จาก “ทวิลักษณ์การพัฒนา” สู่ “ข้อเสนอปฏิรูปเกษตรกรรมไทย”
ทำไมไทยส่งออกอาหารอันดับต้นของโลก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่คุณภาพชีวิตตกต่ำ มาร่วมกันมองต้นตอของบรรดาปัญหา และร่วมผลักดันปัจจัยกำหนดอนาคตใหม่เกษตรกรไทย บนวิถีความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ระดับชุมชน ถึง ประเทศ!...
สถานภาพเกษตรกรรมไทย : ทวิลักษณ์ของการพัฒนา
ไทยส่งออกอาหารอันดับต้นของโลก โดยข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง ไก่ ทูน่ากระป๋องทูน่าแปรรูป สับปะรดกระป๋อง เป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกสินค้าประมงและข้าวโพดหวานอันดับ 3 ของโลก (ไม่นับพืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น ยางพารา ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก) แต่ความสำเร็จในการส่งออกและเจริญเติบโตของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ กลับตรงข้ามกับคุณภาพชีวิตเกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ตั้งแต่ปี 2546 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกองทุนฟื้นฟู 300,000-400,000 ราย มูลค่าหนี้กว่า 100,000 ล้านบาท จำนวนนี้ 100,000 รายที่ดินและทรัพย์สินกำลังถูกขายทอดตลาด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า 59.73% ต้องเช่าที่ดินทำกิน ภาคเหนือ-ภาคกลางถือครองที่ดินทำกินในสัดส่วนต่ำเพียง 24.7% และ 30% ตามลำดับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้ถือครองที่ดินตนเองใกล้เคียงกันคือ 46.97% และ 48.24% ตามลำดับ สอดคล้องกับศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.)ปี 2547 รายงานว่าผู้ไม่มีที่ดินทำกิน 811,022 ราย มีที่กินทำกินแต่ไม่เพียงพอ 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย
เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยประมาณการว่าเกษตรกรที่มีปัญหาจากการติดประกันจำนอง 38 ล้านไร่หรือร้อยละ 35 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 3 แสนราย โดยพื้นที่ที่ติดประกันจำนองมีภาวะเสี่ยงหลุดจำนองกว่า 8 ล้านไร่
อาชีพเกษตรกรขาดศักดิ์ศรี ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาสานต่อ อายุเฉลี่ยเกษตรกรจึงมากขึ้น ขณะที่คุณภาพชีวิตตกต่ำลง เช่น ปี 2541 กรมชีวอนามัยกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเกษตรกรที่ผลตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยเสี่ยงต่อการเกิดพิษคิดเป็นร้อยละ 21 ของทั้งหมด และผลตรวจระดับสารเคมีการเกษตรในเลือดปี 2550 พบว่าเกษตรกรเสี่ยงและอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 39 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
สารเคมี-ผูกขาดพันธุกรรม-ตลาดเสรี : ปัญหาเกษตรกรรมไทย
ปัญหาปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร…
ประเทศไทยใช้ปุ๋ยเคมีเกษตรมาตั้งแต่ 2504 โดยปริมาณเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียว เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงขึ้นส่วนใหญ่ตอบสนองปุ๋ยเคมี ตัวเลขนำเข้าปี 2552 ปริมาณ 3,867,187 ตัน มูลค่า 45,136 ล้านบาท มีนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชปีละ 109,908 ตัน มูลค่า 15,025 ล้านบาท กลายเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตในภาคเกษตรกรรมไทย ซึ่งสูงกว่า 1/3 ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมดของเกษตรกร
ที่สำคัญประสิทธิภาพปุ๋ยเคมีในการเพิ่มผลผลิตนับวันยิ่งลดลง เทียบกับช่วงเริ่มต้นยุคปฏิวัติเขียวซึ่งใช้ปุ๋ยเคมีเล็กน้อยก็ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นมาก แต่ปัจจุบันแม้ใช้มหาศาลแต่เพิ่มผลผลิตได้เพียงเล็กน้อย ประเด็นต่อมาคือการตกค้างของสารเคมี นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร-ผู้บริโภค ยังเป็นปัญหาการค้าระหว่างประเทศและภาพลักษณ์สินค้าเกษตรไทย เช่น ตรวจพบว่าผักผลไม้ไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรปมีอัตราสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างอันดับ 1 ทั้งๆที่มีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าประเทศอื่นๆ
การผูกขาดพันธุกรรมและระบบการผลิตที่รวมศูนย์ของธุรกิจขนาดใหญ่…
การครอบครองพันธุกรรมของธุรกิจขนาดใหญ่ กรณีไก่ ปลา ผัก พืชไร่ ตลอดจนปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น อาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้ปัจจัยการผลิตของบริษัทไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับ ในกรณีพันธุ์พืชที่บริษัทสามารถผูกขาดได้นั้น ต้นทุนการผลิตสำหรับเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวมีสูงถึง 1/3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวถึงการเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรพันธะสัญญาที่ต้นทุนการผลิตมากกว่า 90% อยู่ในมือของบริษัท
ผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีทางการเกษตร…
การเปิดเสรีการเกษตรภายใต้ข้อตกลงการค้าต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบ เช่น อาฟต้า(ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน) แอคเมค(ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง) ทำให้สินค้าเกษตรราคาถูก เช่น ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง จากเขมร ลาว พม่าข้ามพรมแดนมาไทย เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน พืชผักเมืองหนาว องุ่น มันฝรั่ง เลี้ยงวัว ได้รับผลกระทบจากสินค้าเกษตรราคาถูกจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
ปัญหาทางนโยบายและประสิทธิภาพการบริหารหน่วยงานของรัฐ….
