"ยิ่งลักษณ์"ปัดข้อเสนอลาออกตั้ง"ครม.รักษาการ"ทำประชามติถามปชช.!
ถกเวทีปฏิรูปไร้ข้อสรุป “ยิ่งลักษณ์” ขอให้เดินหน้าระดมความคิดต่อ “ธีรภัทร์” เสนอให้นายกฯลาออก ตั้งครม.รักษาการ ทำประชามติถามปชช. อยากปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง “ปู” ปัดบอกต้องรักษากติกา “บก.ลายจุด” ให้นำคนรุ่นใหม่ร่วมเวที
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมกองบัญชาการกองทัพอากาศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 พร้อมด้วยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายวราเพท รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้นำ 28 องค์กร เข้าร่วมการประชุม
โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การปฏิรูประเทศสังคมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะคุยกัน ซึ่งเรามีข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศหลายอัน เราจึงใช้เวทีนี้เพื่อหารือว่าจะทำให้เวทีปฏิรูปเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ทำอย่างไรให้แผนปฏิรูปมีเป็นแผนใหญ่เดียวกันและเป็นแผนกลาง ทั้งนี้บทบาทของรัฐบาลไม่มีเจตนาบีบหรือโน้มนำเนื้อหาการปฏิรูปทั้งสิ้น แต่ที่เราได้รับข้อมูลจากหลายส่วนมีการขึ้นโครงที่มีความชัดเจนมาก
“เราขอนำเสนอว่าเราจะทำอย่างไรให้แผนที่มีอยู่ในไปสู่การปฏิบัติ หรือนำไปสู่การตรากฎหมายที่มีอยู่ เพื่อนำกลไกเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติ รัฐบาลจึงขอใช้เวทีนี้ในการรับฟัง เราจะไม่ใช้สิทธิในการเสนอ ขอทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล และให้ข้าราชการประจำเป็นแม่งานหลัก เมื่อเราได้หารือกันแล้ว ถ้าเวทีต่างๆจะเกิดขึ้น เราก็พร้อมที่จะให้เวทีมีการประชุมต่อไป เพื่อให้กลไกของการพูดคุยมีมากขึ้น” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นหารือเรามองการปฏิรูปมีอยู่ 3 ส่วน 1.ขั้นตอนการทำงานหลักจะมีอะไรบ้าง มีขั้นตอนเร่งด่วน ขึ้นตอนระยะยาว อย่างไร 2.โครงสร้าง เช่น จะมีสภาปฏิรูปจำนวนเท่าไร ที่มาจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่รัฐบาลได้เสนอว่าจะมีคนกลางเข้ามาเขียนวิธีการ 11 คน ก่อนจะไปคัดเลือก 2,000 คน ต้องเรียนว่าวันนี้เรายังไม่เสนอใดๆทั้งสิ้น แค่เป็นการนำเสนอเบื้องต้น เราพร้อมที่จะปรับทั้งหมด 3.เรื่องสาระสำคัญ จะมีเรื่องเร่งด่วน อาทิ การทุจริตคอรัปชั่น โดยเราจะแบ่งสาระสำคัญเร่งด่วนที่ภาครัฐสามารถปรับได้ทันที หรือขั้นตอนรัฐสภา ก็จะพูดคุยกันว่าจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร
ต่อมานายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า แนวทางเร่งด่วน 1.นายกฯและครม.รักษาการต้องลาออก เพื่อให้มีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งครม.ชุดใหม่มาทำงานแทน ซึ่งนายกฯต้องเสียสละ เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน ซึ่งมีการถกเถียงว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ให้เปิดช่องให้ลาออก ตรงนั้นพูดกันเยอะ แต่การลาออกถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่สามารถมาบังคับชีวิตส่วนตัวของนายกฯได้ จากนั้นก็ออกเป็นพ.ร.ก.ให้เลื่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ออกไป แล้วกลุ่มกปปส.ยุติการชุมนุมทันที
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า 2.รัฐบาลรักษาการชุดใหม่ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามาตรา 165 (1) เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ลงมติว่าจะให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง หรือจะให้มีการปฏิรูปการเมืองหลังเลือกตั้ง เพราะประชามติถือเป็นสัญญาประชาคม ซึ่งประเทศประชาธิปไตยก็ทำแบบนี้ ถ้าผลออกมาประชาชนไม่เห็นด้วย เราก็กลับมาสู่การเลือกตั้งตามเดิม โดยตรงนี้จะทำให้ประชาชนกำหนดทิศทาง และกปปส.ก็ไม่สามารถมาอ้างมวลมหาประชาชนได้
