ทำเรื่องเก่าให้สำเร็จ ‘สมชัย ฤชุพันธุ์’ แนะใช้การเมืองร้อนปฏิรูป ‘กระจายอำนาจท้องถิ่น’
‘สมชัย ฤชุพันธุ์’ ชี้ขับเคลื่อนปฏิรูป ‘กระจายอำนาจท้องถิ่น’ เป็นเรื่องเก่าที่ทำไม่เสร็จ ระบุควรใช้โอกาสการเมืองร้อนสานพลังต่อ แต่ไม่ควรเร่งรีบเปลี่ยนทันที หวั่นถูกกระแสต้านภายหลัง
วันที่ 6 มกราคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดเวทีสาธารณะ:ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 หัวข้อ ‘ทิศทางใหม่และทางเลือกของการกระจายอำนาจและการปกครองตนเองของท้องถิ่น’ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ศ.พิเศษ ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม และอดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งเคยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวพ้นจากประเทศยากจนกำลังกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จึงได้เปลี่ยนแปลงประเทศจากเอกรัฐ (รวมศูนย์กลางอำนาจ) เป็นเอกรัฐ (กระจายอำนาจ) เพราะฉะนั้น ‘การปฏิรูป’ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่ทำไม่เสร็จ
ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องกระจายอำนาจมี 3 ประการ คือ
1.ด้านเศรษฐกิจ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีวิเทโศบายอย่างแยบยลในการรวมไทยเป็นปึกแผ่นด้วยการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ส่งผลให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า หากแต่กระจุกตัวและเกิดความแตกต่างระดับขั้นความเจริญ เช่น กรุงเทพฯ มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมปักกิ่งหรือโตเกียว แต่เมื่อมองไปในท้องถิ่นยังห่างไกลกันมาก แม้จะพยายามใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจมาช่วยก็ยอมรับได้ว่าทำไม่สำเร็จ
2.ด้านการแข่งขัน ไทยถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงไม่สามารถจะแยกตัวให้เป็นอิสระได้ ดังนั้นจึงต้องมีการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน จำเป็นต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนด้วยการกระจายอำนาจ จะสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในไทยได้ ที่สำคัญ อำนาจรัฐที่รวมศูนย์จะนำไปสู่การผูกขาด และส่งผลให้เกิดการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ แต่หากกระจายอำนาจ แม้จะมีการคอร์รัปชั่นมาก แต่ก็อยู่ในขนาดเล็กและกระจายตัวออกไป
สำหรับนักการเมืองท้องถิ่นยังไม่มีอำนาจจริง ๆ แต่หากเปิดโอกาสให้มีการปกครองตนเอง เท่ากับเปิดพื้นที่การเมืองได้มากขึ้น และเกิดการแข่งขันในหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อลดความเข้มข้นทางการแข่งขัน ที่สำคัญยังแก้ปัญหาการยึดอำนาจการปกครองได้ง่ายด้วย เพราะการรวมศูนย์อำนาจเพียงยึดกรุงเทพฯ แห่งเดียวก็ทำได้แล้ว และควรสร้างนักการเมืองขึ้นมาจากผู้ปกครองเชิงพื้นที่ระดับต่าง ๆ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีส่วนใหญ่มาจากผู้ว่าการรัฐ
3.ด้านวัฒนธรรม สังคมไทยมิใช่มีเพียงชนชาติหรือชนเผ่าเดียว แต่ความจริงแล้วเป็น "พหุชนชาติ" ซึ่งต่างมีวัฒนธรรมและศาสนาเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงควรได้รับสิทธิในการรักษาวัฒนธรรม มิใช่นำวัฒนธรรมไทยไปทำลายวัฒนธรรมชนชาติอื่นที่อาศัยในประเทศไทย จึงควรให้คนกลุ่มเหล่านี้สามารถปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง
สร้างระบบ ‘ภาษีท้องถิ่น’
ส่วนการกระจายอำนาจทางการคลังนั้น ศ.พิเศษ ดร.สมชัย กล่าวว่า ควรส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เป็นของตนเองด้วยการสร้างระบบ ‘ภาษีท้องถิ่น’ เพราะขณะนี้ไทยมีภาษีระดับชาติมาก แต่ภาษีท้องถิ่นน้อย ทำให้เงินที่รัฐบาลจัดเก็บและส่งไปให้นั้น ท้องถิ่นไม่มีอำนาจบริหารจัดการเพียงพอ
“ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดปฏิเสธหลักการกระจายอำนาจ แต่ที่ผ่านมากลับเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น เพราะมีอุปสรรคที่ต้อง ‘ลดอำนาจ’ บางคน เพื่อไปเพิ่มให้อีกคน” ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาสยาม กล่าว และว่า กระแสตอนนี้จะทำเรื่องการกระจายอำนาจได้อย่างดี แต่หากรอคอยเวลาที่เหมาะสมต่อไปนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวต้องค่อยเป็นค่อยไป จะเปลี่ยนทันทีอาจทำได้ระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดจะถูกต่อต้าน ดังนั้น ตอนนี้จึงควรสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเสียก่อน
