บทความจาก "จูแวพลัดถิ่น" ทางสองแพร่งของโต๊ะพูดคุยสันติภาพ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทยและปัญหาขัดแย้งภายในของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเองนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีบทความจากผู้ที่ใช้นามว่า "อาบู ฮาฟิซ อัล ฮากิม" ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำนักสู้เพื่อปลดปล่อยปัตตานี หรือ "จูแว" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับโต๊ะพูดคุยสันติภาพ ส่งถึงสื่อมวลชนบางแขนงในประเทศไทย เนื้อหาอธิบายถึงปัญหาของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ พร้อมกับชี้ว่าแม้ขณะนี้การพูดคุยจำต้องหยุดชะงักไป แต่ก็ยังไม่สิ้นหวังที่จะสานต่อเสียทีเดียว
บทความดังกล่าวนี้มีชื่อแปลเป็นไทยว่า "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของกระบวนการพูดคุยสันติภาพไทย-บีอาร์เอ็น" เนื้อความระบุว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการหารืออย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 ซึ่งทั้งสองฝ่ายล้มเหลวที่จะบรรลุข้อตกลงริเริ่มลดความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน
กลุ่มนักรบแสดงบทบาท
การเผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านทางเว็บไซต์ Youtube เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2556 โดยอ้างว่าเป็น "มติสภาซูรอ" ของบีอาร์เอ็นที่มีความเห็นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็นนั้น ถือเป็นเครื่องยืนยันการคาดการณ์ของบางฝ่ายในเรื่องที่ว่าการพูดคุยสันติภาพดังกล่าวกำลังมุ่งหน้าไปสู่ทางตัน
ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวลือจะมีการปลด อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ออกจากการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น และตั้งคนอื่นขึ้นมาแทน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น นักวิเคราะห์บางรายมองว่าบีอาร์เอ็นกำลังจะหาทางออกจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพนี้ เพราะมีแกนนำจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและทิศทางของการพูดคุย
จากนั้นในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.2556 ฝ่ายไทยได้ร้องขอรายละเอียดข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นผ่านทางคนกลางอย่างมาเลเซีย ซึ่งเอกสารความยาว 24 หน้า (ฉบับเดียวกับเอกสาร 38 หน้าในเวอร์ชันพีดีเอฟ) ที่ได้รับจากบีอาร์เอ็น ได้อธิบายถึงรายละเอียดในข้อเรียกร้องแต่ละข้อ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยนี้ได้ใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการศึกษาข้อเรียกร้อง หารือ และเห็นพ้องในเนื้อหา ก่อนจะส่งจดมายตอบกลับมายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือน ต.ค
แจงผิดหวังท่าทีรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจกันว่า จดหมายตอบกลับจาก พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ไปยังมาเลเซีย ลงวันที่ 25 ต.ค. บ่งชี้ว่ายอมรับที่จะให้มีการนำ 5 ข้อเรียกร้องเบื้องต้นไปหารือเพิ่มเติมกันภายในหลัง
นอกจากนั้นฝ่ายไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม 2 ข้อด้วยกัน มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ โดยข้อแรกต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อลดความรุนแรง ส่วนข้อที่ 2 เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาเพื่อการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกันในกลุ่มประชาชนทุกเชื้อชาติและศาสนา
ช่วงสิ้นเดือน ต.ค. มาเลเซียได้จัดส่งสำเนาจดหมายไปถึงหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งแสดงท่าทีขานรับต่อการตอบสนองใน "เชิงบวก" ครั้งนี้ว่าจะเป็นการเปิดทางสู่การเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพอีกครั้งหลังชะงักงันมานานหลายเดือน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่บรรดาแกนนำบีอาร์เอ็น และผู้ปฏิบัติการภาคสนามได้ดำเนินการทบทวนและหารือ ก็ได้ข้อสรุปว่าคำอธิบายของฝ่ายไทยไม่ได้สอดคล้อง หรือเป็นไปตามความคาดหวังของกลุ่มนักรบ
ในย่อหน้าแรกของจดหมายนั้น พล.ท.ภราดร เน้นว่ายอมรับที่จะให้มีการหารือเพิ่มเติมในข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ซึ่งหลังจากที่มีการหารืออย่างเข้มข้นของ 2 ฝ่าย (แกนนำกับผู้ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น) ในภายหลังแล้ว ประโยคดังกล่าวอาจตีความได้ว่า จะรับหรือปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อก็ได้
ย้ำต้องนำ "5 ข้อ" เข้าสภา
เนื้อหาในช่วงแรกของข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ย้ำอย่างชัดเจนว่า "ขอให้รัฐบาลไทยเห็นพ้องในหลักการของข้อเรียกร้อง 5 ข้อ" กลุ่มนักรบมีความรู้สึกว่า รัฐบาลไทยจะต้องยอมรับในหลักการของข้อเรียกร้องทั้งหมดก่อนเป็นอย่างแรก ซึ่งการหารือในเวลาต่อมานั้น แต่ละฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าจะต้องมีการพิจารณาและเจรจาในข้อเรียกร้องเหล่านี้ต่อไป โดยไม่ได้มีการปฏิเสธข้อเรียกร้องใดๆ
