จุดร่วมเพิ่มบทบาทภาคประชาชน กลไกใดที่ขาดหายไป
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 Eisenhower Fellowship Alumni (Thailand) จัดสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "ภาวะผู้นำและการเพิ่มบทบาทภาคประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศไทย" ภายในงานมีเสวนาแลกเปลี่ยน เรื่อง "เพิ่มบทบาทของภาคประชาชน : กลไกที่หายไป" โดยมี ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ ร่วมเสวนา ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมโฟร์ซีซั่น กรุงเทพฯ
สลายขั้วขัดแย้ง ถอยคนละก้าว เดินหน้าปฏิรูป
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงบทบาทภาคประชาชนในสถานการณ์ขณะนี้ และการเกิดขึ้นของมวลมหาประชาชน รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า เสมือนภาพซ้ำของเหตุการณ์เมื่อช่วงปี 2553 พร้อมกับมองว่า การเกิดขึ้นของมวลมหาประชาชนมาจากความไม่พอใจการใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้อง
"จุดที่ชัดเจนที่สุด คือกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นบทเรียนและการตั้งคำถามว่า...นี่คือประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า เหตุใดคนไม่กี่คนสามารถสั่งการได้"
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึง 'จุดร่วม' ที่มองว่ากลุ่มขัดแย้งมีความเห็นตรงกันนั่นคือ ความไม่พอใจในระบบประชาธิปไตย ไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นกลาง หรือมีอคติ ซึ่งทางออกของมวลชนทุกฝ่ายขณะนี้สนใจเพียงว่า 'แกนนำ' จะช่วยในสิ่งที่ตนคับข้องใจได้มากแค่ไหน
"ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ เช่นเดียวกับข้อเสนอที่ผ่านมาของ คอป.หรือของสถาบันพระปกเกล้าไม่มีคนอ่าน มีแต่คนดึงส่วนที่ตนเองอยากได้ยินมาพูด ส่วนที่ไม่ชอบก็ไม่พอใจ แต่กลับไม่มีใครคิดอย่างเป็นระบบ"
ดร.กิตติพงษ์ ระบุถึงข้อเสนอของ โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 5 ข้อที่ว่า
1.การปรองดองจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์
2.หากอดีตยังตกลงกันไม่ได้ ค้นหาความจริงยังไม่ได้ การไม่ลืมอดีต แต่มองอนาคตแทนก็เป็นสิ่งที่ดี
3.มีกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยหาจุดที่รับได้ร่วมกัน
4.แนวทางต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่แบบ voting แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบ thingking ด้วย
5.คนที่เป็นผู้นำปฏิรูป หรือผู้นำการปรองดอง หากเป็นคนที่ประชาชนเชื่อถือก็จะเป็นประโยชน์ ที่สำคัญจะมองข้ามภาคประชาชนไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อไปได้ ดร.กิตติพงษ์ มองว่า ต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมหา 'จุดร่วม' ให้ได้ เพราะหากหวังว่าผู้นำคู่ขัดแย้งจะเจรจากันได้นั้น แม้จะตกลงกันได้ ท้ายที่สุดผู้นำอาจไม่ได้สนใจฟังเสียงประชาชนด้วยซ้ำ
สำหรับจุดที่หวังได้ร่วมกันที่พบขณะนี้ คือการ 'ปฏิรูป' หากเป็นประเด็นความหวังที่ทุกกลุ่มเห็นร่วมกัน ก็ชูประเด็นนี้ขึ้นมา ยังไม่สายที่จะ...ฟังแกนนำน้อยลง แล้วกลับมาดูประโยชน์ของประเทศให้มากขึ้น
รวมถึงต้องมี ยุทธศาสตร์สลายขั้วขัดแย้ง แทนที่จะมุ่งฆ่ากัน มาทบทวนว่าเราฆ่ากันเพื่อใคร...
