อ่านประวัติศาสตร์ปัตตานีผ่านภาพยนตร์ ชมหนังเงียบแนะนำจังหวัดเมื่อ 78 ปีก่อน
ไม่ว่าจะ 10 ปีหรือ 100 ปีของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมีมิติทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ความเป็นรัฐอิสระที่มีอำนาจปกครองตนเอง หรือที่เรียกว่า "อาณาจักร" ในอดีต แล้วแต่จะมองย้อนกลับไปไกลถึงไหน อาณาจักรลังกาสุกะ หรืออาณาจักรปาตานี (ปัตตานี)
หลายปีที่ผ่านมามีการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ชำระ และถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมประวัติศาสตร์อย่างจริงจังกว้างขวางพอสมควร แต่มิติหนึ่งที่ไม่ค่อยพูดถึงกันก็คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่าน "สื่อภาพยนตร์"
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ยกให้ "สื่อภาพยนตร์" มีสถานะเทียบเท่าเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ทั้งนี้ หอภาพยนต์ฯ มีภาพยนตร์หลายชุดที่เปิดเผยให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของปัตตานีอย่างน่าสนใจ ที่มาหลักๆ คือ ภาพยนตร์สมัครเล่นส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลปัตตานี ในปี พ.ศ.2471 และภาพยนตร์นิรนามเกี่ยวกับจังหวัดปัตตานี ที่ได้รับมอบมาเมื่อปี พ.ศ.2528 จากครอบครัวของ นายเนย วรรณงาม เจ้าของสายหนังและโรงหนังเฉลิมวัฒนาจาก จ.นครราชสีมา
กล่าวเฉพาะภาพยนตร์นิรนาม เป็นภาพยนตร์เงียบ ขาวดำ สันนิษฐานว่าผลิตขึ้นมาเพื่อแนะนำจังหวัดปัตตานี จากคำบรรยายที่ปรากฏในภาพยนตร์บ่งชี้ว่าเป็นปัตตานีในปี พ.ศ.2479 โดยภาพยนตร์เริ่มต้นถ่ายทอดให้เห็นตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปจนถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้น ผู้ชมจะได้เห็นทั้งการแสดงศิลปะพื้นบ้าน เช่น รองเง็ง มะโย่ง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การประกวดนางงามประจำจังหวัด และการชกมวยไทยคู่เอกของ "สมานและสมพงษ์" ซึ่งชวนให้สงสัยว่าอาจเป็น สมาน ดิลกวิลาศ และ สมพงษ์ เวชสิทธิ์ สองยอดมวยไทยชื่อก้องในยุคนั้น
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังเผยให้เห็นบุคคลสำคัญอีก 3 ท่าน คือ หลวงวิจิตรวาทการ, พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีในขณะนั้น และ ขุนเจริญวรเวชช์ หรือ นายแพทย์เจริญ สืบแสง บุคคลซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองทั้งระดับจังหวัดปัตตานีและระดับประเทศ
ในการนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงจัดกิจกรรมร่วมรับชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ปัตตานี เพื่อเป็นการย้อนอดีตไปทำความเข้าใจกับปัตตานีเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว ในวันเสาร์ที่ 18 ม.ค.2557 ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา ถนนพุทธมณฑลสาย 5 อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม พร้อมฟังการวิเคราะห์จาก ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย" และ "ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี"
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การใช้ภาพยนตร์เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยใช้กัน ทั้งนี้ภาพยนตร์จัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นเหมือนกับหลักฐานอื่นๆ เช่น เอกสาร แต่จุดเด่นคือมีจินตภาพ สามารถสร้างจินตนาการให้กับผู้ที่ได้ศึกษาหรือรับชม เพราะได้เห็นภาพจริงๆ ของบุคคลหรือเหตุการณ์ในห้วงเวลานั้น
อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของภาพยนตร์ในแง่ของการเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ อายุของภาพยนตร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าสมัยใหม่ จึงย้อนดูอดีตจากภาพยนตร์ได้ไม่ไกลนัก แต่นักประวัติศาสตร์ก็สามารถนำภาพและเหตุการณ์ในภาพยนตร์มาตีความได้เหมือนกัน กระนั้นก็ต้องระมัดระวังการตีความในภาพยนตร์ตามจุดประสงค์ของผู้สร้างหรือผู้ถ่ายทำด้วย
อนึ่ง หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐ คล้ายกับหอสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ แต่เป็นหอสมุด พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ ที่เก็บภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่ออนุรักษ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ พร้อมนำออกบริการให้ประชาชนได้ศึกษา ค้นคว้า และชื่นชม หรือใช้ประโยชน์อย่างสะดวกและกว้างขวาง
หอภาพยนตร์ เป็นองค์การมหาชนของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2552 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2552 มีภารกิจในการเก็บรวบรวมและการอนุรักษ์ฟิล์มหรือแถบแม่เหล็กบันทึกภาพ ตลอดจนสนับสนุนการศึกษาค้นคว้า ศึกษา วิจัย และร่วมมือกับต่างประเทศในการเก็บรวบรวมและการอนุรักษ์ภาพยนตร์
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นการโอนกิจการในส่วนของงานหอภาพยนตร์แห่งชาติ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มาจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ที่ 94 หมู่ 3 ถนนพุทธมณฑล สาย 5 อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกผ่านภาพยนตร์นิรนาม
ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)