สุดท้ายของระบอบทักษิณ สร้างรากฐานใหม่ให้ประเทศไทย?
ต้นเหตุของการเกิดกระแสปฏิรูปประเทศและการปฏิวัติประชาชน
1. ทักษิณไม่ใช่นักประชาธิปไตยแต่เป็นพวกอนาธิปไตย ซึ่งปฏิเสธอำนาจรัฐไม่ว่าจะในมุมใดๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการหาผลประโยชน์อย่างไม่มีขอบเขตไม่มีกฎเกณฑ์กรอบคุณธรรมศีลธรรมใดๆ ของตน แต่ทักษิณยังเห็นความสำคัญของรัฐเป็นเครื่องมือในการคอร์รัปชั่น จึงเน้นการแยกสลายและควบคุมบุคลากรของรัฐ เกิดเป็นโรคระบาดคอร์รัปชั่นขึ้นในทุกวงการ ผลงานของทักษิณคือ
- รื้อเส้นแบ่งอธิปไตยของชาติ ทำลายผลประโยชน์ชาติเพื่อประโยชน์ตนเอง เช่น การแก้กฎหมายเกี่ยวกับดาวเทียมรัฐเพื่อให้ขายบริษัทได้ ตกลงให้เงินกู้พม่าเพื่อประโยชน์ตัวเอง จ้างงานบริษัทเกาหลีแก้ปัญหาน้ำ หรือขายข้าวโครงการจำนำข้าวอย่างมีเงื่อนงำกับบริษัทที่มีปัญหาอย่าง GSSG ของจีน Bulog ของอินโดนีเซีย ไม่มีหลักประกันจะไม่มีการขายชาติให้กับประเทศอื่นๆ ที่ให้ผลประโยชน์ตัวเองมากพอ
- รื้อร้างระบบโยกย้ายราชการ รัฐวิสาหกิจ ให้พรรคพวกตน การประมูลตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ในระดับสารวัตร ผู้กำกับ อธิบดี ปลัด ผู้ว่าการ ตำแหน่งรัฐมนตรี ตั้งแต่สิบถึงหลายร้อยล้านบาท
- ใช้เงินและตำแหน่งซื้อความจงรักภักดีของข้าราชการและองค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการใช้การจูงใจด้วยงบประมาณหรือทรัพยากรอื่นๆ
- ทำลายห่วงโซ่ระบบยุติธรรมในส่วนของตำรวจ อัยการ องค์กรอิสระบางส่วน ลงได้เด็ดขาด ระบบตรวจสอบคอร์รัปชั่นจึงพังทลาย
- ทำลายวินัยการเงินการคลัง ระเบียบงบประมาณ เช่น การออก พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านบาท การสร้างหนี้นอกงบประมาณผ่านธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ซึ่งเอื้อการคอร์รัปชั่นอย่างไม่มีขอบเขตเพดานความเสียหาย
- ใช้งบกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ทำลายการตรวจสอบของสังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชน ทั้งทีวี ดาวเทียม วิทยุ สิ่งพิมพ์ ออนไลน์
- ทำลายเส้นแบ่งระหว่างบุคคล (ทักษิณ) กับพรรค ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติ กลายเป็นเผด็จการบุคคลโดยผ่านการเลือกตั้ง
- การเลือกตั้งคือกระบวนการเปลี่ยนบุคคลในครอบครัวทักษิณขึ้นมาครองอำนาจ
2. โรคระบาดคอร์รัปชั่นทำให้สังคมเป็นอนาธิปไตยไปด้วยคือ แตกเป็นพวกเป็นกลุ่ม ไม่ฟังความเห็นกัน ไม่เชื่อใจกัน แก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์กันเป็นกลุ่มๆ รัฐไทยกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ มิหนำซ้ำสึนามิของการคอร์รัปชั่นกำลังพังทลายกำแพงด่านสุดท้ายคือกำแพงศีลธรรมของประชาชน ส่งผลให้ประเทศล่มสลายอย่างแท้จริง เพราะผู้คนจะมุ่งแสวงกลุ่มพวกเพื่อร่วมกันโกงกิน เพื่อให้ได้เปรียบหรือไม่เสียเปรียบกลุ่มอื่น สังคมไทยจะไม่มีความคิดเรื่องส่วนรวม ความไว้วางใจกัน ไม่ฟังเหตุผลของกันและกัน
มองความต่างทางความคิดเพื่อเข้าใจปมความขัดแย้ง
1. เพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงมองประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมคลาสสิกหรือเชิงเดียว (monism) คือเชื่อว่าเมื่อมีความเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิสมบูรณ์ของบุคคลในการเลือกตั้งแล้ว เหตุและผลที่ผู้เลือกตั้งใช้เลือกผู้แทนย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาและความก้าวหน้าโดยอัตโนมัติ (เป็นอิทธิพลความคิดตะวันตกแบบคริสต์ เพราะปัญญาเหตุผลจะนำไปสู่ความเข้าใจกฎธรรมชาติ ทั้งสองอย่างมีพลังอำนาจเพราะมีที่มาจากพระเจ้า จึงย่อมทำให้เกิดความดีและความก้าวหน้า เช่นอังกฤษเชื่อหลัก “อำนาจสูงสุดเป็นของสภา” (parliamentary supremacy) สภาจะออกกฎหมายอะไรเช่นให้ช้างออกลูกเป็นลิงก็ได้ หลักศีลธรรมสำคัญน้อยกว่าสิทธิและหลักความเท่าเทียมกัน ปัจจุบันอังกฤษยอมรับให้สภาถูกตรวจสอบโดยตุลาการได้ แต่พรรคเพื่อไทยยังไม่ยินยอม (จึงเชื่อว่าตัวเองออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอยได้) อย่างไรก็ตาม มีประชาธิปไตยกระแสหลังๆ (ซึ่งมีนักคิดตั้งแต่ John Locke, John Rawls, Isaiah Berlin, Joseph Raz, Ronald Dworkin, John Gray ฯลฯ) ที่เรียกว่าเสรีนิยมแบบพหุนิยม มองว่าโลกที่เป็นจริงมีความหลากแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต ซึ่งจะลดทอนให้เหลือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดำรงอยู่ด้วยกัน (Modus Vivendi) ต้องยึดหลักอดทนอดกลั้น (toleration) ซึ่งกันและกัน และบางครั้งสิทธิก็ขัดแย้งกันเอง สิทธิรัฐกับบุคคลขัดแย้งกัน ความเท่าเทียมกันกับเสรีภาพก็ขัดแย้งกัน เช่น คนรวยจะอ้างความเท่าเทียมกันเสียภาษีเท่าคนจนไม่ได้ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง สตรีทั่วโลกเพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้เมื่อไม่นานมานี้ คนชนชาติส่วนน้อยหลายกลุ่มในทุกประเทศยังไม่สามารถอ้างสิทธิเพื่อมีโรงเรียนสอนภาษาของตัวเองได้ รถบรรทุกรถใหญ่ต้องวิ่งเลนซ้ายสุด ในประเทศไทยในวันสำคัญของศาสนาพุทธมีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คนที่มีความเชื่ออื่นจะอ้างสิทธิความเท่าเทียมกันก็ไม่ได้ เป็นต้น
2. มวลมหาประชาชนมองปัญหาได้ลึกกว่ายิ่งลักษณ์ เพื่อไทย พวกเขาแยกชีวิตการเมืองของเขาเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือ กลไกการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาล และระดับแก่นซึ่งเป็นชีวิตหรือจิตวิญญาณของการเมืองทั้งหมด คือตัวประชาชนรวมกับประเทศหรือรัฐ พวกเขามองว่าในโลกความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนเกิดมาในรัฐหรือประชาคมที่มีวิถีประวัติศาสตร์ ความคิดความเชื่อที่มีมาก่อน ถ้ารัฐหรือประชาคมทำงานได้ดีก็จะช่วยค้ำประกันเคารพต่อชีวิตทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพ ความคิด ศรัทธา ความรู้สึก ของพวกเขาได้ แต่ถ้ารัฐต้องพังทลายจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดมากกว่าปัญหาอื่นๆ พวกเขาจึงต้องการปฏิรูปในตัวระบบรัฐหรือโครงสร้างของรัฐ ซึ่งพวกเขาไม่อาจเชื่อถือเพื่อไทย ซึ่งผลักดันนิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อเอื้อต่อนักการเมืองโกงใช้อำนาจไม่ชอบ พวกเขาไม่อาจเชื่อนักคิดนักวิชาการเพื่อไทยที่มาย้ำเรื่องการเลือกตั้งและการปฏิรูปกฎหมายในปัจจุบัน เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเพื่อไทยปฏิรูปประเทศจริงจัง เกือบไม่เคยเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านอำนาจ ศักดิ์ศรี รายได้ ให้แก่มวลชนรากหญ้าเลย
สังเกตการชุมนุมของ “มวลมหาประชาชน” ที่ผ่านมาเชื่อได้ว่า จะไม่มีคนกลุ่มใดอ้างหลักความเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิเลือกตั้งไปเปลี่ยนใจ “มวลมหาประชาชน” ที่จะใช้สิทธิรักษาทรัพย์สิน ชีวิตตัวเองและลูกหลานจากภัยคุกคามของการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจข่มเหงรังแกโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยได้ ถ้าการต่อสู้ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ พวกเขาอาจถูกผลักดันให้ยินยอมพิจารณาตัวเองเสมือนเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย เหมือนชาวเขา ชาวเล เป็นเผ่าพันธุ์ใหม่ของไทยไม่เอาคนโกง ที่ยินดีต่อสู้ด้วยสันติวิธีไปชั่วชีวิตจนถึงรุ่นลูกหลาน เพื่อสิทธิที่จะอยู่ในสภาพศีลธรรมอันดีที่มีการเข้มงวดกับการโกงกินจริงจัง อยู่ในสังคมที่แยกความดีความชั่ว (ไม่ใช่แยกผู้ดี-ชาวบ้าน) ได้ ดังพุทธวจนะว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม 2 ประการนี้ย่อมคุ้มครองโลก ถ้าหากสุกกธรรม 2 ประการนี้ (คือ การละอาย การเกรงกลัวต่อบาป) ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ ในโลกนี้จะไม่พึงปรากฏคำว่า มารดา พี่ป้าน้าอา สามีภรรยา ครูอาจารย์ ฯ ชาวโลกจักปะปนกันเหมือนอย่าง แพะแกะ ไก่ สุกรและสุนัข (เพราะ) ธรรม 2 ประการนี้คุ้มครองโลกอยู่ จึงยังปรากฏคำว่า มารดา พี่ป้าน้าอา ครูอาจารย์ ฯ”
3. ต่อประเด็น “1 คน 1 เสียง” และ “Respect My Vote” มีคำอธิบายดังนี้คือ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นหลักการที่ต้องเคารพจะละเมิดไม่ได้ หลักสิทธิเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง ก็เป็นหลักที่จะละเมิดไม่ได้เช่นกัน แต่เมื่อไรก็ตามที่รัฐบาลที่ถูกเลือกโกงกินก็ย่อมถูกปลดหรือล้มล้างได้ และถ้าหากระบบการเมืองเลวร้ายจริงๆ และเรายึดหลักเคารพความต่าง การที่มวลมหาประชาชนจะประกาศคัดค้านการเลือกตั้งก็เป็นสิทธิ ถ้าจะรณรงค์ให้คน Vote No หรือไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เป็นสิทธิเช่นกัน แต่ถ้าบางส่วนอดทนไม่ไหวต่อความเลวของนักการเมืองโดยรวมทั้งหมด ถึงขั้นออกมาขัดขวางไม่ให้คนไปเลือกตั้งก็ย่อมทำได้ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทำเป็นการละเมิดกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามย้อนกลับเช่นกันว่า ท่านเอง “Do you respect your vote?” “Have you respected your vote?” หรือไม่ เพราะตลอด 2 ปี ทักษิณเป็นผู้ใช้อำนาจแทนท่าน เป็นผู้บงการรัฐบาลของท่านอย่างเปิดเผย ดังคำสัมภาษณ์อย่างเปิดเผยของประธานสภา รมต. ส.ส. แกนนำเสื้อแดง นปช. ฯ รวมทั้งการคอร์รัปชั่นมโหฬารในโครงการจำนำข้าว แต่ท่านไม่เคยออกมาแสดงความเคารพต่อสิทธิของท่านเองเลย
