ฟังขุนพลเพื่อไทยอรรถาธิบาย "นครปัตตานี"
สนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมี ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเพียง 11 ที่นั่ง แต่พรรคการเมืองกว่าสิบพรรคก็ประกาศตัวและขับเคี่ยวแข่งขันกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเดิมพันไม่ใช่แค่อำนาจบริหาร ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงแนวนโยบายดับไฟใต้ที่แตกต่างกันชนิดหน้ามือกับหลังมืออีกด้วย
พลันที่พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐบาล โชว์ความสำเร็จด้วยการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางอำเภอ และผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ออกมาบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 เพื่อให้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาควบคู่กับงานด้านความมั่นคงในความดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.ในฐานะหน่วยงานที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน พร้อมติดดาบให้ ศอ.บต.เป็นที่พึ่งหวังของพี่น้องประชาชน ด้วยการให้อำนาจสั่งย้ายข้าราชการนอกแถวออกจากพื้นที่ได้
ฟากพรรคเพื่อไทยก็ตบโต๊ะดังปัง! และสร้างกระแสฮือฮาด้วยการชูไอเดีย “นครปัตตานี” หรือการกระจายอำนาจให้มีการจัดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นมาเป็นประเด็นนำในการหาเสียง ด้วยการรวมพื้นที่สามจังหวัดเข้าเป็น “นครปัตตานี” และให้พี่น้องประชาชนได้เลือกตั้งผู้นำของตนเองโดยตรง ด้วยหวังให้องค์กรท้องถิ่นรูปแบบใหม่สามารถทำงานสนองตอบความต้องการของประชาชนชายแดนใต้ที่มีอัตลักษณ์พิเศษแตกต่างจากประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศได้อย่างเต็มร้อย และจะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่นำไปสู่การก่อความรุนแรงจากบางกลุ่มบางฝ่ายในปัจจุบันด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากนโยบาย “นครปัตตานี” ค่อนข้างซับซ้อนและยังไม่มีรูปธรรมให้เห็นเหมือน ศอ.บต. ประกอบกับยังมีคำถามหลายประการที่ยังค้างคาใจหลายฝ่าย “ทีมข่าวอิศรา” จึงจับเข่าคุยกับขุนพลพรรคเพื่อไทยอย่าง ซูการ์โน มะทา ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 2 น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้มากบารมี เพื่อให้อรรถาธิบายจังหวะก้าวของ “นครปัตตานี” หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และนโยบายอื่นที่สำคัญๆ เพื่อดับไฟใต้ให้ได้อย่างยั่งยืน
O จุดขายของพรรคเพื่อไทยมีอะไรบ้าง?
วันนี้ความเดือดร้อนของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งผ่านปีที่ 7 มาแล้วแต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ความรุนแรงและความอยุติธรรมยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นตรงกันว่าปัญหาภาคใต้ต้องหันมาจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและ อินโดนีเซีย เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าอะไรคือปัญหา และนำรูปแบบวิถีชีวิตเดิมๆ กับความสงบสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่
ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เกิดจากหลายมิติ สิ่งแรกคือต้องทำความเข้ากับปัญหาว่าเกิดจากอะไร วันนี้มีใครกล้าพูดความจริงหรือไม่ว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดแค่ 7 ปี แต่เกิดมาเป็นร้อยๆ ปีตามที่ประวัติศาสตร์ระบุถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนในพื้นที่ เป็นเสมือนหินย้อยที่ถูกน้ำหยดเรื่อยๆ จนกลายเป็นหินงอก ปัญหาจึงใหญ่ขึ้นๆ
ฉะนั้นการแก้ปัญหาเพื่อดับไฟใต้ พรรคเพื่อไทยมองว่าทุกฝ่ายต้องพร้อมมาจับเข่าคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม องค์กรของรัฐ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่เราคิดว่าจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ส่วนการทหารนำการเมือง หรือการเมืองนำการทหาร มันไม่ใช่แนวทางการดับไฟใต้ที่ชัดเจน
ส่วนนโยบายที่สำคัญที่สุด อีกนโยบายหนึ่งคือ "นครปัตตานี" หรือ "ดอกไม้หลากสี" ที่ผ่านมาเราพบว่าเกือบทุกรัฐบาลเน้นแก้ปัญหาแบบท็อปดาวน์ (กำหนดนโยบายจากบนลงล่าง) คือ ใช้รัฐบาลกลางเป็นหลักในการแก้ปัญหา เพิ่มกำลังพลทั้งทหาร ตำรวจ และทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
วันนี้ทางพรรคเล็งเห็นว่าปัญหาจะคลี่คลายได้ต้องคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนในพื้นที่ โดยการส่งเสริมหรือผลักดันสนับสนุนการปกครองแบบกระจายอำนาจในลักษณะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งเราเรียกว่า "นครปัตตานี" อันเป็นรูปแบบการปกครองภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักการประเทศไทยเป็น "รัฐเดี่ยว" เราไม่ได้เสนออะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการลดอำนาจจากส่วนกลางลง แล้วให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหามากขึ้น นี่คือหัวใจ เราต้องผลักดันตรงนี้ให้ได้
O มั่นใจได้อย่างไรว่านโยบายนครปัตตานีสามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ดีกว่า ศอ.บต.ที่พรรคประชาธิปัตย์ผลักดันและยืนยันเหมือนกันว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด?
