ปรากฏการณ์แห่งปี'56 ผ่านกม.นิรโทษฯ กระตุกต่อม 'ความอดทน' คนไทยระเบิดครั้งใหญ่
หากเราย้อนมองประวัติศาสตร์ ในระยะ 40 ปี เราจะพบว่า มี “สึนามิ” ทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ นั่นก็คือ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีการลุกฮือของประชาชนสู้กับระบอบเผด็จการทหาร
เหตุการณ์ผ่านไป 20 ปี ก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และมามีการระเบิดอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเราได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ซึ่งถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ
ครั้งนั้นเราหวังกันว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน น่าจะเปิดทางสว่างสำหรับการก้าวเดินที่ดีขึ้นของระบอบประชาธิปไตยแล้ว เนื่องจากว่า เป็นครั้งแรกที่ให้มีองค์กรอิสระ ให้มีศาลรัฐธรรมนูญ และมีองค์กรอิสระมากมายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของอำนาจรัฐ
แต่ถึงที่สุด เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป ปรากฏว่า “ทุนการเมือง” ที่เข้าสู่อำนาจด้วยระบบพรรคการเมือง กลับใช้ช่องว่างกลไกรัฐ การแทรกแซงองค์กรอิสระ กลายเป็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนคาดหวังนั้น เหมือนจะล้มเหลว และนำมาซึ่งรัฐประหารปี 2549
คำถาม คือ เป็นเพราะที่ผ่านมาประชาชนฝากความหวังไว้กับผู้มีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ จึงเกิดการสะสม กระทั่งมาเกิดระเบิดครั้งใหม่ แถมเป็นลูกใหญ่เสียด้วย นั่นก็คือ ช่วงของคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง
ไม่น่าเชื่อ... มีคนจำนวนมากมายทุกสาขาอาชีพ ตั้งแต่ระดับปริญญาเอก ยันผู้ใช้แรงงาน ออกมาร่วมแรงร่วมใจแสดงพลังคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มากมายอย่างไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน
ทั้งน่าทึ่งสำหรับคนไทย และเป็นปรากฏการณ์ที่คนทั้งโลกให้ความสนใจประเทศไทยว่า ประเทศไทยกำลังจะเกิดอะไรขึ้น กระทั่งเดือนสุดท้ายของปี เกิดกระแส “ปฏิรูปประเทศ” ที่หลากหลายคนออกมาพูดพร้อมๆ กัน ว่า เมืองไทยต้องเปลี่ยนแปลง!!! ไม่ว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเกิดขึ้นหรือไม่...
สำนักข่าวอิศรา ชวนพูดคุยส่งท้ายปี กับ “บุญสม อัครธรรมกุล” อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2524 เขายกให้การออกมาต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นปรากฏการณ์แห่งปี เพราะไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้ในสังคมไทยจริงๆ ที่ระดับดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ หรือสหภาพแรงงาน มา "เห็นร่วม" ในปัญหาเดียวกันที่เป็นปัญหาสังคมระดับใหญ่
“ผมว่า เป็นปรากฏการณ์ที่วิเศษมาก”
ส่วนบุคคลหากจะให้คะแนน อดีต นายก อมธ. ปี 2524 มองว่า ก็ต้องให้คะแนน กำนันสุเทพ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่มีภาวะผู้นำโดดเด่น เขาแสดงความจริงใจต่อปัญหานี้ เพราะจริงๆ แล้ว หมอก็ดี ศาสตราจารย์ก็ดี คณบดีก็ดี แรกๆ ก็ไม่มีใครออกมาเท่าไหร่หรอก ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็ต้องดูท่าทีผู้นำด้วยว่า คุณมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่ มีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่
“สุเทพ ใช้เวลาพิสูจน์ประมาณ 1 สัปดาห์ และตัดสินใจตัดตัวเองออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจน ขอวางมือทุกเรื่องทางการเมือง การกล้าประกาศอย่างนี้ สุเทพพยายามย้ำแล้วย้ำอีก ผมว่าอันนี้ที่มันโดน ทำให้คนระดับที่มีดีกรีทางการศึกษา เห็นว่า เขาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวได้”
เมื่อถามว่า คนรักสุเทพ ถึงฝากชีวิตไว้กับสุเทพเลยไหม อดีต นายก อมธ. ปี 2524 ตอบชัดเจนว่า ไม่ คนไทยรู้ว่าการเดินบนเส้นทางการเมืองมาถึงขนาดนี้ได้ สุเทพต้องไม่ธรรมดา ต้องสัมผัสเรื่องสกปรก สีเทาบ้าง
“แต่ครั้งนี้ ผมว่า คนไทยเข้าใจสังคมมากขึ้น ในสถานการณ์นี้ สุเทพกล้ามายืนแถวหน้าแบบนี้ เรื่องอื่นเก็บไว้ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาจะไม่เฝ้าดูสุเทพจะฉวยโอกาสไหม จะชุบมือเปิบไหม ผมว่าเขาเฝ้า ผมว่าคนไทยเข้าใจสังคมมากขึ้น
ความจริงฮีโร่แต่ละยุคสมัยมันเกิดเสมอ ยุคหนึ่งตอนที่พลังธรรม คนก็กะจะฝากความหวังจำลอง ศรีเมือง ผมว่าแต่ละยุคสมัยมีคนที่เหมือนกับอาจฝากความหวังได้ แต่คนก็เฝ้าตรวจสอบ ฉะนั้นอยู่ที่ตัวตนคนคนนั้นเหมือนกันว่า หากคุณเดินพลาด ลุแก่อำนาจ หรือใช้อำนาจเกินเลย หรือทรยศกับคนที่ฝากความหวัง สุดท้ายก็แผ่วเหมือนกันหมด”
แล้วการเคลื่อนไหวแบบมวลมหาประชาชนแบบฉบับสุเทพ แตกต่างอย่างไรกับช่วง 14 ตุลาฯ เขาเห็นว่า ช่วง 14 ตุลาฯ พลังหลักคือพลังนักศึกษาล้วนๆ ไม่ใช่นักธุรกิจ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้ใช้แรงงาน นี่คือสิ่งที่แตกต่าง
“ครั้งนี้มากกว่า 14 ตุลาฯ สัก 10 เท่า”
และการผ่านกฎหมายนิรโทษ เป็นตัวสะกิดต่อมที่ทำให้คนรู้สึกเลยว่า ไม่ไหวแล้ว คุณใช้อำนาจโดยไม่เห็นหัวประชาชน
นี่คือต่อมความอดทนคนไทยระเบิดครั้งใหญ่ของปี 2556