4. เมื่อการคัดคานกันของการใช้อำนาจอธิปัตย์ได้ลดระดับลงมาถึงระดับประชาชน ข้อดีก็คือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนระดับชาวบ้านได้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง ข้อที่น่ากังวลคือ จะมีการขยายวาทกรรมเรื่องคนจนโง่ไม่เข้าใจประชาธิปไตย ที่จริงประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ฐานะจน-รวย เพราะหัวใจของประชาธิปไตยคือการที่บุคคลจะเชื่อมั่นสิทธิอำนาจ ความรับผิดชอบต่อตัวเองและต่อส่วนรวม รวมทั้งเคารพสิทธิเช่นนี้ของคนอื่นๆ จนแล้วไม่ทำก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย รวยแล้วไม่ทำก็ไม่ใช่เช่นกัน ควรเลิกความคิดผิดๆ เพื่อช่วยลดความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น
คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจประชาธิปไตยไม่ทะลุปรุโปร่งนัก เพราะประชาธิปไตยจริงๆ เกิดจากประวัติศาสตร์ที่มีการต่อสู้จนมีการเปลี่ยนแปลงภายในตัวตนของคนในแง่ความเชื่อความคิด คนตะวันตกใช้เวลาเป็นศตวรรษเปลี่ยนความคิดเรื่องอำนาจในสังคม ให้เปลี่ยนจากอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์มาเป็นอำนาจของประชาชน จึงเกิดคำ The People หรือประชาชน แทนคำไพร่หรือข้าของกษัตริย์ (subject) คนตะวันตกจึงเชื่อมั่นอำนาจตัวเองมากกว่าคนไทยเรา ที่ยังมองเป็นผู้น้อย เป็นประชาชนตาดำๆ เป็นคนทุกข์ เกรงอำนาจเกรงใจผู้ใหญ่หรือเจ้านายขุนนาง ไม่เกิดความคิดเรื่องความเท่าเทียมกัน ความเป็นคนที่มีอำนาจ มีความหมาย มีความสำคัญด้วยตัวเองเลย สิทธิ (Right) ของฝรั่ง หมายถึง การทำให้ตรงและความถูกต้องด้วย แต่ของเราหมายถึงความสำเร็จผลจากบุคคลหรือการกระทำพิเศษ คนไทยจึงไม่เข้าใจเรื่องตนเองมีสิทธิ เข้าใจเพียงแต่ว่าตนเองอยากมีเสียงไว้ร้องทุกข์หรือมีเสียงในสังคม
อีกประเด็นคือการดูถูกระหว่างเชื้อชาติหรือชนชั้น มีการเรียกร้องให้แก้ไขมานานแล้ว ในอดีตคนจนเป็นบ่าวไพร่ที่ไร้อำนาจ ในช่วงสมัยใหม่ขึ้นมาก็ยังมีความคิดแบ่งแยกที่ถ่ายทอดจากบ้าน โรงเรียน ว่าคนจนเป็นปัญหาสังคม คนรวยเป็นผู้ช่วยเหลือเจือจานสังคมและคนจน ซึ่งเป็นพวกไร้การศึกษา โง่ ขี้เกียจ อีกนัยหนึ่งคนจนเป็นแหล่งของปัญหาหรือความด้อยกว่าในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2500-2530 สังคมไทยยอมรับตัวตน วัฒนธรรมของชาวบ้านในด้านบวกเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมองเป็นวัฒนธรรมบ้านๆ เช่น อาหารอีสาน เพลงลูกทุ่ง เซิ้งหมอลำ ช่วงถัดมาช่องว่างทางอัตลักษณ์ลดลง เพราะบทบาทและตัวตนของชาวบ้านในภาคอุตสาหกรรม การบริการ วงการบันเทิง ท่องเที่ยว ฯ มีมากขึ้น จนเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ดังปรากฏในช่วงสงกรานต์ที่ทุกอย่างต้องหยุดหมด ซึ่งปรากฏตั้งแต่ปี 2532 อีกมุมหนึ่งความหลากหลายของวิถีชีวิต (lifestyle) การเสพวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ โลกออนไลน์ และสังคมสื่อสาร วัฒนธรรมฟิวชั่น ก็ทำให้ผู้คนสนใจเรื่องความต่างทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรมสูง-ต่ำ และแสดงออกซึ่งการดูถูกดูหมิ่นน้อยลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีดำรงอยู่ ซึ่งต้องตำหนิประณามคนที่กระทำเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ของมวลมหาประชาชนเป็นชนชั้นกลางในเมือง แต่ก็มีชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากเกือบทุกจังหวัดเช่นกัน การที่มวลชนนกหวีดลุกขึ้นมาสู้แบบไม่ยอมถอยไม่ใช่เพราะอคติต่อชาวบ้านชนบท แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบตัวพวกเขาโดยตรง ความกังวลเรื่องการขยายตัวอย่างไร้การควบคุมของการคอร์รัปชั่น และโอกาสล่มสลายของสังคมไทยโดยรวมทั้งหมดดังกล่าวมาแล้ว
วิกฤติจะจบลงอย่างไร
สันติภิวัฒน์หรือจะก้าวสู่ระบอบทักษิณโดยสมบูรณ์
1. การแก้ไขวิกฤติ วิเคราะห์ผ่านการตระหนักอำนาจสูงสุดของประชาชน
ปกติอำนาจอธิปัตย์หมายถึงอำนาจสูงสุดซึ่งไม่อาจมีผู้โต้แย้งได้ มีผู้ใช้ เช่น ประมุขประเทศ ประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ตามหลักประชาธิปไตยอำนาจนี้มีที่มาสุดท้ายจากประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงมีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง ซึ่งก็คือการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปัตย์ที่เท่าเทียมกัน ประชาชนแต่ละคนใช้อำนาจอธิปไตยของตนมาตกลง (contract) เพื่อสถาปนา (constitute) รัฐให้มีฝ่ายต่างๆ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเหมาะสมพอดี (prudent) มี trust หรือการเชื่อมั่นไว้วางใจร่วมกัน ถ้ามีฝ่ายใดละเมิดความไว้วางใจนี้สัญญาประชาคมก็ถือเป็นโมฆะ สมาชิกสามารถขับไล่ล้มล้างผู้ปกครองที่ใช้อำนาจไม่ชอบได้ (ดู Locke บิดาประชาธิปไตยของอังกฤษ, The second treatise of government, 1998, ข้อ 136, 139, 142, 167)
ปัญหาการเมืองทั้งหมด เช่น การประท้วง ขบถ ปฏิวัติ รัฐประหาร หรือเลือกตั้ง ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจตัดสินสูงสุดของประชาชนทั้งสิ้น อารยะขัดขืนก็คือการที่สมาชิกประชาคมบางส่วนไม่สามารถยอมรับนโยบายรัฐ จึงใช้อำนาจอธิปไตยของตนแข็งขืนโดยสงบ โดยสันติวิธี ไปจนถึงขั้นการไม่ยอมรับข้อตกลงกับเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งมวลมหาประชาชนกำลังอ้างการทวงคืนอำนาจอธิปไตยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการปฏิวัติโดยสันติหรือ “สันติภิวัฒน์” ซึ่งถ้าเขาพ่ายแพ้อาจทำให้เขาเสียสิทธิด้านต่างๆ ของการเป็นพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นชีวิตเปล่าๆ ที่รัฐหรือเสียงส่วนใหญ่จะจำคุกลงโทษประหารชีวิตก็ได้ แต่พวกเขาก็ยอมเพื่อประกาศความคิด การต่อสู้ และแบบวิถีชีวิตที่ดีงามที่พวกเขาเชื่อมั่น ดังคำปราศรัยของ เนลสัน แมนเดลา ปราศรัยต่อหน้าศาลสูง “ผมพร้อมจะตาย” หรือคำปราศรัย I have a dream ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ในปี 1963