การกำหนดนโยบายระดับชาติและระดับหน่วยงานที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ขาดวิสัยทัศน์ระยะยาว สับสน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ความล้มเหลวนี้เกิดทั้งปัจจัยการเมือง อิทธิพลกลุ่มทุน และระบบราชการเอง ตัวอย่าง เช่น นโยบายแทรกแซงราคา การคอรัปชั่นโครงการสำคัญๆ นโยบายส่งเสริมการลงทุนชลประทาน เอฟทีเอ การควบคุมสารพิษในระบบเกษตรและอาหาร และพันธุกรรม
ความอ่อนแอขององค์กรเกษตรกรและขาดการมีส่วนร่วมทางนโยบาย…
เกษตรกรและคนยากจนยังขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางนโยบาย เห็นได้จากนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ที่เกษตรกรรายย่อยหลายสาขาต้องสูญเสียอาชีพไม่สามารถต่อรองหรือมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายได้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ แม้มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดกลไกแก้ไขปัญหา เช่น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แต่ก็ไม่อาจขับเคลื่อนให้เป็นกลไกให้แก้ปัญหาเกษตรกรได้
พืชพลังงาน-พันธุวิศวกรรม-สิ่งแวดล้อม-ราคาอาหาร : ปัจจัยกำหนดอนาคต
ข้อจำกัดของเชื้อเพลิงฟอสซิล…
การเกษตรประเทศต่างๆเริ่มผูกพันกับน้ำมันมากขึ้นนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียว น้ำมันและผลิตภัณฑ์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังเหือดหายไปจากโลกอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาน้ำมันขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียสูงถึง 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศจะได้รับผลกระทบมาก ระบบเกษตรกรรมและอาหารพึ่งน้ำมันยิ่งกว่าที่คาดคิด การเกษตรแบบปฏิวัติเขียวเพิ่มการใช้พลังงานเฉลี่ย 50 เท่าของเกษตรแบบดั้งเดิม บางกรณีมากกว่า 100 เท่า โดยการผลิตอาหารสำหรับคนอเมริกัน 1 คนต้องใช้น้ำมัน 400 แกลลอนต่อปี 31 % เป็นการใช้พลังงานสำหรับผลิตปุ๋ยเคมี 19 % สำหรับเครื่องจักรเกษตร 16 % สำหรับขนส่ง 13 % สำหรับชลประทาน 8% สำหรับเลี้ยงสัตว์ และ 5 % สำหรับทำให้ผลผลิตแห้ง
ข้อจำกัดของพืชพลังงาน…
น้ำมันบนดินหรือพืชพลังงานก็ไม่ใช่ทางออก หากเราปลูกพืชพลังงานต่างๆโดยใช้ระบบการเกษตรที่พึ่งพาเครื่องจักร ปุ๋ย สารเคมีเช่นเดิม ต้องใช้พลังงานมากกว่าเพื่อผลิตพลังงานที่จะได้รับจากพืชเหล่านั้น เช่น ข้าวโพดต้องการพลังงานจากน้ำมันกว่า 29 % ของผลผลิตข้าวโพดเมื่อแปลงเป็นพลังงาน ทานตะวันต้องการน้ำมันกว่า 118 % การเพาะปลูกพืชพลังงานเป็นความหวังทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้จริงระดับหนึ่ง แต่วิถีการผลิตพืชพลังงานต้องใช้แนวทางอื่นที่มิใช่เกษตรกรรมเคมี
พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีการผลิตพืช…
ประสบการณ์กว่า 10 ปีของอมริกาพบว่าผลผลิตพืชจีเอ็มไม่ได้สูงกว่าพืชที่ปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีทั่วไป อีกทั้งไม่ได้ลดการใช้สารเคมีเกษตร ภายใต้ข้อถกเถียงต่างๆในปัจจุบัน พืชจีเอ็มโอจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับไทย นอกจากนี้การส่งเสริมการลงทุนและการวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมของรัฐและเอกชน จะสร้างผลกระทบด้านลบมากกว่า เพราะผลผลิตข้าวลูกผสมในสภาพพื้นที่ของไทยไม่ได้สูงดังโฆษณา ยังส่งผลเสียต่อภาพรวมคุณภาพข้าวไทย ใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม บั่นทอนการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร
ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-สิทธิมนุษยชน-จริยธรรม…
