ศักดิ์ศรีตำรวจอยู่หนใด?
"..น่าประหลาดที่สุด ในขณะที่ตำรวจไทยกลุ่มหนึ่งทนให้ใครมาดูหมิ่น เหยียดหยามไม่ได้ แต่ทนอยู่กับการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อคอร์รัปชั่นหรือทนอยู่กับนาย(บางคน?)และนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้ ? .."
เมื่อเร็วๆนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายได้รวมตัวกันในใจกลางกรุงเทพมหานครเพื่อแสดงพลังปกป้องศักดิ์ศรีข้าราชการตำรวจอันเนื่องมาจากมีตำรวจเสียชีวิต 1 คนจากเหตุการณ์ปะทะในช่วงชุมนุมทางการเมืองที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
พร้อมเรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชาเร่งติดตามผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีและทนไม่ได้ที่ใครมาดูถูกเหยียดหยามข้าราชการตำรวจ ปรากฏว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก
จากกรณีดังกล่าวผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่บุคคลกลุ่มใดก็ตามใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระนั้นขอยกบางกรณีมาเปรียบเทียบประกอบความเห็นดังนี้
ประการแรก ในช่วงเดือนตุลาคม 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำสัญญาเช่ารถยนต์หลายพันคัน รวมวงเงิน 11,520.1 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.เช่ารถยนต์บรรทุกขนาด 1 ตัน แบบดับเบิ้ลแคป จำนวน 2,894 คัน จากบริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด วงเงิน 3,738,469,200 บาท
2.เช่ารถยนต์รถยนต์ตู้โดยสารจำนวน 1,447 คัน จากบริษัท วี.อาร์.พี.แอดวานซ์ จำกัด วงเงิน 2,660,164,800
3.เช่ารถยนต์ บรรทุกขนาด 1 ตัน แบบมีช่องว่างด้านหลังคนขับ จำนวน 1,311 คัน จากบริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด วงเงิน 1,182,259,800 บาท
4.เช่ารถยนต์บรรทุกอเนกประสงค์ ขนาด 3 ตัน 6 ล้อ ขนาด 24 ที่นั่ง จำนวน 659 คัน จากบริษัท เอ็ม.แซท.ดี.คาร์เซ็นเตอร์ จำกัด วงเงิน 73,780,510 บาท
5.เช่ารถยนต์ 3รายการ จำนวน 275 คัน จาก บริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด วงเงิน 458,244,000 บาท
6.เช่ารถยนต์ รถบรรทุก จาก บริษัท วี.อาร์.พี แอดวานซ์ จำกัด วงเงิน 2,193,015,000 บาท
และ 7.เช่ารถยนต์บรรทุกอเนกประสงค์ ขนาด 3 ตัน 6 ล้อ ขนาด 24 ที่นั่ง จำนวน 604 คัน จาก บริษัท เอ็ม.แซท.ดี.คาร์เซ็นเตอร์ จำกัด วงเงิน 1,214,222,400 บาท
จากการตรวจสอบพบว่าเอกชน 3 ใน7 ราย ได้แก่ บริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด บริษัท วี.อาร์.พี.แอดวานซ์ จำกัด บริษัท เอ็ม.แซท.ดี.คาร์เซ็นเตอร์ จำกัด มีผู้ถือและกรรมการโยงใยในลักษณะกลุ่มเดียวกัน มีการโอนหุ้นกันไปมา
(อ่านประกอบ: ตำรวจเช่ารถบิ๊กลอต 1.1 หมื่นล้าน - เครือข่ายเดียวกัน โยกหุ้นอุตลุต )
และเอกชนกลุ่มนี้เป็นคู่ค้ากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างน้อย 63 ครั้ง (สัญญา) วงเงินกว่า 18,177,085,895 บาท
(อ่านเพิ่มเติม: พบ 5บริษัทเครือข่ายสยามคาร์เรนท์รวบ“ขาย-เช่า”รถยนต์ตำรวจ 1.8 หมื่นล. )
ยิ่งกว่านั้นเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ตกเป็นข่าวในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2550 และนายสมัครได้ใช้กรณีดังกล่าวเป็นเหตุผลหนึ่งในการปลด ผบ.ตร.ในขณะนั้นออกจากตำแหน่ง ขณะนี้เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
คำถามก็คือกำลังพลเหล่านี้ได้ยินเรื่องนี้และเคยตั้งข้อสงสัยหรือไม่ว่าทำไมพ่อค้ากลุ่มดังกล่าวจึงวนเวียนเป็นคู่ค้าในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมานานหลายปีและได้รับเม็ดเงินนับหมื่นล้านบาท
ประการที่สอง ในช่วงปี 2550 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีจัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์สายตรวจ ขนาด 200 ซีซี ยี่ห้อไทเกอร์ จำนวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144.9 ล้านบาท โดยที่บริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท มีหญิงสาวคนหนึ่งถือหุ้นใหญ่ มีอาชีพรับจ้างอยู่ใน อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี จากการตรวจสอบพบว่าหญิงสาวคนดังกล่าวเป็นพนักงานในเครือ บริษัท สยามคาร์เรนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาเช่ารถยนต์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงปี 2550-2551 จำนวน 3 รายการ วงเงิน 8,011 ล้านบาท
คดีนี้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ รักษาการรอง ผบช.ก. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนารถ รักษาการ ผบก.ป. ขณะนั้นนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 50 นาย เข้าตรวจค้นผู้เกี่ยวข้อง ทั้งใน กทม.และปริมณฑลรวม 4 จุด หนึ่งในนั้นคือ บ้านพักของ อดีต ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ต่อมาเป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เท่ากับเป็นเครือข่ายเดียวกันซึ่งเรื่องนี้อื้อฉาวเป็นอย่างมาก และอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื้อฉาวอื่น อาทิ
โครงการก่อสร้างก่อสร้างสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ในพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงินค่าก่อสร้างรวม 5,848 ล้านบาทเมื่อ 25 มี.ค. 54
กรณีการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและอุปกรณ์เพื่อใช้ในภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เม็ดเงินนับพันล้านบาท
กรณีข้าราชการตำรวจตั้งแต่ระดับชั้นประทวนถึงนายพลจำนวนมากถูกร้องเรียนไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.นับร้อยเรื่อง บางเรื่องชี้มูลความผิดไปแล้ว อาทิ นายตำรวจยศพันตำรวจโทถูกชี้มูลในคดียักยอกเครื่องต้มกาแฟ เป็นต้น บางเรื่องอยู่ระหว่างตรวจสอบ
กรณีนักการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์นิยมฝากลูก(โอนย้าย?) มารับราชการตำรวจ บางคนนอกจากทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ยังหิ้วกระเป๋า ถ่ายรูปเสมือนหนึ่งเป็นพีอาร์ส่วนตัวให้แก่นักการเมือง
กรณีดังกล่าวเหล่านี้กำลังพลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาเรียกร้องต่อผู้บังคับบัญชาให้กระทำการอย่างตรงไปตรงมาและปกป้องศักดิ์ศรีของตำรวจอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่?
