นักวิชาการชี้ไทยจะยกระดับเทียบการศึกษาจีน ต้องพัฒนาให้ได้ 3 เรื่อง
อธิการฯ ปัญญาภิวัฒน์ชี้การศึกษาจีนก้าวหน้า เหตุรัฐบาล-องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนทุนการพัฒนาครู เน้นเชี่ยวชาญสอนเป็นรายวิชา ย้ำหากไทยจะยกระดับต้องพัฒนา ระบบการเรียน ศักยภาพผู้สอนและความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ให้ได้
เมื่อเร็วนี้ๆ Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD ซึ่งเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศในกลุ่มยุโรป ยกย่องให้ระบบการเรียนการสอนในเมืองเซียงไฮ้ ประเทศจีนว่า เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก อีกทั้งนักเรียนที่เซี่ยงไฮ้ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นเด็กที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ดีที่สุดในโลกอีกด้วย
ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีที่นักเรียนในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนได้รับการยอมรับว่า เป็นเด็กที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ดีที่สุดในโลก รวมถึงระบบการเรียนการสอนด้วยนั้น เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองเปิด มีการศึกษาที่หลากหลายมีทั้งโรงเรียนที่เป็นของจีนเองและโรงเรียนที่ต่างชาติเขามาเปิดทำให้วิธีการเรียนการสอนที่เมืองนี้ค่อนข้างมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ความหลากหลายของคณาจารย์ อีกทั้งเซี่ยงไฮ้มีความเป็นอินเตอร์และเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ รวมถึงมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบการเรียนการสอนของที่นี่มีความเข้มข้น
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ประเทศจีนจะเน้นเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครู รวมถึงครูที่สอนในประเทศจีนค่อนข้างจะอุทิศตัวเองกับการสอน การที่เซี่ยงไฮ้มีความเจริญที่สุดจึงจำเป็นที่จะต้องหาครูที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีเข้ามาสอน ดังนั้นที่นี่จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นในเรื่องทุนทางด้านการพัฒนาศักยภาพครู
“ในฐานะที่เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองเศรษฐกิจของจีน เขาจึงพยายามที่จะนำเด็กมาปั้นเพื่อให้เด็กเก่งโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์”
หากเมืองไทยต้องการที่จะให้เด็กมีความเก่งและคิดเชิงวิเคราะห์ได้ดีนั้น ดร.สมภพ กล่าวว่า 1.ต้องพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน 2.พัฒนาระบบการเรียนการสอน ที่จีนความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์จะมีความใกล้ชิดกันมาก ในขณะที่ของบ้านเรามีความห่างเหิน และ 3.ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมากคือความชำนาญของครู ไม่ใช่ให้ครูประจำชั้นคนเดียวสอนทุกวิชา ที่ประเทศจีนจะเน้นเรื่องความเชี่ยวชาญของครูมากและจริงจังกับการเรียนการสอน
“สรุปคือหลักสูตรดี ครูดี ระบบการเงินการให้การสนับสนุนดี เขาดูตัวอย่างเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ได้ครูดีๆจากต่างประเทศเข้ามาสอน ปัจจัยเหล่านี้คือตัวแปรที่ทำให้ระบบการศึกษาและนักเรียนของเขามีประสิทธิภาพ ถ้าเราสามารถพัฒนาเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครู ระบบการเรียนการสอน การจัดการโรงเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับลูกศิษย์ รวมถึงหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและทันสมัย เน้นความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชา ทำได้ดังนี้ เชื่อว่าเราจะไม่แพ้เซี่ยงไฮ้แน่นอน” ดร.สมภพ กล่าว