รู้จัก – เข้าใจมวลมหาประชาชน ผ่านมุมมอง “วรากรณ์ สามโกเศศ”
"ทิศทางที่น่าจะเป็นไปได้ในขณะนี้
อาจจะต้องมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น
แล้วมีคนกลางมาทุบโต๊ะเจรจาให้เกิดความประนีประนอมขึ้น"
ปรากฏการณ์ทางการเมืองขณะนี้ที่มวลมหาประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองของไทย มีบุคคลหนึ่งที่ได้ลงไปสัมผัส และนั่งพูดคุยกับประชาชนด้วยตนเอง นั่นก็คือ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)
รศ.ดร.วรากรณ์ วิเคราะห์ปรากฎการณ์นี้ให้สำนักข่าวอิศราฟังว่า สิ่งที่ผู้มาเข้าร่วมการชุมนุมทุกคนเห็นร่วมกัน คือ
การไม่เอาระบอบทักษิณ ที่มีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้สั่งการรัฐบาลสมัยปัจจุบันที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไปด้วย
บางส่วนเห็นว่า มีการก้าวล่วงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคนที่ไม่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องสถาบัน
คนจำนวนหนึ่งที่มีเวลาว่าง ซึ่งเป็นสัดส่วนของคนสูงอายุในกรุงเทพฯ ที่ว่างงานและข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้วก็มีการชักชวนพรรคพวกให้มาเข้าร่วมกันมากขึ้น
รวมไปถึงกลุ่มประชาชนคนกรุงเทพฯ คนภาคกลาง ภาคใต้ ที่รู้สึกร่วมกันรัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการของเขา รัฐไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน และเห็นว่า มีการคอร์รัปชันจนข้ามเส้นของความพอดีออกไป เช่น การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น
" เมื่อการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ไปโดนต่อมจริยธรรมของประชาชนจนทนไม่ได้ จึงทำให้คนเริ่มลุกฮือออกมา และประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ถูกขับเคลื่อนด้วยการถูกรังแกจากรัฐที่มีระบอบทักษิณแพร่กระจายไปทั่วประเทศในการควบคุมการทำงานในระบบราชการ"
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ "ทำตามกระแส" เพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีความคิดคล้ายกันออกมาชุมนุมตามกัน โดยเห็นว่า เป็นความเพลิดเพลินของการใช้เวลาที่จะออกมาต่อสู้
ดังนั้นอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า จิตใจของคนที่ออกมาครั้งนี้คือความเป็นห่วงประเทศชาติว่า ต่อไปในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาได้
"ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมใหญ่เช่นนี้ ก็มีคนที่รู้สึกต่อต้านอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดผู้นำคนที่ออกมารู้สึกอัดอั้น จะเห็นได้ว่า มีทั้งคนชนชั้นกลางฐานะดีในกรุงเทพฯ และคนทั่วไป โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลอย่าง โครงการจำนำข้าว ราคายางพารา และค่าครองชีพที่สูงขึ้น"
ส่วนอิทธิพลด้านอื่นๆ อย่างสื่อโทรทัศน์ที่นำเสนอแนวคิดของแต่ละฝ่ายออกไป อธิการบดีมธบ. มองว่า ทำให้ผู้ชุมชุมเห็นว่าตนเองรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความไม่พอใจก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะมาจากการเลียนแบบต่างประเทศด้วย เช่น เหตุการณ์อาหรับสปริง ที่เป็นคลื่นปฏิวัติการเดินขบวน การประท้วง ดังนั้นจึงเกิดความคิดที่คิดว่า เมื่อที่อื่นยังทำ เราก็ทำได้
และยังมีความคิดในเชิงกระแสของโลกอย่างการให้ประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในเมื่อระบบของตลาดที่ประสบความสำเร็จนั้น ผู้บริโภคเป็นใหญ่เมื่อประชาชนกับผู้บริโภคคือคนเดียวกัน ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นใหญ่ เมื่อมาผสมกับปัจจัยด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการออกมาครั้งนี้
สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการที่แท้จริง แยกเป็น 2 เรื่อง คือ
ประการแรกผู้ชุมนุมไม่ต้องการเห็นระบอบทักษิณอยู่ในระบบการเมืองของประเทศไทยให้กำจัดทิ้งไป
ประการที่สองต้องการปฏิรูปการเมือง เพราะไม่พอใจระบบการเมืองในปัจจุบันที่เอื้อต่อการคอร์รัปชันโดยเฉพาะการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย
" การเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งส่วนนี้มีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะเมืองไทยเราก็มีรากฐานประชาธิปไตยมาหลายปี แต่พวกเขาไม่พอใจตรงที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยถูก "บ่อนเซาะ" โดยการคอร์รัปชัน และมองว่า ระบอบทักษิณเป็นระบอบที่เข้ามาเพื่อครอบงำประเทศไทย และยิ่งเห็นชัดเจนในเรื่องที่ว่า ใครจะได้ดีต้องถูกเป่ากระหม่อมก่อน ซึ่งเป็นการกระทำที่ล้ำเส้นของความพอดี ในอนาคตข้างหน้าจะมีการคอร์รัปชันตามมาอีกมากมาย มีเงินและหนี้ที่ประเทศต้องจ่ายอีกมากมาย"