“จะเป็นอันตรายในระดับเป็นตาย ถ้าประเทศนี้ยังมองข้ามภาวะฉุกเฉินของสถานการณ์ ฤดูร้อนอันระอุด้วยความไม่พอใจของชาวนิโกรเราจะไม่ผ่านพ้นไปจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมกันจะมาถึง ...(นี่)ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น คนที่หวังว่าพวกเราจะอ่อนล้า พึงพอใจง่ายๆ และหวนกลับไปสู่ภาวะปกติธรรมดา จะตระหนักด้วยความคาดไม่ถึงว่า จะไม่มีการหยุดพักหรือความสงบในอเมริกา จนกว่าชาวนิโกรจะได้มาซึ่งสิทธิพลเมืองของพวกเขา ลมพายุแห่งการปฏิวัติจะสั่นคลอนรากฐานของชาติเราไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ส่องสว่างด้วยแสงแห่งความยุติธรรมบังเกิดขึ้น”
บางครั้งก็เกิดอารยะขัดขืนซึ่งก็คือการคัดง้างระหว่างอำนาจอธิปัตย์นี้ ก็เกิดระหว่างองค์อธิปัตย์ในระดับต่างๆ เมื่อแต่ละอำนาจต่างไม่ยอมกัน ต้องมีอำนาจอธิปัตย์อื่นเข้ามาคลี่คลายการคัดง้างนี้ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาคม 2535 พระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยคลี่คลายวิกฤติไปได้ ในออสเตรเลีย แคนาดา มีการคัดง้างอำนาจกันระหว่างพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้านบ้าง ระหว่างมลรัฐบ้าง จนศาลหรือข้าหลวงใหญ่ (ซึ่งเป็นตัวแทนของพระราชินีอังกฤษ) ต้องเข้าแทรกแซงหลายครั้ง ในอเมริกามีความขัดแย้งรัฐต่อรัฐ และระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐ บางครั้งศาลช่วยหาข้อตกลงได้ บางครั้งก็เกิดเป็นสงครามกลางเมืองใหญ่ (1861-1865) ในมาเลเซียศาลสูงเคยพยายามเข้าคานอำนาจรัฐบาลของกลุ่มพรรคร่วม UMNO ในปี 1988 แต่ไม่สำเร็จถูกลดอำนาจลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ในปากีสถานศาลสูงมีปัญหาคัดง้างกับผู้นำทหารมาตลอด 60 กว่าปี ผู้พิพากษาที่ยอมสาบานตนรับรองรัฐธรรมนูญชั่วคราวของทหารจะได้ทำงานต่อ แต่ผู้คัดค้านมักถูกบังคับให้ออกหรือจับกุมตัว จนถึงปี 2009 ขบวนนักกฎหมายเพื่อฟื้นฟูระบบยุติธรรมได้จัดการนั่งประท้วงและเดินทางไกลเพื่อประท้วงรัฐบาลทหาร จนรัฐบาลต้องยอมแต่งตั้งผู้พิพากษาที่ถูกขับออกโดยไม่ชอบธรรม จากนั้นศาลสูงในปากีสถานก็ได้มีบทบาทตรวจสอบคอร์รัปชั่นและอำนาจไม่ชอบของนักการเมืองมากขึ้น
2. ความเป็นไปได้ของการคลี่คลายวิกฤติด้านนี้ 2 แนวทางใหญ่ แต่หลายแนวทางย่อย คือ
(1) ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ไม่แคร์เรื่องการคอร์รัปชั่น การเปลี่ยนกลับไปมาของเพื่อไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะรักษาการไปจนถึงการเลือกตั้งใหม่และได้กลับมาเป็นอำนาจอธิปัตย์อีกครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่ระบอบทักษิณโดยสมบูรณ์ และจะไม่มีการปฏิรูปที่เป็นจริงใดๆ เกิดขึ้น
