ความเห็นตุลาการ ศาลปค.สั่งกบอ.รับฟังโครงการน้ำ โมดูลเอ 1 - 6 และบี 1- 4
องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด สรุปกระบวนพิจารณาคดี แถลงความเห็นส่วนตัว ยังไม่กำหนดวันพิพากษาในคดี ด้าน 'สุพจน์ โตวิจักรชัยกุล' ชี้โครงการน้ำ เดินหน้าต่อไปหรือไม่ ต้องดูนโยบายรัฐบาลชุดใหม่
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวลา 9.30 น.ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อ.1103/2556 ครั้งแรก กรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ผู้ฟ้องที่ 1) และนางรตยา จันทรเทียร (ผู้ฟ้องที่ 2) กับพวกรวม 45 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.)(ผู้ถูกฟ้องที่ 3) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ผู้ถูกฟ้องที่ 4 ต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการนอกองค์คณะผู้แถลงคดี เสนอความเห็น ไม่รับคำขอให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ไว้พิจารณา
พร้อมกับยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 2 และ 3 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำแผนปฏิบัติการและดำเนินการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ได้แก่โมดูลเอ 1-6 และโมดูลบี1-4 ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ ข้อเสนอในการพิจารณาคดีของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่มีผลผูกมัดกับการพิจารณาตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และคำแถลงนี้จะถูกนำไปประกอบการพิจารณาคดีเท่านั้น
ภายหลังจะฟังแถลงของคณะตุลาการศาลปกครองเสร็จสิ้น นายสุพจน์ โตวิจักรชัยกุล เลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.) ในฐานะตัวแทนผู้ถูกฟ้องที่ 4 ได้เดินเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปอีกด้านหนึ่ง จากนั้นชี้แจงเพียงสั้นๆ ถึงโครงการน้ำว่า จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่จะต้องดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กบอ.ปฏิบัติอย่างไร ให้กลับไปจัดเวทีรับฟังความเห็นเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไรนั้น เราก็คงต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล เพราะหากไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าผิดกฎหมาย
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้เสนอข้อเท็จจริงเป็นครั้งสุดท้าย และได้ให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นส่วนตัว ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้าน คือการให้ กบอ.นำโครงการบริหารจัดการน้ำไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง
ส่วนเรื่องคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาตามความเห็นของตุลาการผู้แถลง คดีหรือไม่นั้น นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ก็คิดว่าภายในไม่กี่สัปดาห์ก็คงมีคำพิพากษาออกมา
“เชื่อมั่นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะสร้างบรรทัดฐานในเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยให้รัฐบาลต้องกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วน และต้องไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) เสียก่อน เพราะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาเป็นการกระทำภายหลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิจารณาไปแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงไม่รับประเด็นดังกล่าวไปพิจารณา”
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ศาลปกครองกลางสั่งให้มีการรับฟังความเห็นแต่กระบวนการรับฟังไม่ถูกต้อง ศาลก็น่าจะยืนตามศาลปกครองกลางคือให้กลับไปทำใหม่ แต่ศาลจะสั่งให้ไปทำต่อจากเดิมศาลคงไม่มีสิทธิสั่งแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะไม่สามารถก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหารได้ ซึ่งในขณะมีการรับฟังมากขึ้น จากเวทีแรกๆ เช่น ลำพูน ชัยนาท ซึ่งเราเห็นแล้วว่า ไม่ถูกต้องแนะนำให้ กบอ.ควรปรับปรุงการรับฟังความเห็น แต่เขาไม่ปรับ
ปธ.มูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวด้วยว่า จากการจัดเวทีที่ผ่านมาขณะนี้มีกระบวนการที่ถูกรวมเป็นเครือข่ายมีข้อมูลส่งถึงกันตลอดเวลา หากรัฐบาลจะเดินหน้าโดยไม่สนใจภาคประชาชน ไม่ดูระบบนิเวศน์ มีแต่โครงการเฉพาะจุด การจะยกอะไรขึ้นมาประชาชนก็จะมีความตื่นตัวกันมากขึ้น และจะมีวิธีการร่วมมือกับภาครัฐ เช่น การทำเวทีรับฟังความเห็นซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ3.5 แสนล้านบาทจะถูกขัดขวางแต่ไม่ใช่ความรุนแรง
“รัฐบาลควรยกเลิกโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ3.5แสนล้านบาท และมาดูว่า ต้องการแก้ปัญหาอะไรกันแน่ ต้องดูทุกมิติ จึงจะถือว่า นี่คือแผนการจัดการที่ควรจะเป็นให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือทำโครงการร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) โดยประชาชนทำตัวอย่างให้รัฐเห็นว่า แผนจริงๆเป็นแบบไหน แล้วนำเสนอไปยังรัฐบาล แต่หากรัฐบาลปฏิเสธไม่เอาเราก็ไม่ให้เข้าพื้นที่ และรัฐบาลเองจะเจอภาคประชาชนเข้ามาต่อต้าน”
ทั้งนี้ หากหลังการเลือกตั้งหากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแผน และยังกลับมาแล้วตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าเซ็นสัญญา 3.5 แสนล้านบาท นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เราจะฟ้องเป็นรายกรณี
ส่วนนายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา เดินทางมาร่วมฟังแถลงพิจารณาคดีนัดแรก กล่าวว่า ตัวอย่างของคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานในเรื่องของการวางหลักกฎหมายในการแยกการใช้อำนาจทางปกครองออกจากการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นนโยบายบริหารประเทศ โดยตุลากรได้อธิบายไว้และทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามการต่อสู้ยังคงอีกยาวไกลและจะมีอีกหลายตอน ดังนั้นกิจกรรมการให้ข้อมูลในท้องถิ่นที่จะมีโครงการเกิดขึ้นภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ3.5แสนล้านบาท ในภาคประชาชนจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แต่ละพื้นที่มีความเข้าใจในส่วนของโครงการและผลกระทบมากยิ่งขึ้น
หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านจังหวัดพิษณุโลก นางแน่งน้อย อัศวกิตติกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านไม่มีใครเชื่อใจรัฐบาลแล้วและคาดว่า คำตัดสินของศาลที่จะออก มาน่าจะเป็นการให้จัดทำประชาพิจารณ์ใหม่
(ชาวบ้านมอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้นายศรีสุวรรณ จรรยา )