เมื่อรัฐบาลไทยยอมรับในหลักการของข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อแล้ว จากนั้นจะต้องนำเสนอให้รัฐสภาอนุมัติเพื่อให้เป็นวาระแห่งชาติ ก่อนที่จะมีการหารือรายละเอียด แล้วการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
การกระทำเช่นนี้จะเป็นเหมือนการรับประกันว่ารัฐสภาจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าการเจรจาในอนาคตจะมีการบรรลุข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้รัฐสภาไทยยอมรับให้ข้อเรียกร้องทั้ง 5 เป็นวาระแห่งชาติ
โต๊ะพูดคุยชะงักชั่วคราว
ในคืนวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นได้เผยแพร่คลิปวีดีโออีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า "Penjelasan dan Penegasan" ซึ่งหมายความว่า แถลงการณ์และคำยืนยัน โดยได้มีการย้ำว่า จะยึดถือตามการตัดสินใจของสภาซูรอ เหมือนที่สมาชิกกลุ่มติดอาวุธบีอาร์เอ็นเคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้ที่ออกมาประกาศคำแถลงดังกล่าวด้วยตัวเอง ทำให้เกิดคำถามตามมา เมื่อเขาระบุถึงตัวเองว่าเป็นอดีตผู้นำคณะพูดคุยสันติภาพบีอาร์เอ็น หรือว่าข่าวลือที่เกิดขึ้นมานานหลายเดือนในเรื่องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว และนี่จะเป็นการส่งสัญญาณว่า บีอาร์เอ็นกำลังเริ่มถอนตัวจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเงียบๆ หรือไม่
แน่นอนว่า สถานการณ์เบื้องหลังเหตุการณ์ไม่คาดฝันครั้งนี้เป็นเรื่องภายในกลุ่มที่บีอาร์เอ็นต้องหาทางแก้ไขอย่างสุขุม โดยกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่เข้าร่วมการเจรจา (พูโล และบีไอพีพี) และสนับสนุนกระบวนการนี้ที่มีบีอาร์เอ็นเป็นแกนหลัก จะต้องเคารพในการตัดสินใจของบีอาร์เอ็น
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ สามารถระบุอย่างเป็นทางการได้ว่า กระบวนการสันติภาพแค่หยุดชะงักชั่วคราว แต่ยังไม่ถึงขั้นล้มเหลว ซึ่งหากพิจารณาจากคลิปวิดีโอล่าสุดแล้ว บีอาร์เอ็นควรมีการออกแถลงการณ์อธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนและอย่างเป็นทางการ เน้นถึงความตั้งใจที่แท้จริงต่อฝ่ายไทยผ่านทางผู้นำหน้าที่ประสานงาน (มาเลเซีย)
ยิ่งยุบสภา...โต๊ะเจรจายิ่งไม่แน่นอน
ฝ่ายไทยเองก็เผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากเช่นเดียวกัน โดยนับเป็นเวลา 2-3 เดือนมาแล้วที่รัฐบาลไทยต้องรับมือกับการประท้วงของฝ่ายที่กล่าวหารัฐบาลว่าเป็นหุ่นเชิดของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การต่อสู่ที่ทำให้ที่สุดแล้ว นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน และกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ.2557 หรืออีกไม่ถึง 2 เดือน
เมื่อพิจารณาจากแง่มุมของกระบวนการเจรจาสันติภาพแล้ว สถานการณ์ล่าสุดในกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาในหลายด้าน อาทิ เรื่องชะตากรรมของกระบวนการพูดคุยนี้ในอนาคต ผลกระทบที่จะเกิดต่อการพูดคุยจากการล่มสลายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นหัวหอกจัดการพูดคุยขึ้นมา และหากพรรคการเมืองอื่นได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล การพูดคุยสันติภาพนี้จะดำเนินต่อไปได้หรีอไม่
ขณะนี้ดูเหมือนว่าความกังวลของกลุ่มบีอาร์เอ็นในเรื่องความต่อเนื่องของการพูดคุยหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะเริ่มเข้าเค้ามากขึ้น ทำให้นักรบกลุ่มเดิมออกมาย้ำอีกครั้งว่า รัฐสภาจำเป็นต้องมีมติผ่านและสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปกป้องกระบวนการพูดคุยไม่ให้ถูกยกเลิกหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลขึ้นมา
โดยสรุปแล้ว กระบวนการสันติภาพปัตตานียังคงชะงักงันอยู่ และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งความไม่แน่นอนจากฝั่งกลุ่มนักรบปัตตานี และสถานการณ์วุ่นวายของฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีแนวโน้มว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่การเจรจาจะเดินหน้าต่อไปได้
แนะใช้พลังสังคมฟื้นโต๊ะพูดคุย
แม้ว่าการพูดคยสันติภาพในช่วงแรกจะต้องระงับไว้ก่อน แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคม กลุ่มเอ็นจีโอ และซีเอสโอ ควรจะเพิ่มความพยายามขึ้นเป็น 2 เท่าในการทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และให้ได้เสียงสนับสนุนที่จำเป็นจากประชาชน เพื่อให้มี "เครือข่ายความปลอดภัย" ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพนี้ล้มเหลว
ความปรารถนาและการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากประชาชนที่ต้องการเห็นกระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป อาจ "กดดัน" ให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับสู่โต๊ะพูดคุยอีกครั้ง และถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ประชาชนก็จะถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเป็นกลุ่มที่สามารถตัดสินทิศทางของกระบวนการเพื่อให้บรรลุสันติภาพได้ โดยไม่ต้องเอาแต่พึ่งพารัฐบาล หรือกลุ่มนักรบ หรือผู้ประสานงาน ในการตัดสินอนาคตของพวกเขา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศวันลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ อุสตาซฮัสซัน เมื่อ 28 ก.พ.2556 ที่เป็นไปอย่างชื่นมื่น ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึงปี อนาคตของกระบวนการสันติภาพเริ่มรางเลือน