"ตัดสินใจเพื่อชาติ" 5 เสือ กกต.ให้เหตุผล"ยิ่งลักษณ์"เลื่อนเลือกตั้ง 2ก.พ.
พบ 5 เสือ กกต. ระบุในหนังสือลับถึงยิ่งลักษณ์ ทบทวนจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 "ตัดสินใจเพื่อชาติ" ในฐานะผู้นำที่พยายามหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองให้แก่ประเทศ สร้างความปรองดองในสังคมไทย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ส่อว่า อาจจะลุกลามบานปลาย ถึงขั้นการจลาจลขึ้น
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คนได้ลงนามในหนังสือลับ ด่วนที่สุด ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 2557 ออกไป เนื่องจากเห็นว่ามีข้อเท็จจริงหลายประการที่ชี้ให้เห็นว่า หากมีการจัดเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ. จะเกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งไม่แน่ใจว่า เมื่อเลือกตั้งไปแล้ว จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ เนื่องจาก ส.ส.ที่เลือกมา จะไม่ครบจำนวน 95% ตามที่รัฐธรรมกำหนด ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งไป ในสภาพการณ์แบบนี้ จะทำให้สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งอำนาจการพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้ง เป็นอำนาจของรัฐบาล สามารถกระทำได้โดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
(อ่านประกอบ:5เสือ"กกต."ลงนามหนังสือ"ลับ"ถึง"ยิ่งลักษณ์"พิจารณาเลื่อนเลือกตั้ง 2ก.พ.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในหนังสือที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คน ทำถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ระบุข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ คณะกรรมการการเลือกตั้งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรี จะได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางที่ได้กราบเรียนมานี้ เพื่อดำเนินการให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของชายไทยทุกคน สามารถมีทางออกจากสถานการณ์ที่วิกฤติที่สุดดังที่กำลังเผชิญอยู่นี้ และจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในฐานะที่เป็นผู้นำที่พยายามหาทางออกจากวิกฤตทางการเมืองให้แก่ประเทศชาติ และหาทางในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังได้ระบุข้อเสนอ จำนวน 2 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี ว่า 1. คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกตั้ง เห็นว่า การจัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ที่ได้ตราขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จะไม่สามารถดำเนินการให้ได้ผลการเลือกตั้งที่ครบถ้วนสมบูรณ์ได้ ทั้งนี้ เพราะนอกจากจะมีสถานการณ์ที่ส่อว่า อาจจะลุกลามบานปลาย ถึงขั้นการจลาจลขึ้นในขอบเขตระดับประเทศ ดังที่ได้กราบเรียนไว้ในเบื้องต้นแล้ว
หากพิจารณาจากผลการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ปรากฏว่ามีเขตเลือกตั้งจำนวนมากถึง 28 เขต เลือกตั้งไม่สามารถรับสมัครรับเลือกตั้งได้แล้ว การเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งอื่นๆ ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งไปจนเสร็จสิ้น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แม้จะมีจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งครบจำนวน เท่าที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และนับรวมกับผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมดจากการเลือกตั้งในวันดังกล่าว ก็ยังจะมีไม่ถึงร้อยละ เก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด อันจะถือว่าสามารถประกอบกันขึ้นเป็นสภาผู้แทนราษฎร อันจะเรียกประชุมกันครั้งแรก ได้ตามบทบัญญัติ มาตรา 97 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่อย่างใด เพราะยังขาดสมาชิกจากเขตเลือกตั้งอีกถึง 28 เขต จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีอยู่ห้าร้อยคนตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาในกรณีของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อด้วยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากมีหน่วยเลือกตั้งใดในจำนวน 99,000 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ มีปัญหาในการลงคะแนนก็อาจเกิดปัญหาในการนับรวมคะแนนทั้งเขตประเทศเพื่อคิดสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันจะส่งผลให้ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่ออีกจำนวน 125 คนได้
ข้อ 2 โดยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงใคร่ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาจัดทำปัญหาข้อขัดข้องทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด เสนอต่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความเห็นในข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งในครั้งนี้ และแสวงหาลู่ทางเจรจาตกลงและทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ยอมรับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ และเพื่อไม่ให้งบประมาณจำนวน 3,800 ล้านบาท อันเป็นเงินแผ่นดินที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ต้องสูญไป
ทั้งนี้ กกต. ระบุว่า ข้อเสนอทั้ง 2 ดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 จึงมีมติให้กราบเรียนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกราบบังคมทูล และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชองค์การในการตราพระกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ตามความในมาตรา 108 ประกอบมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550