10 ปีไฟใต้...การขับเคลื่อนอันหลากหลายของภาคประชาสังคม
ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมกันจัดงาน Pesta Patani : Masyarakat Madani หรือ "ถอดบทเรียน 10 ปีภาคประชาสังคม" ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ม.ค.2557 ในวาระ 10 ปีไฟใต้ ครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน มีผู้สนใจเข้าร่วมงานแน่นขนัด
งานนี้เป็นการรวมตัวกันมากที่สุดขององค์กรภาคประชาสังคมแทบทุกกลุ่มในพื้นที่ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น Children Voice for Peace เครือข่ายวิทยุชุมชนปัตตานี สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน หนังสือพิมพ์ซีนารัน ปาตานีฟอรั่ม โรงเรียนมะอ์ฮัดดารุลมาอาเรฟ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ร้านหนังสือบูคู เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนสันติภาพชายแดนใต้ สถาบันภาษามลายูไทยแลนด์ มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม องค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายชุมชนศรัทธา (กัมปงตักวา) โรงเรียนบ้านพงสตา กลุ่มฮิลมี และศิลปินบูดู ลิตเติ้ล มีการขับขานอนาซีด ฉายสารคดีและหนังสั้น พร้อมด้วยนิทรรศการภาพถ่ายสันติภาพ ออแรญาบะ และสถาปัตยกรรมมลายู
ไฮไลท์ของงานอยู่ที่เสียงสะท้อนจากผู้คนชายแดนใต้ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นหัวหอกของภาคประชาสังคมต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่และการทำงานของภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนมาอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
พุทธ-มุสลิมร่วมแบ่งปันสุข-ทุกข์
ละม้าย มานะการ ตัวแทนคนไทยพุทธ บอกกล่าวถึงความตื่นตัวของพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 28 เมษาฯ 2547 หรือเหตุการณ์กรือเซะ มีการตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนถึงเหตุการณ์ตากใบ (25 ตุลาฯ 2547) ที่มีคนในพื้นที่บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก พี่น้องไทยพุทธได้จัดเลี้ยงน้ำชาเพื่อรับบริจาคช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่เดือดร้อน
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเข้าใจพี่น้องร่วมพื้นที่มากขึ้นถึงความเดือดร้อนที่ได้รับว่าเป็นการกระทำของคนบางกลุ่ม เริ่มมีเหตุรุนแรงรายวันมากขึ้น บางเหตุการณ์ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับคนของรัฐ เราเริ่มออกไปส่งเสียงว่าคนของรัฐไม่ควรทำผิด ควรปกป้องพลเมือง สันติวิธีคือทางออก เมื่อไปเยี่ยมมุสลิมเขาจะบอกว่าคนพุทธและเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำ เมื่อไปเยี่ยมคนพุทธก็จะว่ามุสลิมทำ ซึ่งในความเป็นจริงคนทำต้องถูกประณาม ไปฟังเสียงที่เขาทุกข์ เข้าไปค้นหาทุกข์ เพื่อความมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม เมล็ดพันธุ์ความดีมีอยู่ในตัวทุกคน ขอให้ช่วยกันออกมาทำความดี"
"มีการร้องเรียนเรื่องคนหายว่ามาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายเรื่องเข้าสู่กรรมการเยียวยา แต่การเยียวยาไม่ใช่ทางออก อยากทำงานเพื่อพัฒนาไปข้างหน้ามากกว่าการเก็บตก มีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบที่ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่ ผู้หญิงเหล่านี้กลายเป็นมือบนที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ ยกระดับมาพัฒนาอาชีพ ศักยภาพ และเรียนรู้การเจรจาเพื่อมาทำงานหยุดความรุนแรงของที่นี่ ไปคุยกับทหารโดยใช้สันติวิธี ทหารถามว่าทำไมไม่ไปขอร้องโจรให้หยุด เราบอกว่าเพราะเราไม่รู้จักโจร แต่ตอนนี้ก็พอรู้จักแล้ว"
คนพุทธเลิกกลัว-ร่วมต้านรุนแรง
ละม้าย เล่าต่อถึงการชักชวนคนพุทธออกมาส่งเสียงในพื้นที่ว่า อุปสรรคใหญ่คือความไม่กล้า