กระจายอำนาจ ให้อำนาจแก้ปัญหาไปไว้ใกล้ปัญหา
ด้านรศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยเกิดจากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณะและความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น การกระจายอำนาจปัจจุบัน คือ การให้อำนาจแก้ปัญหาไปไว้ใกล้ปัญหา เพื่อสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ จะได้มีอำนาจในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งยอมรับว่ามีวิวัฒนาการที่เร็วมากจนทำให้ภาคประชาชนเกิดความตื่นตัวเรื่องนี้อย่างสุกงอม เหลือเพียงว่าจะออกแบบหลักเกณฑ์การกระจายอำนาจอย่างไร โดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งกันใหม่
“การกระจายอำนาจปัจจุบันนำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้รู้สึกเป็นเจ้าของในฐานทรัพยากรและการตัดสินใจต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของการบริหารจัดการท้องถิ่นจะกลับไปที่ประชาชน และการกำกับดูแลการบริหารจัดการของอปท.ที่ดีที่สุดก็อยู่ที่ประชาชนเช่นกัน ไม่เฉพาะการเลือกตั้ง แต่หมายรวมถึงการตัดสินใจทั้งหมด อันเป็นคำตอบใหญ่ในการสร้างประชาธิปไตย” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
ส่วนนายสวิง ตันอุด ผอ.สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง โดยมีหลักการให้ยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งสภาท้องถิ่น สภาพลเมือง และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมจัดสรรงบประมาณสัดส่วนท้องถิ่น 70% ส่วนกลาง 30% ที่สำคัญ ให้อำนาจการจัดการท้องถิ่นครอบคลุมด้านทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำ การศึกษา กีฬา และอื่น ๆ ยกเว้น 4 เรื่องที่ให้เป็นอำนาจส่วนกลาง คือ ความมั่นคงประเทศ การต่างประเทศ ระบบเงินตรา และศาล
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เชียงใหม่มหานคร เมื่อ 26 ตุลาคม 2556 แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันยุบสภาเสียก่อน อย่างไรก็ดี ได้มีขับเคลื่อนร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ออกร่างพ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง โดยให้สิทธิ์จังหวัดใดต้องการปกครองตนเองสามารถเสนอชื่อเข้ามาได้
ขณะที่ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า คนในเมืองจะเพิ่มขึ้น คนชนบทลดลง พื้นที่เกษตรกรรมและเกษตรกรลดลง เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร คนจะพึ่งพาระบบทุนนิยมมากขึ้น และพึ่งพาตนเองน้อยลง เศรษฐกิจจะเกิดความผันผวน รวมถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ยังไม่นับรวมด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้รัฐบาลกลางไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้
นอกจากนี้ในอนาคตเมืองขนาดใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา อุบลราชธานี จะแข็งเมืองมากขึ้นในรูปจังหวัดปกครองตนเอง ตรงกันข้ามชนบทกลับอ่อนแอลงและต้องพึ่งพาเมืองขนาดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นเมืองขนาดใหญ่จึงควรจัดบริการสาธารณะรองรับ เช่น การศึกษา การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า หรือการส่งเสริมการลงทุน
“ในปี 2586 น่าจะมี อปท.หลัก ๆ เพียง 2 ระดับ คือ อบจ. (จังหวัดปกครอง/จัดการตนเอง) และเทศบาล แต่ละจังหวัดน่าจะมี อปท. ประมาณ 10-15 แห่ง ท้องถิ่นจะต้องมีสิทธิจัดตั้งสภาหลายสภาได้ หรือกำหนดให้พื้นที่เป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ เช่น ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก สิ่งเหล่านี้จะต้องสามารถทำได้ และเห็นควรให้อนาคตมีอปท.เพียง 760-1,140 แห่ง เท่านั้น มิใช่มีจำนวนกว่า 70,000 แห่งเหมือนในปัจจุบัน” ศ.ดร.จรัส กล่าว และว่า สำหรับราชการส่วนภูมิภาค คือ จังหวัดและอำเภอนั้นจะลดความสำคัญและต้องยุบเลิกไปในที่สุด เมื่อหมดยุคการเมืองประชานิยมในระดับชาติแล้ว บทบาทของรัฐบาลในการจัดบริการในระดับชุมชนจะค่อย ๆ หมดไป เพราะท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น .
ที่มาภาพ:เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์