(2) มีการเปลี่ยนแปลงในระดับ “การปฏิวัติ” ซึ่งยังแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ (1) มีการปฏิวัติโดยประชาชนขนานใหญ่ (great revolution) เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย จีน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อเปลี่ยนอำนาจ โครงสร้าง ความคิด มีการเสียเลือดเนื้อสูง เมืองไทยไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเพราะมีกองทัพซึ่งเหนียวแน่นอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่กองเดียว รวมทั้งสังคมไทยก็ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากให้มีการปะทะโดยการใช้กำลัง (2) การปฏิวัติแบบใหม่ คือ “สันติภิวัฒน์” ขณะนี้คนส่วนใหญ่ของสังคมวิชาชีพต่างๆ ภาคเอกชน ข้าราชการ ทหาร นักวิชาการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมกร ชาวนา ชาวบ้านร้านตลาด รากหญ้าทุกจังหวัด (ซึ่งเป็นไปได้ถ้ามีนโยบายดีๆ) จนเป็นฉันทามติหรือประชามติกดดันให้เกิดการแก้กฎหมาย เปลี่ยนโครงสร้าง ทำลายห่วงโซ่ที่เป็นปมปัญหา ทั้งนี้ยอมรับว่าการปฏิวัติทุกประเทศไม่ใช่เสียงทั้งหมดของประชาชน แต่เป็นเสียงของประชาชนมากที่สุดที่จะเป็นได้ และทำไปเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ดังที่เกิดกับการปฏิวัติประชาธิปไตยส่วนใหญ่ (3) ทหารรัฐประหาร สถาปนาตัวเองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งปกติเป็นชนชั้นนำขึ้นเป็นอำนาจอธิปัตย์แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะไม่แก้ปัญหาเพราะไม่เคยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใดๆ ได้เลย ถ้าเกิดครั้งนี้ในแบบเดิมๆ ก็อาจถูกคัดค้านทั้งจากฝ่ายมวลมหาประชาชนและกลุ่มเสื้อแดง
3. โอกาสที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะชนะมีน้อยมาก เพราะ (ก) ระบอบทักษิณเริ่มเสื่อมลง เพราะการกลับกลอกผิดคำพูดครั้งแล้วครั้งเล่า แม้แต่กับผู้สนับสนุน (ข) ประชานิยมของทักษิณเป็น “ประชาซาเล้ง” ซึ่งมี 3 ระดับ ต้นน้ำ คือ แกนนำ ได้ประโยชน์หลักจากตัวโครงการต่างๆ กลางน้ำ คือ รุ่นลิ่วล้อทักษิณ ขโมยตัดเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง สายไฟ ของโครงการเอาไปขาย ปลายน้ำ คือ ชาวบ้านรากหญ้า ได้เพียงเศษเหล็กเศษพลาสติกที่เหลือใส่ซาเล้งถีบไปขาย ประเทศจะได้เพียงซากของโครงการ (ค) วิกฤติครั้งนี้ทักษิณต้องอาศัยนักวิชาการ แกนนำเสื้อแดง นปช. ส.ส. อย่างขาดไม่ได้ โครงสร้างอำนาจของเพื่อไทยในอนาคตจะเปลี่ยนไป จำเป็นต้องแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น
4. มวลมหาประชาชนก็อาจไม่ได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ก. การปฏิรูปโครงสร้างที่เลวร้ายและวางรากฐานใหม่ให้ประเทศเป็นเรื่องยาก ใช้เวลา กลุ่มธุรกิจใหญ่และชนชั้นนำเมืองไทยรู้ดี พวกเขาไม่เชื่อว่าจะมีใครทำได้ จึงไม่เชื่อหรือศรัทธาพลังประชาชน
ข. มวลมหาประชาชนจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมไทย เพราะคนเหล่านั้นไม่มีความกล้าพอจะเป็นผู้นำหรือริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิรูปหรือปฏิวัติด้วยตัวเอง แต่ทุกครั้งจะรอให้ (1) ประชาชนลุกขึ้นสู้จนเกิดความรุนแรง (2) ทหารเข้ายึดอำนาจ (3) พระมหากษัตริย์ออกมาใช้อำนาจอธิปัตย์คลี่คลายสถานการณ์
