“สุภิญญา” เผย กสทช.ส่งกฤษฎีกาตีความอำนาจออกประกาศคุมเนื้อหา
“สุภิญญา” โพสต์เฟซบุ๊ก เผย กสทช.ส่งกฤษฎีกาตีความ มีอำนาจออกประกาศคุมเนื้อหารายการตามมาตรา 37 หรือไม่ หลังถูก คปก.ทักท้วง
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2556 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Supinya Klangnarong ถึงผลการประชุม กสท.วันเดียวกัน มีใจความว่า ที่ประชุม กสท.ได้มีมติให้ส่ง (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ที่ออกตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 37 หรือ“ร่างประกาศคุมเนื้อหารายการตามมาตรา 37” ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช.มีอำนาจออกประกาศนี้หรือไม่ ภายหลังคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ส่งจดหมายมาคัดค้านว่า กสทช.อาจไม่มีอำนาจออกร่างประกาศฯดังกล่าว และอาจเป็นการขัดสิทธิเสรีภาพ
“บอร์ด กสท.วันนี้มีมติให้ สนง.ส่งร่างประกาศคุมเนื้อหามาตรา 37 ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน โดยยังไม่ผ่านร่างที่มีปัญหา แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นยกเลิกร่างประกาศมาตรา37 ร่างนี้เสียทีเดียว แต่การส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช.มีอำนาจออกประกาศนี้หรือไม่ ถือว่าเป็นทางออกที่วิน-วินในเวลานี้” น.ส.สุภิญญากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลายปี 2556 คปก.ได้ส่งจดหมายถึง กสทช.คัดค้านการออกร่างประกาศฯนี้ เพราะเห็นว่า การออกร่างประกาศฯนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 นอกจากนี้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ มาตรา 37 ก็บัญญัติเนื้อหาต้องห้ามมิให้ออกอากาศไว้อย่างครบถ้วนแล้ว และไม่ได้ข้อความใดที่ให้อำนาจ กสทช.สามารถออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติม คปก.จึงเสนอว่าควรทบทวนการจัดทำร่างประกาศฯนี้ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบอาชีพและวิชาชีพสื่อมวลชน และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความเชื่อ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
สำหรับข้อความที่ น.ส.สุภิญญาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่เกี่ยวกับร่างประกาศคุมเนื้อหารายการ มาตรา 37 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2557 มีเนื้อหาต่อไปนี้
“ข่าวดีอีกหนึ่งข่าวแม้จะยังไม่สุดๆ แต่ก็ทำให้นอนหลับอุ่นใจไปได้น่าจะหลายเดือน นั่นคือบทสรุปเวลานี้ของร่างประกาศการกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 ที่ยื้อกันมานาน
“วันนี้บอร์ด กสท.ถกกันเครียดด้วย หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ส่งจดหมายมาคัดค้านว่า กสทช.อาจไม่มีอำนาจออกร่างประกาศฯดังกล่าว และ อาจเป็นการขัดสิทธิเสรีภาพ
“บอร์ด กสท.วันนี้มีมติให้ สนง.ส่งร่างประกาศคุมเนื้อหามาตรา 37 ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน โดยยังไม่ผ่านร่างที่มีปัญหา แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นยกเลิกร่างประกาศมาตรา37 ร่างนี้เสียทีเดียว แต่การส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช.มีอำนาจออกประกาศนี้หรือไม่ ถือว่าเป็นทางออกที่วิน-วินในเวลานี้
“ส่วนตัวก็โล่งใจไปได้อย่างน้อยอีก 1-2 เดือน เพราะต่อสู้คัดค้านร่างประกาศควบคุมเนื้อหาตามมาตรา37มาตั้งแต่ต้น วันนี้บอร์ดยอมให้ส่งตีความแล้ว ยังมีเวลาได้คิดแก้ปัญหากันต่อ
“ขอบคุณ คปก. และ องค์กรวิชาชีพที่ยืนหยัดหลักการเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง วันนี้บอร์ด กสท. ฟังเสียงของท่านแล้ว ส่วนตัวขอบคุณบอร์ด กสท. ทุกท่านด้วย เราถกเถียงกันมาก ได้เรียนรู้กันและกันและเมื่อถูกคัดค้านอย่างหนัก ท่านก็รับฟังและถอยให้มีการตีความทางกฏหมายก่อน โดยไม่ต้องเสี่ยงไปต่อสู้คดีกันในศาล
“วันนี้ก็มีความสุขเล็กๆกับการทำงาน ชอบบรรยากาศของการหาฉันทามติ ไม่ใช่การโหวต คิดว่าปีนี้บอร์ด กสท. ได้ผ่านจุดที่ตึงเครียดมาแล้ว จากนี้คงคุยกันด้วยเหตุและผลได้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความขอบคุณจากใจจริงค่ะ
“จากนี้ร่างประกาศมาตรา 37 ก็พักยก รอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช.มีอำนาจออกประกาศนี้หรือไม่ค่ะ”