พรรคประชาธิปัตย์เสนอพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) และได้ใช้มาแล้วสักพัก มันก็มีความแตกต่างกัน เพราะโครงสร้าง ศอ.บต.เท่ากับยังใช้อำนาจของรัฐบาลจากส่วนกลาง และข้ออ่อนของ ศอ.บต.ก็มีให้เห็น
ยกตัวอย่าง วันนี้ถ้าเรามอง ศอ.บต. อำนาจสูงสุดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯที่ได้รับมอบหมาย การพิจารณาอนุมัติหรือเห็นชอบในยุทธศาสตร์แผนงานโครงการต่างๆ ยังเป็นอำนาจของกฎหมายย่อยๆ ตามมาตรา 7 ที่ระบุอำนาจเห็นชอบเป็นของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง จึงมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ส่วนโครงสร้างการเลือกผู้ว่าการนครปัตตานี เราไม่เจาะจงว่าผู้ว่านครปัตตานีต้องนับถือศาสนาอิสลาม แค่เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ มีคุณสมบัติพร้อมที่ประชาชนให้การยอมรับ แม้จะนับถือศาสนาพุทธ คนๆ นั้นก็สามารถเป็นเบอร์หนึ่งของนครปัตตานีได้ วันนี้คอนเซปท์ของพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าเราต้องการผลักดันให้เกิดนครปัตตานีเพื่อมาแทนที่ ศอ.บต และจะยกเลิก พ.ร.บ.ศอ.บต เพราะคนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในสามจังหวัด
ผู้ว่านครปัตตานีเป็นผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่น ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างข้าราชการสามจังหวัดกับรัฐบาลกลาง คอยกำกับดูแลให้เกิดความเรียบร้อย โครงสร้างที่วางจะเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเอานครปัตตานีมาแทนที่ ศอ.บต.ทันที เราต้องมีการทดลอง กำหนดระยะเวลา แต่เมื่อผลักดันกฎหมายได้สำเร็จก็จะเลือกตั้งผู้ว่าการนครฯทันที
ส่วนที่พรรคมาตุภูมิชูนโยบายตั้งทบวงจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็ยังไม่ใช่การกระจายอำนาจการปกครองที่เป็นการคืนอำนาจกลับไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง เพราะยังเป็นระบบโครงสร้างของราชการอยู่ ก็เท่ากับเพิ่มทบวงจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยงานเท่านั้น
วันนี้เราต้องยอมรับว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ เขาจะลดอำนาจของรัฐบาลกลางลง และให้บทบาทกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ยกตัวอย่างมาเลเซีย เขามีรัฐบาลกลาง มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ และมีรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่างๆ คล้ายๆ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ซึ่งเลือกตั้งโดยพี่น้องประชาชน อันนี้คือการปกครองโดยการกระจายอำนาจภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ขณะที่ของไทย หากมองย้อนกลับไป เราบอกว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่อำนาจการบริหารตัดสินใจแก้ปัญหาทุกอย่างยังเป็นของข้าราชการส่วนภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาจึงแก้ไม่ได้ เพราะความไม่ยั่งยืนของข้าราชการ ผมมองว่าเป็นจุดอ่อน ซึ่งไม่ได้แปลว่าระบบราชการไม่ดี แต่ปัจจุบันนี้เป็นยุคโลกาภิวัฒน์แล้ว เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่าที่จะมองแต่เรื่องเดิมๆ ผมเชื่อมั่นว่าวันนี้การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ "นครปัตตานี" เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด
O ถ้าได้เป็นรัฐบาล คิดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าการนครปัตตานี?