ประการที่สาม ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง 318 ราย (นับถึงวันที่ 23 ธ.ค.) แยกเป็นตำรวจ 36 นาย ทหาร 93 นาย ประชาชน 132 ราย พระ 1 รูป ครู 5 คน และเป็นคนร้าย ผู้ต้องหา หรือบุคคลที่มีหมายจับต่างๆ 51 ราย ส่วนยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุรุนแรง มีทั้งสิ้น 695 ราย แยกเป็นตำรวจ 70 นาย ทหาร 352 นาย ประชาชน 265 ราย ครู 8 คน
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 พบว่าในปี 2556 มียอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธเพิ่มขึ้นกว่าปี 2555 อย่างมาก แต่เกิดความสูญเสียกับประชาชนน้อยลง กล่าวคือ
ปี 2555 ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงเป็นตำรวจ 21 นาย ทหาร 39 นาย ประชาชน 223 ราย
ปี 2556 ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงเป็นตำรวจ 36 นาย ทหาร 93 นาย และประชาชน 132 ราย
(อ่านประกอบ:http://www.isranews.org/south-news/stat-history/item/26292-increase.html)
สำหรับยอดความสูญเสียจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ตลอด 10 ปี มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,705 คน เป็นตำรวจ 339 นาย ทหาร 466 นาย ประชาชนทั่วไป 2,482 คน พระ 15 รูป บุคลากรทางการศึกษา 33 คน ครู 101 คน ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 302 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 9,076 คน แยกเป็นตำรวจ 1,353 นาย ทหาร 2,315 นาย ประชาชน 5,234 คน พระ 24 รูป บุคลากรทางการศึกษา 23 คน ครู 122 คน ผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 28 คน (อ่านประกอบ http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/26320-tenyears.html)
จากกรณีดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดออกมาแสดงพลังปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีให้แก่เพื่อนข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่?
ล่าสุดยังเกิดกรณีนายดันแคน แมคคาร์โก (Professor Duncan McCargo) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทำวิจัยเรื่องการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย (The Work of Thai Police Investigators) ได้นำวิจัยดังกล่าวไปเผยแพร่ในงานสัมมนาทางวิชาการไทยศึกษา (COUNCIL ON THAI STUDIES 2013)ที่มหาวิทยาลัย นอร์ทเทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐ เมื่อวัน19 ตุลาคม 2556 กล่าวถึงพฤติการณ์รับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย เรียกเสียงฮือฮาและขบขันในหมู่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นชาวต่างชาติลั่นห้อง ในขณะที่ผู้เขาร่วมงานคนไทยได้แต่นั่งทำตาปริบๆ
ไม่เท่านั้นนายดันแคนยังเดินสายนำงานวิจัยชิ้นนี้มาบรรยายแบบเปิดจัดโดยศูนย์ศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 อีกรอบหนึ่งด้วย
คงไม่ต้องบอกว่าพวกเขาสรรเสริญพฤติกรรมตำรวจไทยอย่างไร?
จริงอยู่การตบเท้าแสดงพลังเรียกร้องศักดิ์ศรีสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าเป็นการแสดงออกที่“ล้าหลัง”ย้อนยุคไปหลายสิบปี แถมสุ่มเสี่ยงเจตนาข่มขู่อย่างไรหรือไม่ ?
ยิ่งกว่านั้นหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนไม่น้อยถูกทำร้ายร่างกาย กลับไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ถูกมองว่าไร้มาตรฐานหรือไม่?
น่าประหลาดที่สุด ในขณะที่ตำรวจไทยกลุ่มหนึ่งทนให้ใครมาดูหมิ่น เหยียดหยามไม่ได้ แต่ทนอยู่กับการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อคอร์รัปชั่นหรือทนอยู่กับนาย(บางคน?)และนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้ ?
ผู้เขียนเชื่ออย่างบริสุทธิใจว่าแท้ที่จริงศักดิ์ศรีของตำรวจไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลอื่นอย่างที่พยายาม(ขู่บังคับ?)ให้คนอื่นเข้าใจ หากอยู่ที่ตัวตำรวจเองมากกว่า
กระนั้น เป็นกำลังใจให้ข้าราชการตำรวจน้ำดีและข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้