"แท้จริงแล้วสิ่งที่ขั้วขัดแย้งต้องการ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันใช่หรือไม่ คนใต้หรือคนอีสานก็ต่างมีปัญหา ความต้องการในเรื่องเดียวกัน แต่ไม่ได้มาคุยกัน ผมว่า ผู้นำทางความคิดระดับรองยังน่าจะพอมาคุยกันได้อยู่ เพราะผู้นำระดับสูงไม่แน่ใจว่า ยังคุยกันได้หรือเปล่า"
ดร.กิตติพงษ์ แสดงความเห็นการสลายขั้วที่นำไปสู่การคิดร่วมว่าจะเกิดขึ้นได้นั้น บทบาทประชาชนสำคัญที่สุด มวลชนต้องทบทวนว่า กว่า 10 ปีของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือจะมียุทธศาสตร์ที่ประชาชนร่วมขับเคลื่อนด้วยได้หรือไม่ ดังนั้น สำหรับคำว่า 'ผู้นำ' จากนี้สังคมไทยไม่ควรโหยหาผู้นำ ที่หมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวอีกต่อไป
วันนี้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ทำให้กลไกแบบเดิมที่เมื่อเลือกตั้งเสร็จ รอเลือกตั้งครั้งใหม่ กำลังถูกท้าทาย เพราะประชาชนได้รับข้อมูล มีความไม่พอใจ และอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น อาจมีผลต่อความหมายประชาธิปไตยใหม่ เพราะชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการมีส่วนร่วมเกิดมากขึ้น นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดกัน"
ปลัดกระทรวงยุติธรรม มองเห็นปรากฏการณ์ความไม่พอใจครั้งนี้ ที่นำมาสู่การเกิดมวลมหาประชาชน เป็นสิ่งที่อธิบายได้ เพราะไม่ได้เกิดที่ไทยที่เดียว มีหลายประเทศที่ลุกขึ้นต่อต้านการบริหารงานที่ไม่ชอบมาพากลของฝ่ายบริหาร เช่น ประเทศอินเดีย ดังนั้น ประชาธิปไตยที่ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบที่สมบูรณ์แบบ ประชาชนที่ยังไม่มีความเป็นพลเมืองที่เข้าใจจริงๆ จึงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ แต่จะอธิบายไม่ได้ หากนำไปสู่กลไกนอกประชาธิปไตย ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาจะไม่จบ
ส่วนทางออกระยะสั้น ดร.กิตติพงษ์ เห็นว่า หากทุกฝ่าย มีความจริงใจกับประเทศอย่างแท้จริง ควรมองถึงจุดที่เห็นตรงกันทุกฝ่าย ที่ว่าต้องการให้ประเทศดีขึ้น นั่นคือการปฏิรูปประเทศ ที่ไม่ว่าจะเป็น กปปส. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่ นปช.ต่างก็พูดเรื่องการปฏิรูป หากมีประเด็นที่เห็นร่วมกันเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่จะขับเคลื่อนจริง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่มีทางออกให้ทุกคน
"หากมีความจริงใจกับประเทศก็ต้องหันหน้ามาคุยกัน ถึงเวลาที่จะถอยคนละก้าว โดยมีเงื่อนไขว่า การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นจริงๆ ในเวลาอันใกล้นี้"
เลิกโหยหาผู้นำ-แกนนำ สร้างระบบคิดของทุกคน
ขณะที่นพ.บัญชา มองว่า ที่ผ่านมาสังคมให้ความสำคัญกับตัว 'ผู้นำ' ที่หมายถึง 'คนๆ เดียว' ทั้งที่ผู้นำไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรได้โดยลำพัง สังคมไทยที่โหยหาผู้นำ สร้างระบบที่ทำให้ผู้นำแข็งแรง ท้ายที่สุดผลเป็นอย่างไร..? จะเห็นว่าระบบคิด ระบบคุณค่าของ 'ทุกคน' ในสังคมขาด พร่องไป
"กลไกที่หายไปของประเทศ คือ กลไกภาคประชาชน เพราะโหยหาแต่ส่วนกลาง และตัวผู้นำ เห็นได้ชัดว่าเป็นเช่นนี้อย่างในกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ ก็รอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง มากระทั่งสถานการณ์การเมืองขณะนี้ก็ยังโหยหาแต่แกนนำฝั่งใครฝั่งมัน สังคมไทยมองแต่ระบบตัวแทนอย่างเป็นทางการ แต่ตัวแทนตามธรรมชาติหายหมด"
นพ.บัญชา อธิบายการเกิดขึ้นของมวลชนทั้งหลายว่า มาจากคนเล็กคนน้อยอยากมีบทบาท แต่ไม่มีพื้นที่จึงเกิดการถูกดึงเข้าพวก เข้าฝ่าย การปรับองคาพยพ ไม่ใช่แค่ตัวผู้นำฝ่าย แต่อาจต้องมีหน่วยเลี้ยง อย่างองค์กรภาคธุรกิจ ภาควิชาการ หรืออาสาสมัคร ดังนั้น เมื่อคนจำนวนมากพบกัน เกาะกลุ่ม รวมตัวกันได้ตามธรรมชาติ หากย้อนคิดนั่นหมายถึงการทำให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วม ที่ไม่ให้ถูกลากเข้าฝ่ายฝ่ายหนึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้
"ผมเห็นด้วยกับแนวความคิดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่พูดถึงการทำงานเป็นเครือข่ายฝ่าให้พ้นทวิลักษณ์ (สองลักษณะ, การแบ่งแยก) เพราะเชื่อว่า ในเหลืองมีแดง ในแดงมีเหลือง ดังนั้น ต้องสร้างกลไกเช่นนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้"
สร้างกลไกให้ ปชช.เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก
ด้านดร.วิรไท กล่าวถึงการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนว่า ต้องมอง 2 มิติที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถที่ประชาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น กลไก เครื่องมือ วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้ ความเต็มใจที่ภาคประชาชนต้องการมีส่วนร่วม กล้าแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ทั้ง 2 มิติขาดหายไป
ดร.วิรไท มองว่า การลุกขึ้นของประชาชนครั้งนี้ เนื่องจากตื่นรู้ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ตุรกี จีน และกัมพูชา เนื่องด้วยประชาชนเข้าถึงข้อมูล มีตัวกลางช่วยในการรับสารได้ดีขึ้น รวมถึงมีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นในสังคม ที่เมื่อมีฐานะดีขึ้น ความกล้าก็เพิ่มมากขึ้น
"แต่ด้วยวิถีชีวิตของชนชั้นกลางเป็นวิถีชีวิตที่ต้องแข่งขัน ให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อเจอการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการรั่วไหล หรือมีผู้นำที่ขาดหิริโอตัปปะ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกระบวนการต่อต้านขึ้น"
ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของภาคประชาชน ดร.วิรไท บอกว่า ยังเข้าถึงได้ไม่เพียงพอ อย่างกรณีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ระยะเวลาที่ต้องเปิดเผยภายในกี่วัน และหากไม่เปิดเผยจะมีโทษที่รุนแรงขึ้นอย่างไร ที่สำคัญเหตุผลที่จะใช้ในการไม่เปิดเผยข้อมูล ต้องเฉพาะเจาะจงเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเท่านั้น ไม่ใช่ทุกกระทรวงอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงได้
"กรณีนี้ในสหรัฐอเมริกาจำกัด การอ้างเรื่องความมั่นคงให้ใช้ได้เฉพาะกระทรวงกลาโหมเท่านั้น และกำหนดว่าต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ขึ้นบนเว็บไซต์ ให้เข้าถึงได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนขอจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพียงอย่างเดียว"
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ที่เป็นข้ออุปสรรคของผู้ที่ให้ข้อมูลเบาะแสของผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ต่างประเทศมีการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือต่อประเทศ เช่นเดียวกับกระบวนการคนเป้านกหวีด (Whistleblower) ซึ่งเป็นคนที่ออกมาเปิดเผย แจ้งเบาะแสข้อมูลความไม่ชอบมาพากล
หลายประเทศมีกลไกคุ้มครอง แต่สำหรับประเทศไทยที่เห็นได้ชัด คือข้าราชการออกมาให้ข้อมูลกลับถูกลงโทษ
"ภายใต้สังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีในด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง"
ด้านนางสาวสฤณี มองประเด็นการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน และการทำงานของสื่อมวลชน โดยเสนอให้สร้างการรู้เท่าทันข้อมูล (Data literacy) โดยเฉพาะการเสพสื่อในโซเชียล มีเดีย ซึ่งเห็นว่ามี 3 เรื่องที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ ซึ่งสื่อสามารถทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชนได้
1.วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data journalism) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเนื้อหา วิเคราะห์และตีความ ทำข่าวสารข้อมูล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นกลไกเพิ่มพลังให้แก่ประชาชน
2.ผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ ใช้ซ้ำและเผยแพร่ได้ฟรี ภายใต้เงื่อนไขเครดิต ซึ่งเป็นระบบที่เข้าถึงง่าย
3.ผลักดันมาตรฐานรัฐเปิด (Open Government) ให้เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส อย่างสม่ำเสมอ และรับฟังความเห็นจากประชาชนสำหรับกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งรูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์