ผมไม่สามารถระบุได้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะแล้วเสร็จ เพราะการยกร่างกฎหมายนครปัตตานีมันแตกต่างกับการร่างกฎหมาย ศอ.บต. เนื่องจากนครปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นที่ไปทำหน้าที่ซ้อนกับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่อำนาจหน้าที่ต่างกัน ผมจึงไม่กล้ายืนยันว่า 90 วันต้องเสร็จ เพราะเราต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่ถามว่าเรายกร่างหรือยัง ตอบได้เลยว่าขณะนี้เรายกร่างแล้ว เพียงแต่ทุกอย่างมันมีขั้นตอนและกระบวนการของมันที่ต้องทำเป็นขั้นๆ
ตามข้อเท็จจริงเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ มันมีเงื่อนไขเรื่องของเวลา นโยบายของพรรค นำสู่การยกร่างกฎหมายเสนอเข้าสู่สภา ผ่านการพิจารณาวาระหนึ่ง วาระสอง แล้วส่งเข้าคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จก็ตีกลับเข้ามาสู่วาระที่สาม มติเห็นชอบ ต้องส่งไปที่ประธานวุฒิสภาเพื่อให้ ส.ว.พิจารณาอีกรอบ จึงเป็นความไม่แน่นอน จะมาบอกว่า 90 วันต้องเสร็จ ผมไม่กล้ายืนยันขนาดนั้น แต่ถ้าทุกอย่างผ่านความเห็นชอบหมด รัฐบาลประกาศ เมื่อนั้นจะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าการนครปัตตานีทันที และเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
O เมื่อนครปัตตานีเกิดขึ้นแล้ว ศอ.บต.จะต้องถูกยุบไปใช่หรือไม่?
ครับ หากกฎหมาย ศอ.บต.ถูกยกเลิก องค์กร ศอ.บต.ก็ต้องถูกยุบไปด้วยเช่นเดียวกัน ตามที่ได้ร่างไว้ในร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานี แต่โครงสร้างของ ศอ.บต.ในส่วนของข้าราชการตรงนั้นยังสามารถเป็นข้าราชการในนครปัตตานีได้ เพื่อมาแก้ปัญหาในระดับมหภาคของสามจังหวัด ซึ่งผมคิดว่าเป็นบันไดขั้นที่สองที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหา แต่ไม่ได้มองว่าเราจะเอานครปัตตานีตลอดไป มันไม่ใช่ สุดท้ายการกระจายอำนาจร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นหัวใจสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่จะ พยายามผลักดันให้ได้ นครปัตตานีถือเป็นก้าวแรกของเรา ก้าวที่สองก็คือตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปของท่านอานันท์ ปันยารชุน ที่ระบุชัดเจนว่าจะต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพราะประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบจะเหลือส่วนราชการแค่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น
O คาดหวังว่าจะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนสักกี่ที่นั่ง?
เราก็หวังอยากจะได้ให้มากที่สุดเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ตามที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม ผมเชื่อว่าวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่กล้าประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนของการแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยการคืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชนในรูปแบบการปกครองพิเศษอีกแล้ว
O เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มวาดะห์เพียงคนเดียวที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งและยังเลือกอยู่กับพรรคเพื่อไทย ขณะที่คนอื่นๆ ย้ายพรรคไปหมดแล้ว ถือว่ามีแรงกดดันหรือไม่?
