50 องค์กรชาวบ้านเหนือ-อีสาน ทวงถามสำนึกรับใช้สังคมของมหาลัย’ขอนแก่น
เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน บุก ม.ขอนแก่น ทวงถามจุดยืนว่าเพิกเฉยปัญหาชุมชนหรือไม่ เอ็นจีโอตอกกรรมการสภาอุดมศึกษามีแต่นักธุรกิจ จึงมุ่งผลิตบัณฑิตรองรับระบบทุน ไม่สร้างคนรับใช้สังคม
กลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและราษีไศล ฯลฯ 50 องค์กร ในนาม เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน ได้มารวมตัวกัน ณ บริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือทวงถามจุดยืนสถาบันอุดมศึกษาต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้าน โดยมี รศ.ดร.สมหมาย ปรีเปรม รองอธิการฝ่ายการคลังและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นตัวแทนของคณะผู้บริหารออกมารับหนังสือ
การรวมกลุ่มของเครือข่ายชาวบ้านในครั้งนี้ มีผลมาจากสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าสถาบันอุดมศึกษากลับมีท่าทีที่วางเฉย มุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไรและผลิตบัณฑิตเข้าไปรับใช้ระบบทุน อีกทั้งกลับมีปัญหาภายในในการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เครือข่ายชาวบ้านจึงมารวมตัวกันเพื่อกระตุ้นเตือนให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งภาคอีสาน ตระหนักต่อบทบาทของสถาบันการศึกษาในการรับใช้สังคม
นายประดิษฐ์ โกศล แกนนำชาวบ้านจากสมัชชาคนจน เขื่อนราศีไศล กล่าวว่าต้องการมาถามผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นมีจุดยืนอย่างไร และจะแสดงบทบาทอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในขณะนี้
“ที่พวกเรามากันในวันนี้ เพื่อทวงถามถึงสาเหตุการสั่งย้ายที่ไม่เป็นธรรมต่ออดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มข. ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านด้านคดีความในการเรียกร้องต่อสู้ ปกป้องสิทธิชุมชน และอยากจะทราบถึงทิศทางข้างหน้าของคณะนิติศาสตร์ มข. และอยากจะตั้งคำถามต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัยว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมาย พวกเราจะกลับมาฟังคำตอบในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า”
ทางด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานองค์กรประชาชนภาคเหนือและภาคอีสาน กล่าวว่ามหาวิทยาลัยควรยืนเคียงข้างประชาชนและรับใช้ชุมชน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่มารวมตัวกันในวันนี้ล้วนได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยกลับมีท่าทีที่เพิกเฉยต่อปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องพากันมาทวงถามจุดยืนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สังคมได้รับรู้และร่วมกันตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษา”
สุวิทย์ กล่าวอีกว่าในปัจจุบันนี้ ถ้าหากดูไปที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราภภัฎอุดรธานี จะเต็มไปด้วยบรรดานักธุรกิจ พ่อค้า และนักลงทุน ซึ่งกลุ่มคมพวกนี้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางในการบริหารหลักสูตรการศึกษา จึงทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ระบบทุนนิยมเป็นหลัก ทั้งที่ควรผลิตคนออกมารับใช้สังคม .