นักวิชาการ เปิดผลวิจัยพบลงทุนเด็กปฐมวัยได้ผลกลับคืนถึง 7 เท่า
เปิดสถานการณ์เด็ก 1 ใน 3 โดยเฉพาะชนบท พัฒนาการล่าช้า ชี้รัฐลงทุนเด็กน้อยไป-ขาดคุณภาพ ตอกย้ำผลวิจัยย้ำชัดลงทุนเด็กปฐมวัยได้ผลกลับคืนถึง 7 เท่า แนะรัฐศึกษาจัดเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมจัดสัมมนา การพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยกับการคุ้มครองทางสังคม ณ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และที่ปรึกษาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา สสค. เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาปัจจุบันที่กระทบต่อการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยว่า การดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปี นับเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุดที่จะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
"จากผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (2542) พบว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง 7 เท่า นั่นคือ หากลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมถึง 7 บาท โดยพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ IQ และ EQ ที่ดีกว่า และมีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต"
สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พบว่า มีการลงทุนในเด็กปฐมวัยค่อนข้างน้อย เพียง 12% หรือเฉลี่ยต่อหัวคนละ 23,282 บาท /คน/ปี ขณะที่การลงทุนในกลุ่มประถมศึกษาสูงสุดถึง 37,194 บาท/คน/ปี คิดเป็น 54% ของงบประมาณการศึกษาทั้งหมด ตามด้วยมัธยมศึกษา 26,332 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็น 29% อาชีวศึกษา 5% หรือคนละ 24,933 บาท/ปี
หากเทียบกับการลงทุนของสากลนั้นระดับปฐมวัยอยู่ที่ 24% ประถมศึกษาอยู่ที่ 36% และมัธยมศึกษาอยู่ที่ 41% อย่างไรก็ตาม หากคำนวณจากเงินลงทุน 100 บาทในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนครู 71 บาท และงบพัฒนาตัวเด็กเพียง 11 บาท ที่เหลือเป็นงบบริหารและครุภัณฑ์
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการลงทุนในเด็กเล็กที่ขาดคุณภาพ ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3 - 5 ปี จะส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัยต่าง ๆ เช่น โรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปี 2554 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 19,718 แห่ง เด็กปฐมวัย 911,143 คน และครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก 51,193 คน กล่าวคือ ครู/ผู้ดูแลเด็ก 1 คน ต้องรับผิดชอบเด็กปฐมวัย 17 คน
"วันเด็กไม่ได้มีแค่วันเดียว แต่ต้องดูแลเด็กตั้งแต่เด็กคลอดออกมาโดยรัฐและท้องถิ่นควรลงทุนให้ถูกจุดและคุ้มค่าที่สุด โดยเริ่มลงทุนตั้งแต่เด็กเล็ก เพื่อสร้างรากฐานให้แก่เด็กและเยาวชนไทย แม้รัฐจะลงทุนด้านการศึกษามากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแต่คุณภาพการศึกษากลับแทบจะรั้งท้าย 10 ประเทศอาเซียน ดังนั้น จึงควรมุ่งเน้นพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)"
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวถึงกลุ่มขาดโอกาสเป็นกลุ่มที่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่สุด ในการเกิดปัญหาของเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ของครอบครัวน้อยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เชื่อมโยงไปกับเรื่องภาวะโภชนาการต่ำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มชนบท หรือกลุ่มที่อยู่ในภาคแรงงาน
"ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่โครงสร้างสังคมต้องให้ความช่วยเหลือด้วย นอกเหนือจากเรื่องการศึกษา สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของเด็กยังเกี่ยวพันกับเรื่องของสังคม ความเป็นอยู่ ความไม่เท่าเทียม ที่จะต้องเร่งแก้ไข"
พบ 1 ใน 3 เด็กเล็ก มีพัฒนาการล่าช้า
ขณะที่นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวถึงสถานการณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยที่มีอายะตั้งแต่ 0-5 ปี ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กปฐมวัยประมาณ 30% หรือ 1 ใน 3ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า ถึง 20% ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคม อีก 5% ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว
นพ.สุริยเดว กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาการล่าช้า มาจาก 3 สาเหตุคือ 1.ขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า โดยเฉพาะการไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้าและเกลือแร่ที่มีผลต่อสมอง 2.ปัจจัยการเลี้ยงดู โดยเฉพาะในครอบครัวเดี่ยวที่มีโอกาสการเลี้ยงดูลูกน้อย จะส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาเด็กอย่างมีคุณภาพ และ 3.การใช้สื่อโทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟน กับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรใช้วิธีเล่านิทานหรือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสแทน
"การดูแลเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพว่า ต้องเริ่มจาก เสริมพลังครอบครัว ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ จำกัดการใช้เทคโนโลยี พัฒนาระบบบริหารจัดการคลินิกสุขภาพเด็กที่มีการคัดกรองเด็กและจัดการในกรณีที่พบภาวะบกพร่องอย่างรวดเร็ว (early detection & early intervention) และมีระบบส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้มีคุณภาพ"
เสนอไทยให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร
ด้านนายแอนดรูว์ เคลย์โปล หัวหน้าแผนกวิเคราะห์นโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีบริการขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กและครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังมีเด็กจากครอบครัวยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการและพัฒนาการเด็ก ในหลายประเทศ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้มีการให้เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรแก่ประชาชนซึ่งผลที่ได้กลับมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่เด็กต้องการ สารอาหาร การศึกษาและได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
"เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรคือ หนทางที่ทำให้ครอบครัวยากจนสามารถจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรมุ่งพัฒนาความอยู่ดีกินดีของเด็ก และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ โดยศึกษาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ถึงอัตราที่เหมาะสม เช่น ควรจะอุดหนุนเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปีทั่วประเทศในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลใช้งบเดือนละกว่า 1.6 พันล้านบาท"