป.ช.ก็ตระหนักดีว่า ความล่าช้าที่ผ่านมา นอกจากส่วนหนึ่งอาจจะเป็นปัญหาการด้อยประสิทธิภาพของ ป.ป.ช. เองแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการถูกแทรกแซงกระบวนการทางอ้อมโดยอิทธิพลของฝ่ายรัฐบาล จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเก็บคดีดังกล่าวไว้กับตัวที่ทำให้เกิดความล่าช้าต่อไปอีกโดยไม่จำเป็น ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลแล้ว
ลองจินตนาการดูว่า ถ้า ป.ป.ช.สามารถชี้มูลได้ตั้งแต่เดือนกันยายน และส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินได้ ถึงปัจจุบันรัฐบาลรักษาการอาจจะหมดสภาพไปนานแล้ว ประชาชนเป็นจำนวนล้านไม่ต้องทนทุกข์ทรมานมากินนอนกลางถนนเพื่อขับไล่นายกรักษาการณ์ยิ่งลักษณ์เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนแล้ว
อีกทั้งในกระบวนการขับไล่ดังกล่าวได้มีคนเสียชีวิตไป 9 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคนแล้ว นับเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินได้
ป.ป.ช. อาจจะอ้างว่า ทั้งหมดนั้นไม่เกี่ยวกัน เพราะตนนั้นมีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งก็เป็นความจริง แต่การอธิบายแบบไร้เดียงสาเช่นนี้ย่อมไม่มีผลดีแก่ประชาชนที่เสียหาย ซึ่ง ป.ป.ช.ควรตระหนักถึงความจริงข้อนี้ด้วย แม้จะอ้างหลักการทางกฎหมาย แต่การพิจารณาคดีของ ป.ป.ช. มิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่มีต้นทุนที่สูงมากต่อสังคมด้วย ถ้าหาก ป.ป.ช.ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนเช่นนี้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับเข้าข้างกับฝ่ายที่ผิด
ปัญหาของรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในเวลานี้อยู่ที่การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งโดยหวังจะให้องค์กรอิสระทำหน้าที่คานอำนาจ แต่ถ้าองค์กรอิสระทำหน้าที่คานอำนาจอย่างเชื่องช้า ซื่อบื้อดังกล่าว ก็เหมือนกับไม่มีองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ในการคานอำนาจอย่างแท้จริง
อยากจะคิดว่า ป.ป.ช. ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อบื้อเท่านั้น มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือรับประโยชน์จากพวกทุจริตเสียเอง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจะหวังอะไรได้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขอให้นึกถึงการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้ส่งเสริมกันขึ้นมาจนเกิดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งทำงานแข็งขันในภาคเอกชน
โดยองค์กรดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา 5 ข้อ โดย 3 ข้อแรกมีใจความสำคัญ ดังนี้
1.โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เมื่อมีความชัดเจนว่า มีการทุจริตในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ ผู้กำกับนโยบาย และเป็นประธาน กขช. จะต้องแสดงความรับผิดชอบในกรณีที่อาจจะมีประเด็นละเลยปล่อยให้เกิดการทุจริตขึ้น อีกทั้งต้องรับผิดชอบต่อทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งต่อชาวนาและประเทศ
2.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ใช้เวลาร่วม 1 ปี ในการไต่สวนกว่าจะแจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรงและพวก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันความเสียหายอื่นที่อาจเกิดขึ้น จึงขอให้ ป.ป.ช. เร่งดำเนินการอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา โดยไม่ล่าช้าตามกรอบกฎหมายที่กำหนด และต้องไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้ช่องทางกฎหมายประวิงเวลา
3.เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างและบรรทัดฐานของสังคมจะต้องมีการเอาผิดต่อผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตและต้องให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
เมื่อมีเสียงเรียกร้องมากเช่นนี้ ป.ป.ช.ควรจะนำเรื่องนี้ไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยเร็ว อย่าให้ถูกครหาว่า ป.ป.ช.เองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาคอร์รัปชั่นอีกเลย
ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนออกมาแล้วว่า ดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 82 ในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 88 ในปีที่ผ่านมา และ 102 ในปัจจุบัน ถ้าหาก ป.ป.ช. ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาก็ขอให้เร่งกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรมแก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการทุจริตเรื่องข้าวดังกล่าว .