"ก่อนหน้านี้มีความกลัวที่จะออกมาบอกกล่าวหรือส่งเสียง ทว่าตั้งแต่มีเหตุกราดยิงตายหมู่ 6 ศพเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว (1 พ.ค.2556 ที่ร้านขายของชำในเขต อ.เมืองปัตตานี) ก็มีการรวมตัวของพี่น้องไทยพุทธมากขึ้น จากนั้นก็มีการจัดตั้งเครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนสันติภาพชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์ ทำงานเป็นเครือข่าย ปรับวิธีคิด ชักชวนมาทำงาน จับมือกัน และเปิดพื้นที่ให้มาทำงานเพื่อสันติภาพ แต่ไม่มีองค์ความรู้ จึงต้องสร้างแกนนำ เรียนรู้อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ใครจะฆ่าก็ฆ่าไป แต่ต้องจับมือกันทำเพื่อสันติภาพ"
รัฐมองเยาวชน "คนอันตราย"
สุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มาส (PERMAS) เล่าว่า 10 ปีที่ผ่านมาต่อสู้ด้วยปากกา ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่บางหน่วยงานยังมองเยาวชนชายแดนใต้เป็นคนอันตรายในพื้นที่
"อย่างบางคนถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้านเป็นกิจวัตร สัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ารัฐยังหวาดระแวงเยาวชนในพื้นที่อยู่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขอวิงวอนทั้งรัฐและขบวนการ (ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) ว่าให้ต่อสู้บนเป้าหมายจริงของทั้งสองฝ่าย อย่าเอาประชาชนมาเป็นเหยื่อ อย่างรัฐบอกว่ามีอาร์เคเคในพื้นที่ประมาณ 3,000 คน แต่เมื่อมีการจับกุมจริงก็เหวี่ยงแหจับไปทั้งคนแก่ คนพิการ นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น"
10 ปีคัดออก "องค์กรผลประโยชน์"
ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ ผู้อำนวยการสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ บอกว่า สิบปีที่ผ่านมาเป็นเวลาที่ท้าทายสำหรับองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ เป็นเวลาที่พิสูจน์ว่าองค์กรไหนทำงานจริงก็จะยังคงอยู่ ส่วนองค์กรที่ทำงานด้วยผลประโยชน์ แหล่งทุนก็จะหายไป
"องค์กรที่ยังคงอยู่คือองค์กรที่ตั้งใจช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่อย่างจริงใจ แม้จะมีแรงกดดันและประสบปัญหาอย่างไรก็ยังยืนหยัดมาจนทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มากนัก แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว"
ปาตีเมาะ อธิบายว่า การทำงานขององค์กรประชาสังคมเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์ความไม่สงบ มีการก่อเกิดขึ้นหลายองค์กรทั้งเล็กและใหญ่ ทำให้ชาวบ้านสามารถเรียนรู้การทำงานเพื่อสังคมและมีความเข้มแข็งมากขึ้น เป็นการกระจายความช่วยเหลือลงไปถึงชาวบ้านรากหญ้าได้อย่างแท้จริง แม้จะยังไม่ทั่วถึงก็ตาม
ขาดเอกภาพ-แนะแบ่งพื้นที่ทำงาน
เธอชี้ปัญหาว่า การทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อกันอย่างจริงจังและเป็นเอกภาพ ยังขาดการสื่อสารระหว่างกัน จึงต้องมี "คนกลาง" ให้หลากหลายองค์กรมารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้และแบ่งพื้นที่กันทำงานอย่างชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน แต่ควรมีธงอันเดียวกันคือ สันติภาพ ถือเป็น "จุดร่วม" ของทุกองค์กร
ปาตีเมาะ เสนอว่าการทำงานของภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ควรกระจายไปทุกกลุ่ม ไม่พุ่งเป้าไปแต่คนเดิม ต้องสร้างและให้โอกาสคนใหม่เข้ามาเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมคนเก่าให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ให้คนคนเดียวเข้าไปทำงานกับทุกองค์กร หากควรกระจายโอกาสให้ไปถึงในทุกกลุ่ม
"เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง เดินหน้าโชว์ศักยภาพให้เห็นว่าผู้หญิงทำได้ มีผู้หญิงเก่งมากมายในพื้นที่ แต่ขาดโอกาส ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง อย่างเรื่องการเมืองที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีการสร้างความเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทั้งที่สถานการณ์การเมืองเป็นตัวกำหนดชะตากรรมและอนาคตของชาวบ้านด้วยเหมือนกัน เรารู้แต่ว่ามีการยุบสภา และจะมีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็มีการข่มขู่ ห้ามออกไปรณรงค์เรื่องเลือกตั้ง จนเกิดความแตกแยกในครอบครัวและชุมชน" เธอกล่าวทิ้งท้าย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 บรรยากาศและนิทรรศการภายในงาน
4 ปาตีเมาะ