คกก.สิทธิ พบช่วยชาวบ้านจากเรือน้ำตาลล่มล่าช้า เร่งเขื่อนก่อนน้ำหลาก
คกก.สิทธิมนุษยชน ร่วมกับ ส.ต่อต้านสภาวะแวดล้อม ล่องเรือสำรวจผลกระทบเรือน้ำตาลล่ม พบความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าชดเชย-ล่าช้า เสนอกำหนดความเร็วเรือ ชาวบ้านหวั่นเขื่อนกั้นตลิ่งใหม่สร้างไม่ทันน้ำหลาก ต.ค.-พ.ย. บ้านพังอีก ระบุรัฐชดเชยแค่ส่วนหนึ่ง ที่เหลือให้ไปฟ้องบริษัทเอง
จากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาวันที่ 31 พ.ค.54 ส่ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สัตว์น้ำจำนวนมากตาย และส่งผลกระทบต่อชุมชนที่บ้านเรือนพังเสียหาย วันที่ 28 มิ.ย.54 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดย นายศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมด้วยกรรมการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พาสื่อมวลชนล่องเรือสำรวจความเสียหายและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ชาวประมงพื้นบ้าน ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เกษตรกร และชาวบ้านริมแม่น้ำ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ และสรุปความคิดเห็นต่อหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเรือน้ำตาลล่มขวางทางน้ำ ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเป็นเหตุให้บ้านเรือนเสียหาย 4 หลัง โดยนายฮาโรล มาทอง อายุ 53 ปี ชาวบ้านที่บ้านพังทั้งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวว่าได้รับเงินชดเชยจากบริษัทเจ้าของเรือ 230,000 บาท รวมค่าช่างและวัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างบ้านหลังใหม่ และทางบริษัทฯ ร่วมกับกรมโยธาธิการจังหวัดอยุธาจะสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งกว้าง 10 เมตร ยาว 70 เมตร แทนตลิ่งเดิมที่ถูกน้ำกัดเซาะหายไปทั้งแถบ แต่ต้องใช้เวลากว่า 5 เดือน ตนจึงหวั่นวิตกว่าจะไม่ทันใช้การในฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงและบ้านเรือนก็พังอีกเพราะยังไม่มีเขื่อนกั้นตลิ่ง เพราะปีที่ผ่านมาน้ำหนุนสูงจนเกือบท่วมบ้านชั้นสอง จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบเร่งดำเนินการสร้างให้เสร็จเร็วกว่านี้
“ผมอยากให้กรมโยธาฯ สร้างเขื่อนเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ไม่เช่นนั้นจะลำบากมาก เขื่อนยังจะช่วยชะลอแรงคลื่นจากเรือบรรทุกต่างๆที่วิ่งกันเร็วและมีน้ำหนักมากจนทำให้น้ำซัดตลิ่งทรุดเร็วขึ้น” นายฮาโรล กล่าว
นายทินกร เนื่องพลี ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลาในกระชัง บ้านเกาะใหญ่ ต.ไม้กาว อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่ามีผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับผลกระทบ 11 ราย ทั้งรายใหญ่และรายย่อย เบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาให้ความช่วยเหลือแล้วกว่า 60 % ของความเสียหายทั้งหมด ส่วนอีก 40 % ที่เหลือต้องฟ้องร้องจากผู้ประกอบการ โดยทางผู้ว่าราชการจะเป็นตัวแทนดำเนินการให้
นายทินกร กล่าวว่า ตนเป็นผู้ประกอบการรายย่อย จึงคำนวณต้นทุนที่แท้จริงไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานทางการเงินที่ชัดเจนตามที่ราชการเรียกหา เช่น ใบเสร็จรับเงินต่างๆจากมูลค่าความเสียหายที่เป็นจริงกว่า 100,000 บาท จึงแจ้งไปเพียง 50,000 บาท
“ผมแจ้งมูลค่าความเสียหายไป 50,00จ บาท ได้รับชดเชย 30,000 บาท ไม่ได้รวมต้นทุนด้านอื่นๆ เพราะคำนวณไม่ถูก และไม่ทราบว่าจะลงปลาได้อีกเมื่อไหร่ คงต้องรอให้พ้นฤดูน้ำหลากไปก่อน ถ้าถามว่าอยากให้รัฐช่วยเพิ่มเติมอะไร ก็อยากให้ช่วยสนับสนุนเรื่องพันธุ์ปลา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้าน พบว่า ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำและล่าช้าในการจ่ายค่าชดเชยผลกระทบ เช่น กรณีบ้านเรือนเสียหาย บางหลังที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดกลับได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าบ้านที่ได้รับความเสียหายน้อยกว่า เพราะมีปัญหาในการตรวจสอบข้อมูล นอกจากนี้ค่าชดเชยการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง บางพื้นที่ยังไม่ได้รับจากกรมประมง
ด้าน นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าจะช่วยผลักดันหน่วยงานรัฐให้สร้างเขื่อนกั้นตลิ่งอย่างเร่งด่วน พร้อมหามาตรการต่างๆที่เหมาะสมในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีก เช่น การกำหนดความเร็วการเดินเรือ และหากชาวบ้านมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติมก็พร้อมเป็นสื่อกลางเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่ควรได้รับ
ส่วน นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวว่าหลังจากการลงพื้นที่จะเร่งสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป ซึ่งเบื้องต้นเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขคือ หนึ่ง ควรให้มีตราสัญลักษณ์สำหรับเรือบรรทุกเพื่อบอกให้ทราบชนิด ประเภทของสินค้าที่ขน เป็นการสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านระดับหนึ่ง สอง ควรมีมาตรการกำหนดความเร็ว และน้ำหนักสินค้าของเรือบรรทุกด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวว่าอยากให้ชาวบ้านตื่นตัวเรื่องสิทธิของตนมากขึ้น ซึ่งหากเทียบเหตุการณ์นี้ กับเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลล่มในปี 2550 จะพบว่าหน่วยงานรัฐมีการปรับตัวเรื่องการให้ความช่วยเหลือในทิศทางที่ดีขึ้น .