ค่านิยมทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่และมีผลต่อการบริโภค-การใช้ชีวิตทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและกำลังพัฒนา เราเห็นภาพยนตร์สารคดีอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ อัล กอร์ เรื่อง An Inconvenient Truth ได้รับรางวัลออสการ์ ภาพยนตร์ Food, Inc. ของ Eric Schlosser ที่ตีแผ่อุตสาหกรรมอาหาร เข้าชิงออสการ์ สิ่งเหล่านี้มีผลมากต่อการตลาดสินค้าเกษตรและอาหารโลก ทั้งกรณีฉลากคาร์บอน พืชจีเอ็ม อาหารอินทรีย์
ราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและการแย่งชิงอาชีพจากเกษตรกรรายย่อย…
การเพิ่มราคาอาหารเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เมื่อน้ำมันราคาสูงขึ้นก็จะมีกาเอาพืชอาหารและพื้นที่ผลิตพืชอาหารมาผลิตพืชพลังงาน ข้อดีคือจะเป็นโอกาสเกษตรกรที่จะผลิตทั้งพืชอาหารและพลังงาน ข้อเสียคือบริษัทขนาดใหญ่และผู้ประกอบการในสาขาการผลิตอื่นจะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่เกษตรกรรมจากมือเกษตรกรรายย่อย ภายใต้โอกาสจึงมีวิกฤตซ่อนอยู่ถ้าไม่มีการจัดการและนโยบายที่เหมาะสม
ปฏิรูปที่ดิน-ชีววิถี- ความมั่นคงอาหาร : อนาคตเกษตรกรรมไทย
การปฏิรูปที่ดินและการขจัดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร…
ภายใต้กระแสการเมืองการปฏิรูป เชื่อว่าจะนำสู่การปฏิรูปที่ดิน-ขจัดหนี้สินเกษตรกรในทศวรรษหน้า แต่หากไม่ดำเนินการจะทำให้เกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ใน 10-15 ปี ขณะนี้ปัญหาเชิงโครงสร้างไทยคล้ายกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เช่น การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย ประชาชนยากจนจากชนบทเข้าเมือง การขยายตัวของระบบเกษตรบริษัทยักษ์ใหญ่ หากไม่กำจัดและกระจายการถือครองที่ดิน ปล่อยให้บรรษัทใหญ่เข้ามาถือครองที่ดินมากๆ หรือจัดการนี้สินชาวนาล้มเหลว ประชาชนจะลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศเอง การกระจายการถือครองที่ดินนั้น เป็นแค่บทเริ่มต้นของการปฏิรูประบบเกษตร เพราะเมื่อใดที่แบบแผน
เปลี่ยนแบบแผนการผลิตไปสู่วิถีการผลิตแบบชีวภาพหรือชีววิถี…
เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เป็นต้นเหตุการณ์ขาดทุน-สิ่งแวดล้อม- สุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภค ทัศนคติสังคมต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตจะเอื้ออำนวยให้จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การพึ่งพาฐานทรัพยากรชีวภาพ ได้แก่การฟื้นฟูพัฒนาพันธุ์พืชท้องถิ่น จุลินทรีย์ การควบคุมแมลงโดยสมุนไพรและชีววิธี วิธีการเหล่านี้ถูกพิสูจน์และขยายผลระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เช่น เครือข่ายโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ชาวนาจำนวนมากปลูกข้าวแบบชีววิถีได้ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 1,300 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าทำนาเคมีกว่า 3 เท่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยศึกษาเรื่องข้าวอินทรีย์หลายจังหวัดภาคอีสาน พบว่าการทำนาแบบอินทรีย์ให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาทั่วไป และมีศักยภาพสูงในการแก้ปัญหายากจนในภาคเกษตรกรรม
การวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมของชาวบ้านมิได้เน้นแค่ผลผลิต แต่ดูคุณภาพ รสชาติและโภชนาการด้วย ซึ่งก้าวหน้ากว่าการวิจัยสถาบันกระแสหลักต่างๆ จากการส่งข้าวพื้นเมืองที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ไปตรวจคุณค่าโภชนาการ พบว่าส่วนใหญ่สูงกว่าข้าวที่ส่งเสริมกันปลูกโดยหน่วยงานของรัฐ
พัฒนาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ…
ประเทศไทยควรจะได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่มากขึ้น เช่น ข้าวพื้นบ้านโภชนาการสูงกว่าข้าวที่รัฐส่งเสริม ข้าวหน่วยเขือมีวิตามินสูงกว่าข้าวทั่วไป 26 เท่าโดยไม่ต้องตัดพันธุกรรม ไทยไม่จำเป็นและไม่ควรแข่งขันกับเพื่อนบ้านในการผลิตเชิงปริมาณ ไม่ควรตกอยู่ภายใต้กับดักทางวาทกรรม เช่น “ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก” ทั้งที่ปริมาณการส่งออกไม่ได้เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ และเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและคนในสังคมไทยแต่ประการใด
ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยี โดยเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน…
ขณะนี้รัฐไม่สามารถแข่งขันวิจัยพัฒนาผลิตพันธุ์พืชกับเอกชนได้ สถาบันวิจัยพืชหลายแห่งเริ่มแปรสภาพเป็นผู้จัดหาทรัพยากรพันธุกรรมป้อนบริษัทเอกชน-บรรษัทข้ามชาติ นี่เป็นความล้มเหลวของการละเลยสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพผลิตพันธุ์พืช ทั้งๆที่มีเครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่กำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพื่อพึ่งพาตนเองด้านเมล็ดพันธุ์
เราพึงตระหนักร่วมกันว่า เป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยี คือสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและท้องถิ่น หน่วยงานรัฐและการวิจัยสาธารณะต้องสนับสนุนให้กลุ่มท้องถิ่นต่างๆพัฒนาวิสาหกิจเกี่ยวกับพันธุ์พืชของเขา เช่น ข้อเรียกร้องเครือข่ายโรงเรียนชาวนามากกว่า 90 แห่งที่ จ.นครสวรรค์ให้กรมการข้าวและศูนย์ข้าวชุมชนใช้พันธุ์ข้าวที่เขาคัดเลือกและพัฒนาขึ้นไปขยายพันธุ์ไม่ใช่ข้าวที่ถูกส่งสำเร็จรูปจากราชการ
การส่งเสริมวิถีการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคเองในไร่นาและครอบครัว…
หลังเกิดวิกฤติอาหารโลกปี 2550-2551 แนวโน้มสำคัญคือการผลิตเพื่อบริโภคเอง ผลสำรวจของ National Gardener Association ปี 2009 ระบุว่าชาวอเมริกัน 37% ปลูกผักสวนครัวกินเอง ขณะที่ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ครอบครัวเกษตรกรเพียง 30% พึ่งพาอาหารที่ผลิตได้จากฟาร์ม ส่วนภาคใต้เพียง 6% เท่านั้นที่พึ่งพาอาหารจากไร่นาตนเอง ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครอบครัวคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็น 30-50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นการสนับสนุนให้ผลิตอาหารกินเองต้องเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะในวิกฤติอาหารที่จะเกิดขึ้น ต้องวางแผน ผลักดันระบบและกลไกรองรับเพื่อเอื้ออำนวยให้คนผลิตเพื่อบริโภค รัฐไม่ควรปล่อยให้ระบบการผลิตและกระจายอาหารถูกผูกขาดโดยผู้ผลิตรายใหญ่ไม่กี่รายเหมือนที่กำลังเป็นอยู่
นโยบายความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองทางอาหารระดับชาติ…
ไทยต้องกำหนดนโยบาย “อาหารต้องมาก่อน” เพิ่มพูนศักยภาพการพึ่งพาตนเองทางอาหารของครอบครัว-ชุมชนด้วยนัยความมั่นคงทางอาหาร มองการพึ่งพาตนเองของชุมชน-ประเทศเป็นสำคัญ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ควรกำหนด “ตัวชี้วัดสถานการณ์พึ่งพาตนเองทางอาหาร” ระดับต่างๆเพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดนโยบายประเทศ ทั้งการรับมือผลกระทบเปิดเสรีการค้า กำหนดนโยบายพืชพลังงาน-พืชเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และผลกระทบภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ .