ศาลรธน.ชี้แก้มาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาล รธน.วินิจฉัยแก้มาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้ง “กระบวนการ-เนื้อหา” เหตุรวบรัดปิดอภิปราย-ให้เวลาแปรญัตติน้อย แถมปรับเนื้อหาเอื้อฝ่ายบริหาร ลดอำนาจตรวจสอบฝ่ายรัฐสภา
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2557 เวลา 16.30 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ตุลาการศาล รธน.อ่านคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาล รธน. ระบุว่า คดีนี้มีประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น 1.กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นการให้ได้อำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
“คดีนี้ผู้ร้องใช้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ศาล รธน.จึงมีอำนาจรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้” นายทวีเกียรติกล่าว
นายทวีเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่ 1.ผู้ร้องอ้างว่ามีการปิดอภิปรายและการกำหนดวันแปรญัตติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วาระที่ 1 แม้วิป 3 ฝ่ายจะตกลงแบ่งเวลากันแล้ว แต่เมื่อการอภิปรายเดินมาโดยยังเหลือเวลาอีกกว่า 8 ชั่วโมง ก็มีผู้เสนอปิดอภิปรายเพื่อลงมติวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และมีการเสนอให้กำหนดวันแปรญัตติเพียง 15 วัน ซึ่งศาล รธน.มองว่า หลักการประชาธิปไตย เสียงข้างมากต้องรับฟังเสียงข้างน้อย หากเสียงข้างทำอะไรไม่รับฟังเสียงข้างน้อย ก็เป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าเผด็จการเสียงข้างมาก
“การอภิปรายให้เหตุผลมีผลต่อการโน้มน้าวหรือตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ ก่อนการลงมติในร่างกฎหมายนั้นๆ โดยเฉพาะในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ที่อาจทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปได้ การรวบรัดปิดการอภิปรายจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กับเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม จึงมีความเห็นว่าการเสนอปิดอภิปรายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” นายทวีเกียรติ
นายทวีเกียรติ กล่าวว่า ส่วนการกำหนดวันแปรญัตติเพียง 15 วัน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ ก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การลงมติเป็นรายวรรค ไม่ขัดกับข้อบังคับของสภาและขัดกับรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาล รธน.กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ 2.เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการทำสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นๆ ซึ่งทรงใช้อำนาจผ่านฝ่ายบริหาร ดั้งนั้น อำนาจในการทำหนังสือสัญญาจึงมีความสำคัญยิ่ง ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ดังนั้นการทำสัญญาใดๆ ครม.จะต้อเสนอกรอบเจรจาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน โดยจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นด้วย และต้องเปิดเผยรายละเอียดสัญญาให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญ อาทิ การศึกสงคราม อาณาเขต ฯลฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อไม่ให้ปัญหาตามมา เช่นกรณี การทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดปัญหา
นายจรัญ กล่าวว่า การที่ผู้ถูกร้องแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มคำว่า “โดยชัดแจ้ง” ภายหลังประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้เกิดอำนาจตีความแก่ฝ่ายบริหาร โดยอาจตีความอย่างแคบหรืออย่างกว้าง เพื่อให้สัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภามีน้อยที่สุด จึงเป็นการลิดรอนอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายรัฐสภา และเพิ่มอำนาจให้กับ ครม. การกระทำดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อหลักการแบ่งแยกและดุลคานอำนาจ อาจก่อให้เกิดอำนาจเบ็ดเสร็จแก่ฝ่ายบริหารในการทำสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
นายจรัญ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้ถูกร้อง ที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยหลีกเลี่ยงการขัดกันของผลประโยชน์ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายบริหาร จึงถือว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม การกระทำของผู้ถูกร้องจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ
“อาศัยเหตุผลข้างต้น จึงวินิจฉัยโดยมติเสียงข้างมากว่า การพิจารณาและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการที่ผู้ถูกร้องร่วมกันแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอันเป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลหรือคณะบุคคลได้อำนาจเพื่อการปกครองประเทศไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68” นายจรัญกล่าว