ยุค ศรีอาริยะ : ประชาธิปไตยไทยไม่อ่อนแอ ไม่ถอยหลัง แต่กำลังก้าวหน้า
"วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นบ้านเรา ไม่คิดว่าเพื่อนบ้านจะเลียนแบบ
แต่บังเอิญที่ระบอบปชต.บ้านเขาคล้ายคลึงกับเราเท่านั้นเอง"
ณ วันนี้ประชาธิปไตยบ้านเรากำลังเข้าสู่ยุค “ประชาธิปไตยอ่อนแอ” และกำลังจะกลายเป็น "ตลกร้าย" ที่สะท้อนถึงประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด อย่างที่สื่อต่างชาติบางสำนักมองหรือไม่
ในสายตา ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ยุค ศรีอาริยะ มองวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า “ไม่ได้อ่อนแอ และไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบถอยหลัง”
แต่นี่คือประชาธิปไตยที่กำลังพัฒนาและกำลังจะก้าวหน้า ประชาชนเห็นว่าประชาธิปไตยระบอบผู้แทนที่ผ่านมามีปัญหา เนื่องจากเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจของคนตระกูลเดียว เป็นระบอบตัวแทนที่มีการรวบอำนาจ รวมทั้งผู้แทนที่เข้ามามีบทบาทมีการโกงกินและก่อให้เกิดปัญหาคอรัปชั่น นี่คือจุดความตื่นตัวของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องการปฏิรูป
“ประชาชนเรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่ การปฏิวัติ เราต้องการก้าวไปข้างหน้า ต้องการให้มีการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนมีบทบาทมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศในอนาคต”
@ การปฏิรูปจะทำให้บ้านเรามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ?
ความพยายามที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง เป็นการสร้างประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าไม่ใช่ถอยหลัง เว้นเสียแต่จะมีการัฐประหารเท่านั้น
"ผมว่า ประชาชนทุกคนก็ไม่ได้ต้องการให้มีการัฐประหาร เขาเพียงแค่ต้องการการปฏิรูป"
@ ประชาธิปไตยในเมืองไทยส่งผลต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากน้อยอย่างไร
การเมืองในประเทศไทยเป็นเพียงภาพสะท้อนของระบอบประชาธิปไตยที่มีการผูกขาดโดยคนตระกูลเดียว ไม่ได้มีบทบาทในเชิงจะกำหนดทิศทางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน คือ ประเทศกัมพูชาที่มีการประท้วงใหญ่ เนื่องจากลักษณะระบอบประชาธิปไตยในบ้านเขามีความคล้ายคลึงกับเรามาก มีสภา มีการเลือกตั้ง “ฮุนเซน” เป็นนายกรัฐมนตรีที่รวบอำนาจเด็ดขาด คล้ายๆกับ กลุ่มชินวัตร
ในตอนนี้ก็มีเพียงประเทศเดียวคือกัมพูชา หากโยงถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้
@ หมายความว่า เราประท้วงจนเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ
วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นบ้านเรา ผมไม่ได้คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเลียนแบบ แต่บังเอิญที่ระบอบประชาธิปไตยบ้านเขามีความคล้ายคลึงกับของเราเท่านั้นเอง คือเป็นระบอบที่คุมอำนาจโดยคนกลุ่มน้อย แล้วก่อให้เกิดการต่อต้านระบอบ
“ประเทศไหนที่มีการรวมอำนาจเด็ดขาดที่ศูนย์กลางหมด แล้วมีปัญหาคอรัปชั่น จะมีประชาชนเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะทุกประเทศต้องการประชาธิปไตยที่เปิดกว้างมาก”
@ อีก1-2 ปี ถ้าปัญหาการเมืองยังไม่จบ จะส่งผลต่อการเปิดประชาคมอาเซียนหรือไม่
อาจจะส่งผล ถ้าเรายังยุติปัญหาการเมืองไม่ได้
“ผมมองว่าคลื่นวิกฤติการเมืองนี้อาจจะต่อเนื่องยาวนานทั้งปี 2557” ส่วนจะส่งผลต่อการเข้าสู่ AEC มากน้อยแค่ไหน ก็ยังไม่แน่ใจ”