จริงๆ แล้วช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ผมทำหน้าที่เป็น ส.ส.ฝ่ายค้านหนึ่งเดียวของภาคใต้ ถือเป็นภาระที่หนักมาก ส่วนคนที่มีประสบการณ์ก็แยกไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ฉะนั้นความตั้งใจของผมที่ตัดสินใจสังกัดพรรคเพื่อไทยต่อไป ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการบอกกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่า การเมืองแบบใหม่ที่จะทำประโยชน์ โดยเฉพาะการผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติอย่างปัญหาภาคใต้นั้น พรรคการเมืองเล็กแก้ไม่ได้ ต้องใช้พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น
เมื่อพรรคตัดสินใจเลือกคน ประชาชนมีหน้าที่ต้องเลือกพรรค โดยมองที่นโยบายและความจับต้องได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากใน 4 จังหวัดของภาคใต้ได้ตบมือกันหลายๆ คน เสียงก็จะดัง การผลักดันเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างนครปัตตานีก็จะเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน
แต่ถ้าให้ผมทำงานคนเดียวเพื่อสู้กับองค์กรของรัฐ ผมก็คงไม่ไหว ซึ่งนอกจากเรื่องนครปัตตานีแล้ว ผมยังมีนโยบายส่งเสริมกิจการฮัจญ์สำหรับพี่น้องมุสลิม โดยจะสร้างที่พักหรือบ้านเช่าระยะยาวใกล้กับมัสยิดฮะรอม (เพื่อความสะดวกในการไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย) รวมไปถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย นี่คือนโยบายที่ผมจะผลักดันให้ได้
ส่วนเรื่องกลุ่มวาดะห์นั้น ขอทำความเข้าใจว่าสมัยก่อนต้องเกิดวาดะห์เพราะพรรคการเมืองไม่ได้เป็นสถาบันเหมือนในปัจจุบัน และแม้ปัจจุบันก็มีแค่ไม่กี่พรรคเท่านั้นที่สามารถยกระดับเป็นสถาบันพรรคการเมืองได้
ฉะนั้นเมื่อสมัยก่อนพรรคการเมืองมีขนาดเล็ก การรวมกลุ่มก็จำเป็นเพื่อต่อรองอำนาจ แต่วันนี้ผมว่าไม่จำเป็นอีกแล้วที่จะต้องมีวาดะห์ แม้ในอดีตจะยอมรับว่ากลุ่มวาดะห์คือผลงานที่พี่น้องมุสลิมได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่วันนี้ถ้าเราอยู่ในพรรคที่เป็นสถาบันจะสามารถสนองนโยบายและทำงานให้กับประชาชนได้มากกว่า
“อีรฟาน สุหลง” แย้มเพิ่มงบ อบต.อีก 20%
ขณะที่ อีรฟาน สุหลง ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 1 พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมยกตัวอย่างเพื่อทำให้เห็นภาพชัดขึ้น
"นครปัตตานีในความหมายของพรรคเพื่อไทยนั้นคือการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรวมสามจังหวัดให้เป็นเขตเดียวเหมือนกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปรียบเสมือนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดใหญ่ และนายกองค์การใหม่มาจากการเลือกตั้ง
วันนี้ที่เรามี ศอ.บต.ก็ดีแล้ว แต่ว่าเราต้องการให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำของสามจังหวัดเหมือนกับการเลือก อบต. เพื่อทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งมันจะเป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ไปในตัว เพราะประชาชนจะรู้สึกดีที่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำของเขา ต่างจากที่ผ่านมาที่เขารู้สึกว่ามีการแต่งตั้งมาจากส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้ทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งมานั้น ผมยอมรับว่าเป็นคนดี มีความสามารถ แต่กระบวนการและระบบคิดของโลก ณ วันนี้ เป็นระบบคิดจากฐานราก ไม่ได้มาจากบนลงล่างเหมือนที่เราทำกันมาอีกต่อไปแล้ว เราจึงต้องให้เกียรติกับพี่น้องประชาชนให้มากขึ้นด้วย"
O ความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ต่อนครปัตตานีมีมากขนาดไหน?
ผมคิดว่าชาวบ้านเข้าใจดีกว่าผมเสียอีก ผมเป็นเพียงแค่ตัวแทน เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ คงไม่ได้รู้ดีไปกว่าชาวบ้าน และชาวบ้านเองมีอะไรมากกว่าผม ซึ่งผมสามารถเรียนรู้ได้
O นอกจากนครปัตตานีแล้ว มีนโยบายอื่นใดควบคู่กันไปอีกหรือไม่?
พรรคเพื่อไทยจะเพิ่มงบประมาณลงไปให้ อบต.อีก 20 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มอำนาจด้วย คืออำนาจการเก็บภาษีต่างๆ ให้เป็นการจัดการของ อบต.มากกว่าเดิม รวมทั้งอำนาจในการจัดการศึกษา มีวิชาบางวิชา หลักสูตรบางหลักสูตรที่ต้องเป็นของท้องถิ่น ไม่ใช่ส่วนกลางจัดทั้งหมด เพราะเราเชื่อมั่นว่าคนท้องถิ่นมีความรู้ความสามารถ ทราบปัญหาดี และสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่