สำหรับประชาชนบางส่วน ที่ไม่พอใจกับการออกมาชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่มีใครออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน เพราะเมื่อมีคนจำนวนมากออกมาขนาดนี้แล้ว จึงทำให้คนส่วนน้อยยังไม่กล้าแสดงตัว และอยากให้เข้าใจว่าทางผู้ชุมนุมเองก็พยายามทำให้ความไม่พอใจเหล่านี้ลดลงน้อยที่สุด
"อย่างที่เห็นว่าจะตั้งเฉพาะจุดที่สำคัญๆ และปล่อยถนนให้รถวิ่งผ่านไปได้ 1 ช่องทาง อย่างเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2553 ก็เช่นกัน คนไม่พอใจก็เยอะ แต่ก็ยังไม่มาแสดงตัวเท่าไหร่นัก รู้ว่ากระแสแรง ไม่มีใครอยากเอาเรือมาขวาง อีกทั้งการชุมนุมครั้งนี้ก็ไม่มีการใช้ความรุนแรง"
ทั้งนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ได้แยกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. คนที่รักและศรัทรา พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่รับฟังเหตุผล เพราะเลือกที่จะรับรู้เช่นนั้น เมื่อมีข่าวสารด้านอื่นเข้ามาก็เลือกที่จะไม่รับฟัง
2. กลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบทักษิณ ซึ่งแม้ว่าจะโน้มน้าวอย่างไรก็ไม่เปลี่ยน
3. กลุ่มที่ยังไม่เข้าใจอะไรแบบชัดเจน เพียงแต่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสามารถในการสร้างนโยบายที่เกิดประโยชน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะแสดงออกอย่างเป็นกลางและสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนของนิสิตนักศึกษามาก เพราะถูกอิทธิพลจากประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก ที่มาจากอาจารย์ที่จบการศึกษามาจากประเทศตะวันตก
"กลุ่มนักศึกษาที่ว่านี้ก็จะยึดมั่นในเรื่องสิทธิ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ได้คำนึงถึงว่าเลือกตั้งมาแล้วจะได้ใคร อย่างการเลือกตั้งในต่างจังหวัดอยู่ที่ว่า อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ว่าจะเอาใคร มีการซื้อเสียงไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่มันเป็นการวัดดวงว่า ใครมีเงินเยอะกว่ากันก็ได้ไป"
จากการออกสำรวจของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. มีครอบครัวเด็กกว่า 45,000 คน ใน 35 จังหวัดที่
ผมต้องสัมผัสจะเห็นว่า เขาไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิตัวเอง เพราะคนไทยมักเป็นประเภทที่ว่ารับเงินมาแล้วก็จะซื่อสัตย์ต่อเงินนั้นมากๆ แทนที่จะทรยศ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะจริยธรรมสูง แต่เป็นเพราะความกลัวว่าหากไม่เลือกเขาจะมาฆ่า เมื่อใครมีหัวคะแนนก็สามารถผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้ ประชาธิปไตยที่แสดงออกอย่างแท้จริงก็มีแค่ในตัวเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเราต้องดูความเป็นจริงนี้"
สรุปจากการสังเกตโดยรวม รศ.ดร.วรากรณ์ เห็นว่า ในกรุงเทพฯ มีคนที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก อย่างเครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอาก็เช่นเดียวกัน เขาเพียงไม่ต้องการความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร แต่เขาเอาการเลือกตั้ง และเรียกร้องการปฏิรูปเช่นเดียวกับผู้ชุมนุม แต่คนมักบิดเบือนว่า กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม
"คนที่ไม่พอใจส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเขารู้สึกว่าการทำเช่นนี้กระทบในสิทธิของเขาที่มีอยู่ เช่น การสัญจรผ่านเส้นทางการชุมนุม ผมเองก็เคารพสิทธิเหล่านั้น แต่เมื่อเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องการผลักดันการปฏิรูป เราต้องยอมรับว่าการได้มาต้องยอมเสียสละ"
เมื่อถามถึงเรื่องของการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.2557 รศ.วรากรณ์ มองว่า คนไทยเบื่อการเลือกตั้งที่ผลออกมาได้มาแต่คนหน้าซ้ำๆ เดิมๆ แล้วมาทำการคอร์รัปชัน
"คนเบื่อหน่ายกันมากแต่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร เมื่อมีคนมาช่วยชี้ทางออกว่าต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรแล้วต้องยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่ เพราะแม้จะมีการเลือกตั้งไปก็ไม่เป็นผล ไม่สามรถเปิดสภาฯ ได้ และต้องทำการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องความไม่ชอบธรรม อีกทั้งในการเลือกตั้งระดับประเทศแต่ละครั้งประเทศต้องเสียเงินกว่า 3,800 ล้านบาท"
ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการเลือกตั้งที่พบปัจจุบันนี้ คือ ความไม่พร้อมของการเลือกตั้ง ด้วยคนไม่ให้ความร่วมมือในการเป็นกรรมการในกรุงเทพฯ บางเขต และในภาคใต้ยังหาคนไม่ได้ ซึ่งเมื่อเลือกไปแล้วก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องการเลือกตั้ง เพราะคนจะมีแนวโน้ม "โนโหวต ฉีกบัตร" ฯลฯ
อีกทั้งจำนวนส.ส.ก็จะไม่ครบ 95 % ของ 500 คน ทำให้ต้องเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ทำให้ต้องมีการรักษาการต่อไป และคนก็ยังประท้วงต่อต้านรัฐบาลกันต่อไปอย่างยืดเยื้อ ไม่ต่างจากการโยนเงินทิ้งน้ำ!!
