คลอดข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้าม "มั่วสุม-แพร่ข่าวเท็จ”
“ยิ่งลักษณ์” ลงนามข้อกำหนดใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามมั่วสุมเกิน 5 คน เว้นแต่ชุมนุมตาม กม.เลือกตั้ง “ห้ามแพร่ข่าวเท็จ-ให้ออกนอกพื้นที่-ให้อพยพประชาชน” พ่วงออกประกาศ โอนอำนาจ กม. 22 ฉบับให้นายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 16.00 น.ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ “ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548” ที่ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และให้มีผลทันที มีสาระสำคัญว่า ตามที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแก้ว และ จ.สมุทรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี ระหว่างวันที่ 22 ม.ค.-22 มี.ค.2557 พร้อมจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศรส.) โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เป็นผู้อำนวยการ ขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงออกข้อกำหนด 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใด อันเป็นการยุยุงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
2.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าใจ หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าในไปพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
และ 6.ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกิดสมควรแก่เหตุก็ได้
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ “ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี” ที่ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มีผลทันที มีสาระสำคัญว่า ตามที่ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ครม.ได้มติโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวม 22 ฉบับ ที่น่าสนใจได้แก่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ฯลฯ เป็นต้น
ภาพประกอบจาก www.thairath.co.th