“ลูบหน้าปะจมูกไม่ได้แล้ว” ฟังมุมมอง ‘ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ โครงการไหนไม่ประณีต
เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ตัวเลขที่ออกมาก็บ่งชัด ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตหลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินมหาศาลนี้สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความแข็งแกร่ง และศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุย กับศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่เคยทำวิจัยไว้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน พบมีการกระจุกตัวของการคอร์รัปชั่นในบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงเงินสูง อาทิ ตำรวจ ที่ดิน สรรพากร และกระบวนการยุติธรรม
และน่ายินดีว่า ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 นี้ อาจารย์ผาสุก และคณะจะทำการสำรวจซ้ำทั่วประเทศอีกครั้ง โดยการสนับสุนนของ สกว. เพื่อเปรียบเทียบกับครั้งแรกว่า การกระจุกตัวของการคอร์รัปชั่น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง รวมถึงการซื้อเสียงขายเสียงด้วย
ตลอดปี 2556 อาจารย์ผาสุก มีมุมมองเรื่องความโปร่งใสของนโยบายสาธารณะ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมงบประมาณ 35,000 ล้านบาท และการใช้งบประมาณ 2,000,000 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างระบบสาธารณูปโภค
เมื่อถามถึง “ที่สุด” ของปี 2556 นโยบายที่คิดว่า มีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด อาจารย์ผาสุก ชี้ไปที่โครงการจำนำข้าว พร้อมกับมองว่า หากไม่ดูแลเลือกตั้งปีหน้า โครงการแบบนี้ก็จะกลับมาอีก โดยเฉพาะการรับจำนำข้าวทุกเม็ด
“จริงๆ แล้วผลดีของโครงการจำนำก็มี แต่เมื่อมอง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่า แย่มากๆนะ หากจะถามว่า เงินถึงมือชาวนาจริงๆ หรือไม่ ตีซะว่า โครงการจำนำข้าว 30% ไม่ถึงมือชาวนา”
การมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้นทำให้กระบวนการเอาผิดนักการเมือง นักธุรกิจ มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่…ก็น่าจะทำได้มากกว่านี้ เช่น กรณีจำนำข้าว ก็เห็นกันโต้งๆว่า มีปัญหามากมาย แต่ไม่สามารถเอาผิดใครได้สักคน (เวลานี้)
ขณะที่โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการกู้เงินมาทำโครงสร้างพื้นฐาน อาจารย์ผาสุก มองว่า “เราจะไปว่าเขาไม่ได้ เขายังไม่ได้ทำเลย” สมมุติว่าเรา ไปบอกว่า จะมีคอร์รัปชัน ฉะนั้นอย่างทำเลย ก็ไม่ได้ การทำโครงการสาธารณูปโภค หากดูเรื่องความจำเป็นก็ต้องทำ แต่เมื่อทำไปแล้วมีปัญหาคอร์รัปชั่น ก็ต้องมีกระบวนการกำกับดูแล
“แต่แน่นอนเท่าที่ผ่านมา มีความไม่ประณีตในการจัดเตรียมโครงการต่างๆ ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่มีรายละเอียด มีเนื้อหาเพียงสองหน้าครึ่งของหน้ากระดาษเท่านั้น อะไรอย่างเงี้ย คือความประณีตไม่มี”
ดังนั้น โครงการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะได้ขึ้นมา ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งคราวนี้ ซึ่งอาจต้องลงทุนมากกว่านี้ด้วยซ้ำ อาจารย์ผาสุก ย้ำชัดว่า ก็จะต้องมีความประณีตมากขึ้นในการจัดทำโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อีกทั้ง ต้องแสดงถึงความตั้งใจ ความจริงใจที่จะให้มีการกำกับควบคุมการทุจริตคอร์รัปชัน
อาจารย์ผาสุก เห็นว่า ที่ผ่านมามีการใช้วิธีทำให้โครงการใหญ่ไม่ผ่านหน่วยงานตรวจสอบ เช่น การใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งการทำอะไรแบบ “รีบด่วน” ท้ายที่สุดก็ยิ่งแพง ยิ่งช้าเข้าไปอีก
ฉะนั้นรัฐบาลควรหลีกเลี่ยงการใช้เงินนอกงบประมาณแบบนี้ ใช้กระบวนการตามปกติ อาจช้าหน่อย แต่ประชาชนจะมีความมั่นใจ รวมทั้งต้องให้การสนับสนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่มีอยู่ ให้เขาทำหน้าที่ได้ด้วย
หรือหากองค์กรที่กำกับดูแลด้านคอร์รัปชันยังมีจุดอ่อน เช่น เรื่องกฎหมาย ก็ควรสนับสนุนให้ทางหน่วยงานเขาพิจารณา เสนอวิธีการปรับปรุงกฎหมาย เป็นต้น
ส่วนเรื่องของความโปร่งใส การเปิดข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชนนั้น อาจารย์ผาสุก มองว่า "บางครั้งคนเราก็เรียนรู้บทเรียนช้านะ ที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนให้ข้าราชการ นักการเมืองแล้วว่า ประชาชนมีความตื่นตัวสูงแล้วนะ จะทำโครงการอะไรที่ลูบหน้าปะจมูกไม่ได้อีกแล้ว”