“โดยสรุปถ้าเราไปทำประชามติ มันจะเป็นทางออกสำหรับทุกฝ่าย ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตขณะนี้ได้ เราอยู่ในทางสองแพร่งว่าจะเลือกแก้ไขปัญหา หรือเป็นตัวสร้างปัญหา” นายธีรภัทร์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทำเหมือนนายธีรภัทร์พูดได้ถือเป็นสิ่งที่ดี หลายภาคส่วนเรียกร้องให้รับผิดชอบ รัฐบาลเรามีทางเลือก 2 ทาง 1.ลาออก 2.ยุบสภา ตนก็เลือกยุบสภาไปแล้ว วันนี้ตนไม่สามารถจะบอกว่าตนท้อตนไม่อยากทำแล้วทิ้งไว้เฉยๆ กติกาที่เราอยู่ตนไม่ต้องการอยู่เพื่อบอกสังคมว่าอยู่เพื่อความขัดแย้ง แต่อยู่เพื่อส่งมอบกติกาให้คนใหม่ ใครก็ได้ ตนอยู่เพื่อประคอง หลายคนบอกว่าเลือกตั้งแล้วมีความขัดแย้ง
“ถ้ายังเดินอย่างนี้นักลงทุนกลัวมากที่สุดคือการไม่รู้ว่าทิศทางข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ดิฉันกำลังบอกว่าความขัดแย้งเราอยากแก้ถ้าแก้ได้ ไม่มีรัฐบาลไหนอยากเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว เพื่อแสดงสิทธิผ่านการเลือกตั้ง เรายินดีให้ความร่วมมือในทุกมิติ เท่าที่ดิฉันมีอำนาจปฏิบัติได้ แม้กระทั่งอำนาจจ่ายเงินให้พี่น้องชาวนายังไม่มี ต้องไปถามกกต.ก่อน การปฏิรูปมันพูดยากจริง หลายคนบอกว่ามันยังกว้างไป แต่เชื่อว่าเราต้องหาเวทีเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของหอการค้าไทยมีดังนี้ 1.การจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ให้มีกฎหมายรองรับชัดเจน โดยมีรูปแบบเป็นคณะอำนวยการมากกว่ารูปแบบสภา ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม 2. การทำความตกลงร่วมกับพรรคการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูป และภารกิจ 3.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ให้รัฐบาลที่มีภารกิจหลักเพื่อการปฏิรูป และ4.ปรับรูปแบบของรัฐบาลรักษาการ
"ส่วนตัวเหนื่อยมาก และคงทำได้แค่นี้ เพราะทุกอย่างขณะนี้เริ่มเผชิญหน้ากันเข้ามาแล้ว และในองค์กรก็คุยกันว่าจะกลับไปดูเรื่องเศรษฐกิจบ้าง และคงไม่จัดเวทีกลางอีกแล้ว แต่พร้อใจะร่วมมือเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง" นายวิชัย กล่าวว่า
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด กล่าวว่า การปฏิรูปไม่ควรเอาคนกลุ่มเก่าหน้าเดิมๆเข้ามา ควรจะนำคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มใหม่ๆ ให้มีการระดมกลุ่มเสนอความคิดเข้ามา จากนั้นให้ลงไปคุยนำไปพัฒนาเพื่อให้เกิดรูปธรรม วันนี้สถานการณ์การปฏิรูปแตกต่างจากปี 2540 ยังมีประชาชนจำนวนมากที่มีพลังจะมีความคิดใหม่ๆ แต่คนเหล่านี้ไม่เคยได้ถูกเชิญออกมา อยากให้รัฐบาลมองตรงนี้ด้วย
ทั้งนี้นายเอก อัตถากร ผู้ที่ชูป้าย “RESPECT MY VOTE” ในงานเปิดตัวพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทยของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป. เมื่อวันที่ 12 มกราคม ได้มาร่วมเวทีปฏิรูปด้วย กล่าวว่า ตนไม่ได้มีสีแต่ในฐานะหนึ่งเสียงเห็นว่าแม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด แต่ถ้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ได้เถลิงอำนาจตนก็คงจะแย่ และประชาชนคนหวาดกลัว
ท้ายสุดน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวสรุปว่า อยากเห็นเวทีปฏิรูปเดินหน้าต่อ โดยให้ภาคเอกชนจัดทำในรูปแบบของภาคเอกชน แล้วค่อยเสนอมา จะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟัง ภาคส่วนใดอยากเสนออะไรมา เราก็พร้อมรับฟัง ตนขอให้นำเวทีนี้เป็นเวทีกลางเป็นโมเดลของทุกคน นำไปสู่ช่องทางสื่อสารต่างๆ ส่วนพรรคการเมืองที่จะนำไปหาเสียงก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ แม้วันนี้จะไม่มีข้อสรุป แต่เป็นโอกาสที่เราจะเปิดเวทีคุยกัน แม้จะเป็นเวทีอันน้อยนิดแต่เพื่อหาแนวทางสันติ เวทีนี้ก็จะเปิดอยู่ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้ความสำคัญกับการปฏิรูป