2 มุม 2 วัย มองประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง จากอดีต สู่ ปัจจุบัน
'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' เชื่อการเลือกตั้งคือทางออกแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้านวรรณสิงห์ ฝากสังคมไทยให้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความแตกต่างพร้อมเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีต หวังคนไทยจะผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ด้วยดี
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ ได้จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง บทเรียนจากอดีต สู่ ปัจจุบัน” ณ ห้องประชุมชั้น 2 ห้อง 213 อาคารเทพศาสตร์สถิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมีศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรนักเขียนและนักทำสารคดี ร่วมเสวนา
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวถึงปัญหาการคอร์รัปชันเป็นเสมือน ดีเอ็นเอของสยามประเทศที่แต่เดิมเรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่ แม้ช่วงที่ไทยเริ่มปรับตัวเองเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ จะมีการทำลายระบบอุปถัมภ์โดยการจัดสอบบุคคลเข้ามาทำงานราชการ แต่ก็ยังมีการใช้เส้นสายอยู่มาก อาจด้วยสาเหตุที่ไทยเราไม่ได้ถูกลัทธิล่าอาณานิคมทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบบการปกครอง ส่งผลให้รับจารีตเข้าไปอยู่ในรัฐสมัยใหม่ และพบว่าระบบการเมืองยังเป็นระบบศักดินา แต่ระบบสังคมเปลี่ยนเป็นระบบนายทุน ทำให้เกิดการพึ่งพากันโดยการนายทุนเข้าไปสานสัมพันธ์กับขุนนางเพื่อหน้าตาทางสังคม ซึ่งกลายเป็นการเกื้อหนุนกันระหว่างขุนนางและนายทุน เปรียบได้กับว่า เป็นชนชั้นกลางกำมะลอ
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า ปัจจุบันยังขาดผู้นำที่จะนำไปสู่จุดหมายหรืออุดมการณ์ที่ดี การต่อสู้ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้านั้น ผู้นำสำคัญมาก เพราะเมื่อการต่อสู้นำไปสู่การแตกหัก แล้วผู้นำจะเป็นคนบอกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไร
“สำหรับสถานการณ์ในบ้านเมืองขณะนี้ ผมเห็นด้วยกับข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนไว้เหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาฯ 2519 ช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง คือในเมื่ออย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งอยู่แล้วก็จัดการเลือกให้เสร็จก่อนแล้วค่อยมาดูว่า การทำงานว่าพรรคไหนดีไม่ดีอย่างไร จัดการเป็นเรื่องๆ เป็นรายบุคคลหรือเป็นตามวาระไป ขอให้ระบอบได้เดินหน้าไปก่อน เพราะหากระบอบไม่เดินหน้าแล้วจัดการเลือกคนขึ้นมาวันนี้ เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะยังดีอยู่ไหม” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว และว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาได้เพราะว่ามีความยืดหยุ่น เห็นด้วยบ้าง ค้านบ้าง คือการเปิดโอกาสให้คิด ให้ทำ และแก้ไข
ขณะที่นายวรรณสิงห์ กล่าวถึงความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ซึ่งความขัดแย้งมิได้หมายความว่า ต้องมีความรุนแรงเสมอไป แต่ที่ผ่านมาเรื่องราวความขัดแย้งมักถูกจดจำก็ต่อเมื่อมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้นเหตุความขัดแย้งนั้นมีสาเหตุมาจากการดิ้นรนหาคำตอบเพื่อการเปลี่ยนแปลงความเปลี่ยนแปลงมี 2 รูปแบบคือ 1.การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และ 2.การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ โดยระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นจะมีการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น มิใช่การรอให้ปัญหามากองรวมกันแล้วทำการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติอย่างที่ประเทศเราเป็นอยู่
“เห็นได้จากการปฏิวัติ 2475 ที่ทำให้ไทยได้ประชาธิปไตยมา แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เจาะปัญหาเรื่องความเหลี่อมล้ำทางชนชั้น และเรื่องแก้ปัญหาคอร์รัปชันทำให้ประชาชนเชื่อใจและได้อำนาจมา จนกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่เมื่อได้อำนาจมาอยู่ในมือแล้ว สุดท้ายก็กลายมาเป็นตัวปัญหาเอง จนทำให้มีคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้ศีลธรรมจริยธรรม ลุกขึ้นมาต่อต้าน”
นายวรรณสิงห์ กล่าวอีกว่า เมื่อนำเรื่อง สัมผัสนิยม(Ideational)ที่ว่าด้วยเหตุและผล กับ จิตนิยม(Sensate)ที่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก จะเห็นว่า มุมมองเหล่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์เท่านั้น การหาทางออกของสังคมในประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ มักจะเป็นแบบวงสวิง ที่บางครั้งก็เอียงไปทางการใช้เหตุผล บางก็ไปทางอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงก็มีอิทธิพลของสื่อเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
“ประเทศไทยปัจจุบันนี้มีประชากรที่เกิดต่างยุคต่างสมัยผนวกกับอิทธิพลของสื่อ กระแสข้ามชาติ และการศึกษาทำให้แนวคิดมุมมองของคนแต่ช่วงอายุแตกต่างกัน อย่างเรื่องการศึกษาในปัจจุบันแทนที่จะเป็นการศึกษาเพื่อหาทางออกจากปัญหาสังคม แต่กลับเป็นการศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดแรงงาน กลายเป็นว่า เราต้องยอมทำตามอำนาจของทุน การศึกษาแนวคิดทางตะวันตกจะมีเรื่องสัมผัสนิยมเข้ามาด้วยเสมอ เช่น สิทธิเสรีภาพ การก้าวข้ามธรรมเนียมนิยม แต่ระบบคุณค่าทางศาสนา จารีตยังคงอยู่ ทำให้ไทยรับแนวคิดตะวันตกมาเพียงสัมผัสนิยมทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งที่รับแนวคิดด้านสัมผัสนิยมมาเต็มที่ ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้ง”
ทั้งนี้ นายวรรณสิงห์ กล่าวถึงเรื่องเสื้อสี ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการสิทธิเสรีภาพการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฝ่ายหนึ่งต้องการเรื่องศีลธรรมจริยธรรม ความแตกต่างที่เป็นพื้นฐานเช่นนี้ทำให้นักการเมืองปัจจุบันจับประเด็น 2 ด้าน คือ เรื่องคอร์รัปชัน และด้านสิทธิเสรีภาพ ก็เหมือนกับว่า ประเทศเราค่อยๆ ปรับสมดุลระหว่างสัมผัสนิยมและจิตนิยมไปเรื่อยๆ
“สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ เป็นไปได้ 2 ทาง คือ ฝ่ายหนึ่งชนะไปเลยก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และอีกทางคือคนในสังคมจะเริ่มเบื่อหน่ายความขัดแย้งแล้วมาร่วมกันหาทางค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความสันติแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้เราต้องไม่ปล่อยให้ขั้วใดขั้วหนึ่งขึ้นมามีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและควรลดความรุนแรงในสื่อ” นายวรรณสิงห์ กล่าว พร้อมฝากถึงสังคมไทยด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงความแตกต่างและเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ผ่านมา และขอให้คนไทยผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ด้วยดี