‘ประสิทธิ์ บุญเฉย’ ค้านรัฐบาลบังคับโรงสี ซื้อกระสอบป่านบรรจุข้าว
‘ประสิทธิ์ บุญเฉย’ ค้านรบ.บังคับโรงสีซื้อกระสอบป่านบรรจุข้าว เหตุใช้ได้ครั้งเดียว-กระทบต้นทุนสูง หวั่นปท.ไปไม่รอด ยันควรยกเลิกโครงการจำนำทันที 'กิตติรัตน์' เตรียมดึงเงินกู้จากรัฐวิสาหกิจอื่นให้ธ.ก.ส.จ่ายชาวนาทัน 15 ม.ค. 56-กู้เงินเพิ่ม 2.7 เเสนล. เชื่อทำได้ไม่ผิดหลัก กกต.
สืบเนื่องจากคืนวันที่ 2 มกราคม 2556 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง เกี่ยวกับนโยบายบังคับให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวสั่งซื้อกระสอบป่านจากบังคลาเทศนั้น
ล่าสุด (3 มกราคม 2556) นายประสิทธิ์ ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่รัฐบาลออกแบบให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวสั่งซื้อกระสอบป่านจากบังคลาเทศ เพื่อนำมาบรรจุข้าวเก็บไว้ในโกดังจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและเกิดขยะมาก เพราะใช้ได้เพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายแห่งเปลี่ยนมาใช้กระสอบพลาสติกแทน
“หากรัฐบาลยังมีนโยบายให้ใช้กระสอบป่านอยู่ โรงสีจะไม่สามารถรับผิดชอบต้นทุนที่สูงขึ้นได้” นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าว และว่า ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด
นายประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีปัญหารัฐบาลค้างจ่ายเงินค่าโกดังข้าวว่ายังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากันเพื่อให้โกดังยอมรับข้อเสนอรับซื้อข้าวจากรัฐบาลเพื่อถือเป็นการใช้หนี้ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่ใจว่าสถานะทางการเงินของรัฐบาลขณะนี้ถังแตกหรือถังรั่วกันแน่
เมื่อถามว่าหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งควรแก้ไขนโยบายรับจำนำข้าวอย่างไร นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เห็นว่าควรยกเลิกโครงการทันที แล้วเปลี่ยนเป็นโครงการอื่นที่ดีกว่าแทน เพราะหากยังให้มีโครงการรับจำนำข้าวในลักษณะราคาสูงเช่นนี้ จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ประเทศก็จะไปไม่รอด และตอนนี้เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีเงินแล้ว ที่สำคัญ ชาวนาหลายคนเริ่มไหวตัวไม่ยอมรับในโครงการนี้ ถึงขนาดมีหนังสือหลายฉบับมาถึงตนเองร้องขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกันกระทรวงการคลังมีการหารือคณะทำงานบริหารหนี้สาธารณะในประเด็นการจัดหาเงินกู้จำนำข้าวส่วนที่ขาดอีก 1.3หมื่นล้านบาท เพื่อให้ครบตามกรอบวงเงินกู้4.1แสนล้านบาท
ซึ่งก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ให้แนวทางดึงวงเงินกู้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นที่ยังไม่ได้มีการจัดสรรมากู้ส่วนนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปก่อนตามสัญญา เพื่อให้มีเงินรับจำนำจ่ายชาวนาได้ตามกำหนด15 มกราคม 2556 เนื่องจากก่อนหน้านี้ สบน.ได้ล้มวงเงินกู้1.3หมื่นล้านบาทเพราะต้นทุนสูงจึงยังไม่ได้บรรจุไว้ในแผนก่อหนี้ฯ และเตรียมบรรจุในช่วงปลายปีแต่รัฐบาลยุบสภาฯก่อน
นอกจากนี้ จะหารือความเป็นไปได้ในการกู้เงินจำนำข้าวใหม่อีก 2.7แสนล้านบาท โดยเป็นวงเงินกู้1.4แสนล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะกระทรวงการคลังมองว่าเป็นนโยบายต่อเนื่องและเพื่อไม่ให้ชาวนาได้รับผลกระทบ