'เสกสรรค์' ชี้เลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสู่ปฏิรูป (มีคลิป)
เสกสรรค์ ชี้เวลานี้สังคมไทยกำลังเดินอยู่บนปากกล่องภูเขาไฟ จำเป็นต้องมีสติ-ปัญญา ถอยห่างออกจากสถานการณ์อันตราย เชื่อวิธีการนอกกรอบปชต.สร้างฉันทามติไม่ได้
นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักคิด นักเขียน และในฐานะอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม กล่าวในงานแถลงการณ์ "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตอนหนึ่งว่า ในฐานะสมาชิกของสังคม ตนมีความต้องการเห็นบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้น หากมีสถานการณ์ที่จะทำให้สังคมไทยไม่สามารถรักษาความปรารถนาของสมรรถนะนี้ไว้ได้ ก็รู้สึกว่าจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมแสดงจุดยืน ตามฐานานุรูปของผู้สูงวัยคนหนึ่ง
"ผมคิดว่าความต้องการที่จะยกระดับสังคมเป็นเส้นทางปกติของมนุษย์ ที่ผ่านมาในอดีตเราพยายามปรับปรุงสังคมอยู่เป็นระยะๆ อาจใช้คำว่า ปฏิรูปสังคม มาเป็นเช่นนี้นับร้อย นับพันปีที่ผ่านมา ฉะนั้น การที่มีกระแสปฏิรูปเกิดขึ้นในเวลานี้ จริงๆ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นเรื่องดีที่ควรต้องต้องยอมรับ เพราะบ่งบอกว่าสังคมของเราต้องการปรับสมดุลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการดึงสังคมออกจากแนวโน้มเชิงลบ ก้าวสู่แนวโน้มเชิงบวก เพื่อให้เข้าใกล้จุดหมายความอยู่เย็นเป็นสุขและความเจริญรุ่งเรืองเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง"
นายเสกสรรค์ กล่าวถึงการปฏิรูปมีทั้งเรื่องวิธีการและเนื้อหาสาระ ส่วนที่ว่าทำไมต้องปฏิรูปในกรอบระบอบประชาธิปไตยนั้น ด้วยเพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นผลพวงของการปฏิรูปสังคมที่ผ่านมาในอดีต องค์ประกอบต่างๆ ของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง หรือการมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็เป็นผลพวงของการปฏิรูปที่ผ่านมาในอดีตที่มาจากความพยายาม กระทั่งเสียเลือดเนื้อ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ฉะนั้น ต้องยอมรับว่า นี่เป็นต้นทุนที่มีอยู่แล้วที่จะใช้ยกระดับสังคมของเรา
"ยิ่งในเวลานี้ ความจำเป็นที่ต้องใช้ประชาธิปไตยเป็นอุปกรณ์สำคัญ เพื่อยกระดับสังคมไปสู่ความเจริญรุดหน้ามากว่าแต่ก่อน เพราะสังคมไทยได้พัฒนามาถึงจุดที่มีความหลากหลาย ทั้งในด้านผลประโยชน์และความคิดเห็น และเป็นเรื่องลำบากที่จะพูดถึงความต้องการของคนทั้งประเทศ ในลักษณะกลุ่มก่อนเดียว หรือเป็นคนที่คิดเหมือนกันหมดทั้งประเทศ"
นายเสกสรรค์ กล่าวถึงการต้องรับฟังประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงสำคัญ ที่จะสรรหาประเด็นสาระของการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่า การปฏิรูปประเทศเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดำรงอยู่ นั่นหมายความว่า มีคนที่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านบวก และด้านลบ
"คนที่ได้เปรียบมากเกินไป ต้องลดฐานะได้เปรียบลง คนที่เสียเปรียบก็จะได้รับการยกระดับมาสู่ฐานะที่อำนาจต่อรองมากขึ้น พูดง่ายๆ ว่า มีความขัดแย้งอยู่ทุกขั้นตอนที่จะต้องสะสางในกระบวนการปฏิรูปสังคม ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาหรือเรื่องอื่นๆ
ผมคิดว่า การจะปรับปรุงสังคมครั้งใหญ่อีกครั้ง จึงจำเป็นต้องระมัดระวัง คงไม่สามารถใช้วิธีการนอกกรอบประชาธิปไตยได้ เพราะจะเป็นวิธีการที่สร้างฉันทามติไม่ได้ และจะนำไปสู่การกระทบกระทั่ง ที่แม้จะเกิดจากความหวังดี แต่จะได้ไม่คุ้มเสีย"
นายเสกสรรค์ ยกตัวอย่าง คนประกอบธุรกิจว่าอาจมีประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ หรือคนที่เป็นนักลงทุน อาจจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภาครัฐ แต่คนที่เป็นกรรมกรอาจมีเรื่องพฤติกรรมของนายทุนที่ต้องการปฏิรูปก็ได้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงเกษตรกรที่มีฐานะเสียเปรียบในสังคมไทย ซึ่งอาจต้องการปฏิรูปที่ดิน ประกันรายได้
"จำเป็นต้องมีกระบวนการที่จะค้นหาฉันทามติในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งในแง่นี้ การเลือกตั้งเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะเราจำเป็นต้องอาศัย ทั้งส่วนภาครัฐ ภาคสังคมมาทำงานประสานกัน เพื่อให้ได้การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ในกรณีเช่นนี้ อันดับแรก ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการให้เกิดกระบวนการ สมควรได้รับฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่การมอบอำนาจให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปทำเรื่องการปฏิรูป"
นายเสกสรรค์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สังคมได้เดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถคิดถึงการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงมาเพียงข้างเดียว จำเป็นต้องรับฟังคนจากข้างล่างขึ้นไป โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ขานรับ และนำไปปฏิบัติให้ปรากฏเป็นจริง ที่จริงการปฏิรูปโดยรูปธรรม ต้องมีการยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ตรากฎหมายใหม่หลายฉบับ สิ่งเหล่านี้จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ ต่อการสร้างความขัดแย้งเพิ่ม
ฉะนั้น เรื่องนี้จึงโยงมาถึง ประเด็นความรุนแรง และประเด็นของการรัฐประหาร ในเมื่อกระบวนการปฏิรูป จำเป็นต้องอาศัยกรอบประชาธิปไตย กระบวนการปฏิรูป จำเป็นที่จะต้องปราศจากความรุนแรงมารบกวน ปราศจาก กระบนการนอกระบบ ที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย
"ผมคิดว่าในเวลานี้สังคมไทยของเรากำลังเดินอยู่บนปากกล่องภูเขาไฟ เราจำเป็นต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตนเองผลัดตกลงไป ในหล่มหลุมที่ไม่อาจกลับคืนมา สิ่งที่ต้องฝากความหวังไว้เพียงอย่างเดียวคือ สติและปัญญา ที่จะถอยห่างออกจากสถานการณ์อันตรายเหล่านี้ เพราะในเวลานี้สภาพของบ้านเมือง เหมือนกับว่ากลไกของรัฐไปคนละทิศละทาง ประชาชนทั่วๆ ไป รู้สึกว้าเหว่ เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง ซึ่งถ้าเลยขั้นนั้นไป ถึงขั้นประชาชนจะต้องป้องกันตัวเองก็เป็นเรื่องน่ากลัว"
กลับมาถึงจุดที่โต้แย้งอยู่ในสังคม นายเสกสรรค์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมใช้เหตุผลร้อยแปดพันเก้า มาเถียงกัน เพื่อบอกว่าความคิดตนถูกต้องกว่า ซึ่งตราบใดที่อยู่ในหลักเหตุผลก็ไม่เป็นไร แต่ละยุคสมัยมนุษยชาติมีจิตวิญญาณของตน เพื่อก้าวไปสู่ทิศทางใด ร้อยเหตุผลก็ไม่เท่าพลังของจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย โลกจะต้องหมุนไปสู่เสรีภาพ หมุนไปสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรม ถ้าจะขวางกฎเกณฑ์นี้ จะก่อให้เกิดภาวะที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นมามากมาย
|