4) กลุ่มชนชั้นนำได้รับแต่งตั้งขึ้นบริหารประเทศ ในปัจจุบันงาน 3 ส่วนแรกจะถูกตำหนิประณามง่ายๆ ว่า ไม่เป็น “ประชาธิปไตย” ไม่ “เคารพกติกา” ส่วนงานสุดท้ายจะเป็นงานที่มีเกียรติ
ค. มวลมหาประชาชนประสบความสำเร็จเกินคาดจาก 3 ปัจจัยคือ (1) พลังทางความคิดที่กินใจคนไทย ที่จะขุดรากเหง้าการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของเพื่อไทย (2) มวลชนจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ออกมาสนับสนุน (3) แนวทางสันติวิธี เป็นพลังทางศีลธรรมคุณธรรมที่สำคัญที่สุด
ปัญหาคือจะรักษาการชุมนุมขนาดใหญ่ซึ่งใช้พลังกาย พลังใจ พลังวัตถุมหาศาลนี้ได้อย่างไร การชุมนุมที่ยืดเยื้อมากขึ้นจะมีโอกาสเกิดความรุนแรง ทั้งจากการกระทบกระทั่งกันกับฝ่ายไม่เห็นด้วย และจากภายในกลุ่มตัวเองที่ต้องการยกระดับการต่อสู้ (ซึ่งเป็นภาวะธรรมชาติ เพราะการประท้วงคือการเสียสละตัวเอง ทุ่มเทไปมากกลับไม่มีคนเห็นใจ จึงต้องเพิ่มระดับการเสียสละตัวเองขึ้นไปอีก เช่นหลายแห่งไปถึงขั้นการพลีชีพตัวเอง เช่น พระเวียดนาม พม่า จุดไฟเผาตัวเองประท้วง)
ข้อเสนอแนะคือ (1) มวลมหาประชาชนต้องใช้ความมุ่งมั่นแบบเหนือมนุษย์ยืนหยัดการต่อสู้อย่างสันติต่อไป ขยายผู้สนับสนุนจากชาวบ้าน ชาวรากหญ้าต่างจังหวัดมากขึ้น
(2) การปฏิวัติแบบฉันทามตินี้เป็นไปได้ถ้าตัวแทนของคนไทยทั้งหมดทั้งระดับนำและชาวบ้าน ออกมาประกาศตนร่วมปฏิรูปประเทศ โดยไม่คาดหวังตำแหน่งอำนาจหรือประโยชน์ใดๆ กปปส. สามารถประกาศอุดมคติที่ชัดเจนที่จะเป็นเพียงผู้กระตุ้น ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้นำการอภิวัฒน์ของประชาชน ไม่ต้องขอมีส่วนกำหนดโควตาของคณะกรรมการ หรือสมัชชา หรือสภาปฏิรูปของประชาชน ขอเพียงสิทธิที่จะจัดให้มีการตรวจสอบสาธารณะ (public hearing คล้ายกระบวนการเลือกผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐ) ของบุคคลที่อาสาจะเข้ามาปฏิรูปสร้างรากฐานใหญ่ให้ประเทศอย่างถูกต้องตามหลักสากล เพื่อตรวจสอบป้องกันไม่ให้พวกระบบเก่าแฝงเข้ามาทำลายกระบวนการปฏิรูปก็พอ กำหนดบทบาทตัวเองเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ที่ทรงพลัง ตรวจสอบการปฏิรูปอยู่ข้างๆ จะเป็นคุณูปการสูงสุดที่ประชาชนจะไม่มีวันลืม
(3) ขยายนโยบายซึ่ง กปปส. คิดได้ดีกว่าพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในอำนาจมา 2 ปีแล้ว คือการกระจายอำนาจที่แท้จริงไปให้คนต่างจังหวัด โดยแนวคิด “เลือกตั้งผู้ว่า” ทั่วประเทศ ขยายเน้นการปฏิรูปโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งอำนาจการจัดการตนเอง งบประมาณ การใช้ทรัพยากร การมีศักดิ์ศรี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา เทคโนโลยี ท้องถิ่น ที่ทัดเทียมกันมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ของการต่อสู้อาจเรียกเป็น “ทฤษฎีมะม่วงหล่น” คือใช้ความอดทนยาวนาน รอให้ “ผลไม้หล่นลงมาเอง” ซึ่งดูเป็นการเรียกร้องเกินขีดความสามารถของมนุษย์ แต่ถ้าเกิดขึ้นได้แม้แต่โลกทั้งโลกก็คงจะประหลาดใจและนับถือความมหัศจรรย์ของมวลมหาประชาชนไทย
ผมขอสนับสนุนและขอเป็นส่วนหนึ่งของการ “สันติภิวัฒน์” ของมวลมหาประชาชน