"หากรัฐบาลเดิมที่คนต่อต้านมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งก็จะเกิดปัญหา เนื่องจากคนไม่ยอมรับแต่แรกแล้วจะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ก็อยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่เสียดายเงินที่มาจากภาษีประชาชน"
สำหรับในต่างประเทศ อธิการบดีมธบ.วิเคราะห์ว่า ไม่มีอะไรศักดิ์สิทธิ์เท่ากับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งในประเทศของเขาไม่เหมือนของเรา เขาเลือกจากความพึงพอใจในผลงานของส.ส. มิได้มีการซื้อเสียงเหมือนบ้านเรา ทำให้คนต่างประเทศไม่เข้าใจบ้านเราว่า การเลือกตั้งในประเทศเรา ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นเพียงกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งหมด เพราประชาธิปไตยต้องมีการเปิดให้แสดงออกอย่างเสรีได้ การชุมนุม ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย สิทธิของผู้อื่น
รศ.ดร.วรากรณ์ วิเคราะห์ต่อถึงท่าทีของรัฐบาลที่ทำอยู่ ก็เพื่อรักษาสถานะทางการเมืองให้ลากไปจนถึงวันเลือกตั้ง เพราะหากนายกฯ ลาออกจากการรักษาการนายกฯ ตอนนี้ กลุ่มพรรคเพื่อไทยก็หลุดออกไป ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้ ส.ว.ต้องเลือกคนมาทำหน้าที่แทน รัฐบาลต้องการให้มีการเลือกตั้ง เพราผลที่คาดไว้ก็คือการเก้าอี้ส.ส.มากที่สุดแน่นอนทำให้สถานะทางการเมืองยืดยาวต่อไปได้อีก
"ทิศทางที่น่าจะเป็นไปได้ในขณะนี้ อาจจะต้องมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น แล้วจะต้องมีคนกลางที่มาทุบโต๊ะเจรจาให้เกิดความประนีประนอมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่พ้นปัญหาใหญ่ คือ คนที่ตัดสินใจ อย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มีข้อมูลที่ทันสมัยรอบด้าน สามารถสัมผัสได้รอบตัว แต่เป็นข้อมูลที่มาจากคนอื่นมาบอก เห็นจากโทรทัศน์ บอกเล่าผ่านโทรศัพท์ เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะเขาไม่ได้สัมผัสเอง ข้อมูลที่ได้รับไปก็เป็นข้อมูลด้านดีกับฝ่ายตัวเอง"
สุดท้ายรศ.ดร.วรากรณ์ มองเห็นว่า การเมืองไทยเป็นชนิดที่เรียกว่า Behind the Scenes คือสิ่งที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้า มันไม่ได้เป็นเหมือนสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เหมือนสมัยก่อน ปัจจุบันสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง เข้ามาใกล้กันมากขึ้นแล้ว มีสิ่งที่ไม่ได้เล่าอยู่ข้างหลังมากมาย ท้ายที่สุดอาจจะมีการรอมชอมกัน การต่อรองแบบ Win-Win ที่อาจมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ได้หรือเสียมากกว่า เพราะคนไทยเราเชื่อว่าการเจรจากันจะนำไปสู่ความสงบสุข
"เรื่องรัฐประหารก็อาจจะไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย คนทุกฝ่ายก็ได้เรียนรู้บทเรียนที่ผ่านมา หากจะมีก็อาจจะเป็นการปฏิวัติเงียบ ที่กระทำการอยู่เบื้องหลังมากกว่า"
ก่อนทิ้งท้าย ยืนยันชัด "คนที่ไปชุมนุมไม่ได้ต้องการระบอบเผด็จการ เพราะไม่มีใครเอา เพียงแค่อยากให้ระบอบทักษิณออกไป เพราะจะได้ดำเนินการไปตามกติกา ที่เอาคนเกเรออกไป เอาคนใหม่ลงมาเล่นแทนที่"