กันขายข้าวจีทูจีปลอม ‘ธีระชัย’ เสนอกำหนดนิยามให้ชัดและแคบลง
อดีตขุนคลัง ชี้ป.ป.ช. แจ้งข้อหา “บุญทรง” ขายข้าวจีทูจีเก๊ พร้อมเริ่มไต่สวนนายกฯ เชื่อกระทบภาพลักษณ์ แถมตอกย้ำ จำนำข้าวเสี่ยงทุจริตโดยเฉพาะในขบวนการขาย สะท้อน ยิ่งลักษณ์ละเลยไม่เอาใจใส่ ดูแลคนในครม. ป้องปรามการทุจริต
วันที่ 16 มกราคม นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ความเห็นลงเฟชบุคส่วนตัวหลังจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเรื่องจำนำข้าว โดยมีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ พร้อมเจ้าหน้าที่ กรณีอาจจะมีการทุจริตในการขายข้าวแบบ G to G และให้มีการไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า มติของ ป.ป.ช. จะส่งผลเป็นลบอย่างหนัก ต่อชื่อเสียงและความชอบธรรมของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
“ ในชั้นแรก เป็นการตอกย้ำ ยืนยัน ว่าโครงการจำนำข้าว มีความเสี่ยงทุจริต อย่างน้อยที่พบขณะนี้ คือในขบวนการขาย และการที่มีบุคคลใน ครม. ที่อาจจะเข้าข่ายกระทำความผิด ก็เป็นการสะท้อนว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เอาใจใส่ ในการกำกับดูแลบุคคลใน ครม. เพื่อป้องปรามการทุจริตเท่าที่ควร”
อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ในชั้นที่สอง การที่ ป.ป.ช. ให้มีการไต่สวนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดัวยนั้น เป็นการส่งผลลบต่อตัวนายกฯ เป็นการเฉพาะตัว เหตุที่ส่งผลลบต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดยทั่วไปนั้น กรณีหากจะมีบุคคลใด ในแวดวงราชการ ที่กระทำการทุจริต ทาง ป.ป.ช. ก็ชอบที่จะลงโทษเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และหากเห็นว่าการทุจริตดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น จากความโลภต่อทรัพย์ของแผ่นดิน โดยบุคคลระดับล่าง ก็จะไม่มีเหตุผลใด ที่ ป.ป.ช. จะต้องไต่สวนเพื่อพิจารณาลงโทษนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. มีมติให้มีการไต่สวนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องคาดเดาไว้ก่อน ว่า ป.ป.ช. เล็งเห็น ว่าอาจจะมีประเด็นที่เกี่ยวพันไปถึงตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้
“สมมุติถ้าหาก ป.ป.ช. พิจารณา ว่าเรื่องการทุจริตกรณีใดก็ตาม ถ้าทำเป็นขบวนการ ที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้น หากมีการทำกันเป็นกลุ่ม ก็จะเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดร่วมกันกระทำความผิด (conspiracy) เช่น สมมุติพรรคการเมือง มีความประสงค์จะทำการทุจริตในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถเริ่มต้น ด้วยการทำโครงการ ให้มีขั้นตอนรองรับการทุจริตดังกล่าว โดยทำขึ้นเป็นแผนงาน และประกาศเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ต่อจากนั้น ภายหลังได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว แล้วก็เปิดให้มีการทุจริตกัน ในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด”
นายธีระชัย กล่าวถึงประเด็นที่คาดว่า อนุกรรมการเพื่อไต่สวนนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะสนใจนั้น น่าจะเป็นคำถามว่า หากมีการทุจริตเกี่ยวกับการขายแบบ G to G การทุจริตดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือไม่ คำถามทำนองนี้ จะเกิดขึ้นแก่ผู้วิเคราะห์ต่างประเทศด้วย และจะทำให้ผู้วิเคราะห์สากล ที่ติดตามการเมืองไทย ลดความน่าเชื่อถือลงไปด้วย แต่ที่สำคัญมากกว่า ก็คือเป็นการตอกย้ำว่า ต้องเร่งรัดการปฏิรูปเพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการด่วนที่สุด
"เรื่องที่หนึ่ง ความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ เพราะการทุจริตกรณีนี้ เป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่สำหรับผู้ที่รับเงินหลัก ผู้ที่ได้เงินไปส่วนใหญ่นั้น ป.ป.ช. อาจจะสาวไปไม่ถึง ผู้ที่รับเงินหลัก จึงอาจจะให้ความช่วยเหลือ แก่บุคคลที่รับหน้า ไม่ให้ต้องรับโทษ โดยให้หลบหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้ไปอยู่อย่างสบาย แล้วค่อยกลับมาภายหลังหมดอายุความแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ ขบวนการยุติธรรมของไทย ก็ไม่มีความหมาย
เรื่องที่สอง ควรกำหนดนิยามการขายแบบ G to G ให้แคบ ขณะนี้ระเบียบในการขายข้าวนั้นมีอยู่ชัดเจนแล้ว คือต้องใช้วิธีการประมูลเสมอ เพื่อให้รัฐบาลได้รับเงินสูงสุดเท่าที่จะเป็นได้ ระเบียบจะยกเว้นก็เฉพาะกรณีที่รัฐบาลขายให้แก่รัฐบาลอื่น แบบ G to G"
ส่วน กรณีที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญทรง อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ก็น่าจะสืบเนื่องจากเห็นว่าการขายดังกล่าวถึงแม้รูปแบบจะพยายามทำให้ดูเสมือนเป็นการขายแบบ G to G แต่ในเนื้อหาทางเศรษฐกิจ น่าจะไม่ใช่ อย่างไรก็ดี การลงโทษภายหลังนั้นเป็นการเดินตามหลัง ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปเสียก่อนแล้ว จึงเห็นว่า ในขบวนการปฏิรูป ควรจะกำหนดลักษณะและนิยามการขายแบบ G to G ให้แคบและชัดเจน เพื่อป้องปรามการทุจริตเอาไว้ ก่อนที่จะเกิดขึ้น
“ เรื่องที่สาม ควรห้ามมิให้รัฐบาล เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการตลาดสินค้าใดๆ อีก เนื่องจากการที่รัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าเกษตรนั้น สร้างปัญหาและความเสี่ยงการทุจริตอย่างมาก จึงถึงเวลาแล้ว ที่ขบวนการปฏิรูป ต้องกำหนดห้ามมิให้รัฐบาลใดในอนาคต เข้าไปเป็นเจ้าของสินค้าเองได้อีก” นายธีระชัย กล่าว และว่า ทั้งนี้ หากรัฐบาลในอนาคต เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ อุดหนุนเกษตรกรบางแขนง บางอาชีพ และเป็นสิงที่สังคมยอมรับ ก็ควรใช้วิธีจ่ายตรงแก่เกษตรกร ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. ซึ่งจะป้องกันปัญหาทุจริตได้ดีกว่าอย่างมาก พร้อมกับหวังว่า เรื่องทุจริตในการแทรกแซงสินค้าเกษตร ควรจะยุติกันได้เสียทีแล้ว และการปฏิรูปเพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด