‘สุภิญญา’ แนะจับตาบริหารเงินประมูลทีวีดิจิตอล 5 หมื่นล.
‘สุภิญญา’ เผยเตรียมถกบอร์ดกสท. ทบทวนร่างประกาศเนื้อหาม.37-รับรองผลประมูลทีวีดิจิตอล 6 ม.ค. 56 แนะผู้บริโภคหาซื้อกล่องรับสัญญาณได้แล้ว แต่ต้องมีสัญลักษณ์กสทช. ระบุจับตาบอร์ดกองทุนวิจัยฯ บริหารเงินประมูล 5 หมื่นล.
วันที่ 28 ธันวาคม 2556 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประมูลคลื่นโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลว่า หากไม่พบความผิดปรกติและไม่มีเรื่องร้องเรียน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะรับรองผลการประมูลได้ใน 15 วัน หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าบอร์ดใหญ่และมีกระบวนการออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเลือกผู้ให้บริการเช่าโครงข่าย (MUX) เลือกหมายเลขช่อง เตรียมจ่ายเงินก้อนแรก และ เตรียมการออกอากาศครั้งแรกไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า
ทั้งนี้ หลังจากรับเงินก้อนแรกจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาต รายได้ดังกล่าวจะนำเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด รายได้จากการประมูลประมาณครึ่งหนึ่งจะคืนกลับไปเป็นคูปองในการซื้อกล่องรับหรือทีวีใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มมูลค่าของคูปองให้กับ 22 ล้านครัวเรือน หลังพบว่ารายได้เงินมากกว่าราคาตั้งต้นเยอะ
“จึงขอฝากเครือข่ายผู้บริโภคช่วยจับตาด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับธรรมมาภิบาลและผลประโยชน์สาธารณะ รวมถึงอาจคาบเกี่ยวกับบอร์ดกสทช.ในชุดปัจจุบันและอนาคต” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่าทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถซื้อกล่องรับทีวีดิจิตอลได้แล้วด้วยตนเองตามห้างร้านทั่วไป แต่ให้ขอดูสัญลักษณ์ของ กสทช. เพื่อเป็นการรับรองมาตรฐานเทคนิคว่าดูได้แน่นอน
สำหรับผลการประมูลตลอด 2 วันที่ผ่านมา นางสาวสุภิญญา ยอมรับว่า เกินความคาดหมาย เพราะการแข่งขันคึกคักมาก สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมฟรีทีวียังเป็นที่ต้องการสูงและเติบโตไปได้อีก ประเมินจากความพร้อมลงทุนของผู้ประกอบการ แม้จะเสี่ยงขาดทุนในช่วงปีแรก ๆ และแม้จะลงทุนไปในทีวีดาวเทียมแล้วก็ตาม
ทั้งนี้การผลิตในระบบฟรีทีวีคงต้องเพิ่มคุณภาพและความหลากหลาย เพราะจะเป็นสื่อทีวีที่เข้าถึงประชาชนทั้งประเทศ มูลค่าจากการประมูลประมาณ 50,862 ล้านบาท สังคมต้องจับตาว่า กองทุนก้อนนี้จะถูกบริหารจัดการอย่างไรโดยบอร์ดกองทุนฯ ร่วมกับ กสทช. อย่างไร
“จากนี้ความยากท้าทายต่อไปคือการกำกับดูแลเนื้อหา ซึ่งบอร์ด กสท.ได้ตกลงร่วมกันระดับหนึ่งแล้ว ว่าการเข้าไปควบคุมโดยรัฐแบบใช้อำนาจตรงคงเป็นไปได้ยาก ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาทบทวนร่างประกาศการกำกับเนื้อหาตามมาตรา 37 ในการประชุมนัดแรกของปี วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 57 พร้อมวาระการรับรองผลการประมูลไปด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศเข้าสู่การปลดแอกอิสรภาพให้กับฟรีทีวีในยุคดิจิตอล พร้อมส่งเสริมการกำกับดูแลตนเอง/กันเองขององค์กรสื่อและการกำกับร่วมกันระหว่าง กสทช. และ ผู้รับใบอนุญาตให้จริงจังมากขึ้น” กรรมการ กสทช. กล่าว และว่าเหมือนนักเรียนจะเปิดเทอมใหม่ มีจุดเริ่มนับหนึ่งในกติกาใหม่และเวทีใหม่พร้อมๆกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ กสทช.จะได้ใช้จังหวะนี้ในการเปิดเวทีพูดคุย เพื่อวางกติกา ( Code of Conduct/Practice ) ต่าง ๆ ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การสร้างดุลยภาพระหว่างสิทธิเสรีภาพของสื่อและความรับผิดชอบต่อสังคม .