“ทรงกลด บางยี่ขัน” ชี้อย่ากล่าวหาคนเย็นชาต่อสังคมเป็นไทยเฉย
ทรงกลด บางยี่ขัน แนะอย่ากล่าวหาคนเย็นชาต่อสังคมเป็นไทยเฉย ย้ำอาจเป็นเพียงไทยฉิวที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆจะส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างไร วอนสื่อนำเสนอข้อมูลทั้งสาเหตุของปัญหา-ทางออก เชื่อพลังประชาชนเปลี่ยนแปลงสังคมได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีวีบูรพาจัดงานคนค้นฅนอวอร์ดครั้งที่ 5 ศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ ตอนคนไทยไม่เฉย โดยภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “คนไท(ไม่)เฉยเมืองไทยเปลี่ยนแปลงได้” ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร aday กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นหลายครั้งเราจะมองหาคนตัวใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรใหญ่ แต่หากมองย้อนกลับไปแทบจะไม่เห็นรัฐบาลเปลี่ยนแปลงอะไรครั้งใหญ่เท่าไรนัก ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนมากจากคนตัวเล็กๆ หลายคนมารวมตัวกัน การที่มีคนบางกลุ่มเฉยต่อเรื่องบางเรื่องหรือไม่ได้ออกมาร่วมรณรงค์อะไร เราอย่าเพิ่งไปตีความว่า เขาเป็นพวกที่เมินเฉยต่อสังคม เพราะเขาอาจจะไม่ได้เป็นไทยเฉยแต่เป็นไทยฉิว เช่นเรื่องประท้วงเกี่ยวกับทางการเมืองหรือสิ่งแวดล้อมเขาอาจจะเฉย แต่พอขึ้นค่าทางด่วนจะออกมาโวยวายทันที นั่นหมายความว่า หากเรื่องบางอย่างไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเขา เขาก็จะมีความเฉยชา ดังนั้นปัญหาขณะนี้จึงอยู่ที่คนกลุ่มนี้ไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมีความเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อเขาอย่างไรบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของสื่อและคนในสังคมว่าจะทำอย่างไรที่จะเรียกพลังมวลชนเหล่านี้ให้มีส่วนร่วมในสังคมได้
นายทรงกลด กล่าวอีกว่า สำหรับตัวสื่อเองแม้จะถูกมองว่า การนำเสนอบางกรณีสื่อเฉยไม่มีการนำเสนอ เราอาจจะมองเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากสื่อแต่ละสื่อมีเป้าหมายที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ทฤษฎีก็มีความสำคัญ เพราะควรจะมีข้อมูลมารองรับสิ่งที่ได้นำเสนอไป รวมถึงการเล่าเรื่องราวของสื่อก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
"หากลองสังเกตจะเห็นว่า ที่ผ่านมาเราสื่อสารออกไปว่า มีปัญหาอย่างไร แต่ไม่ได้นำเสนอทางแก้ ผู้รับสารรู้ข้อมูลแล้วก็จบๆไป ฉะนั้นการทำงานของสื่อควรจะถ่ายทอดออกไปในรูปแบบปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร กระทบกับใครบ้าง และทางแก้ไขคืออย่างไร" บรรณาธิการนิตยสาร aday กล่าว และว่า บางปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขเพียงแค่เราออกมาเดิน แชร์ แล้วก็จบไป สิ่งเหล่านี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่เราต้องเข้าไปหาข้อมูล และไม่ได้จบแค่คำว่า เอาหรือไม่เอา เพราะเราควรจะรู้ต้นตอว่าเกิดอะไรขึ้น สร้างกระบวนการในการหาคำตอบและข้อมูลซึ่งพฤติกรรมในลักษณะนี้จะทำให้สามารถชักชวนเพื่อนที่เคยเฉยหรือไม่รับรู้ข้อมูลให้ออกมาร่วมแสดงพลังได้อย่างมีน้ำหนัก อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดการหาทางออกได้หลากหลายวิธี
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงพลังของคนตัวเล็กๆมีความสำคัญเสมอ แต่ทั้งนี้จะต้องมีคนจุดประกายและเชื่อมโยงความคิดไปยังบุคคลอื่นให้ได้ ทั้งนี้กลุ่มที่ถูกมองว่า เป็นไทยเฉยแท้จริงเขาอาจจะไม่ได้เฉยแต่เขาอาจจะยังไม่มีพื้นที่ที่เหมาะกับเขา หรือพื้นที่ที่เขาพอจะแสดงออกได้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
"การจะเรียกร้องอะไรสักอย่างจะต้องมีคนจุดประกายหรือเริ่มต้นก่อน ถ้าทุกคนยอมจำนนกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย และเชื่อว่าคนไทยที่ไม่เฉยมีเยอะ แต่เขายังไม่มีโอกาสและไม่มีพื้นที่ที่จะออกมาร่วม"
ขณะที่นายตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการเว็บไซต์ Change.org ประเทศไทย กล่าวว่า แท้ที่จริงแล้วโลกใบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยคนตัวเล็กๆ หรือกลุ่มคนเล็กๆ หากบุคคลเหล่านี้สามารถที่จะรวมตัวกันได้ ซึ่งในขณะนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกโซเชียลมีเดียมีความรวดเร็วและถูกใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงเว็บไซต์ Change.org ที่มีผู้ใช้กว่า15 ล้านคนทั่วโลก ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยเห็นคนชนชั้นกลาง หรือคนในกรุงเทพออกมาเคลื่อนไหวอะไรมากนัก ภายหลังจากมีช่องทางผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สื่อก็เป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้คนมีช่องทางในการสื่อสารและสามารถแสดงออกได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลายคนที่ไม่สามารถจะเข้ามาร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้เขาก็เข้ามาร่วมลงชื่อในเว็บไซต์และเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม แม้จะไม่ได้แสดงออกในโลกจริง แต่ในโลกออนไลน์ก็สามารถที่จะขับเคลื่อนได้
ส่วน อาภาณี มิตรทอง เจ้าของกิจกรรมการรณรงค์รถเมล์สำหรับคนพิการบนเว็บไซต์ Change.org กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้พิการมักจะถูกมองให้เป็นผู้รับตลอด ต้องรับการช่วยเหลือจากสังคม รัฐบาล จนกระทั่งวันหนึ่งเราออกมาเรียกร้องที่จะให้มีรถเมล์พื้นต่ำเพื่อคนพิการมีการถกเถียงกัน แต่ยังไม่เกิดอะไรขึ้น พอเรามาเดินคัดค้านเรื่องเขื่อนแม่วงก์มีการปรึกษาและหาวิธีจนกระทั่งมีการให้คนในสังคมร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ และนั่นทำให้เห็นว่า มีคนในสังคมยังเป็นพลังและร่วมรณรงค์ไปกับเรา
สำหรับการเรียกร้องสิทธิ เจ้าของกิจกรรมการรณรงค์รถเมล์สำหรับคนพิการฯ กล่าวว่า ไม่ได้ทำเพื่อผู้พิการ แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของคนในสังคมทุกคน เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กก็สามารถใช้รถเมล์ร่วมกับผู้พิการได้ และอยากให้ทุกคนในสังคมมองว่า การเรียกร้องหรือรณรงค์เรื่องใดก็ตามไม่ใช่เพื่อสิทธิของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพื่อทุกคน แม้ผู้พิการจะถูกมองเป็นกลุ่มเล็กแต่เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวเราก็สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิของเราได้
“เราไม่ได้อยากเป็นแค่ผู้รับ แต่เราอยากให้คนพิการได้มีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคม และมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่ามองคนพิการเป็นเพียงคนชายขอบที่จะรับรอการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว ซึ่งกิจกรรมที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า คนเล็กๆไม่กี่คนก็เปลี่ยนสังคมและเรียกร้องสิทธิของตนเองได้”