'ตระกูล มีชัย' ชี้แนวโน้มต่อสู้ทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 ขั้วลากยาว
ตระกูล มีชัย ชี้ แนวโน้มการต่อสู้ทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 ขั้วลากยาว ทางออกต้องมีสลับ 'แพ้-ชนะ' คาดหวังพลังนักการเมืองรุ่นใหม่
รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่มีกลุ่มประชาชนออกมาแสดงพลังขับไล่รัฐบาลว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การแบ่งฝ่ายทางการเมืองที่มีเหลืองกับแดงดั่งเช่นในอดีต และการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคการเมืองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
"ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ในเชิงของแนวคิดและอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย 2 ขั้ว ที่มีผู้สนับสนุนต่างกัน ขั้วแรกเป็นประชาธิปไตยทุนนิยมแบบผูกขาดโดยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง ที่ใช้อำนาจประชาธิปไตยแบบผูกขาดโดยการนำอำนาจนั้นมาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง จากการทำงานบริหารและพยายามขยายอำนาจครอบคลุมทั้งประเทศ ผู้สนับสนุนแนวทางนี้ส่วนมากจะเป็นประชาชนในชนบทที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย รวมถึงเหล่านักการเมืองที่ชอบย้ายคอก ขั้วที่สองเป็นประชาธิปไตยเสรี ร่วมกับกลุ่มคนที่ยืนอยู่บนหลักของธรรมาภิบาล ที่ต้องการให้ประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยแบบเสรี ต้องยืนอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ใช้อำนาจที่ได้มาบริหารประเทศด้วยความถูกต้องโดยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีเครือข่ายที่หลากหลาย เนื่องจากบรรดาข้าราชการประจำ ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ"
เมื่อถามว่าเหตุการณ์นี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป รศ.ตระกูล กล่าวว่า การต่อสู้ทางการเมืองโดยทั่วไปมีเพียง 3 ออกเท่านั้น คือ หนึ่งชนะทั้ง 2 ฝ่าย แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ สองแพ้ทั้งคู่ มีมือที่สามเข้ามาจัดการ หนทางนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะทั้งสองฝ่ายคงไม่มีใครยอม และทางสุดท้ายคือฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ ซึ่งมีโอกาสเป็นข้อนี้สูงมาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายในการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่มาก สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการนั้นเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามรับกันไม่ได้เลย เมื่อรัฐบาลคือฝ่ายที่ถูกโจมตีให้หยุดการทุจริตคอร์รัปชัน และขอให้ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก เลิกทำอะไรตามอำเภอใจลุแก่อำนาจ รัฐบาลก็ไม่ยอม และเมื่อเป้าหมายต่างกัน การหาทางออกของทั้งสองฝ่ายก็คือการต่อสู้
“จากการเดินขบวนครั้งใหญ่ 3 ครั้งในกรุงเทพฯ ถนนทุกสายมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกัน เราไม่ต้องนับว่า กี่ล้านคน แต่ใช้คำว่ามหาศาลได้เลย เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนออกมามากขนาดนี้ มากกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หลายสิบเท่า อีกทั้งปีใหม่นี้ก็จะไปเคาท์ดาวน์ด้วยกันที่เวทีราชดำเนิน จะเห็นว่า หลายคนมาด้วยใจ ใจที่อยากจะสู้ ผมเชื่อว่าหากจะมีการเดินขบวนอีกจะต้องมีประชาชนมาเพิ่มมากขึ้น เพราะแกนนำเขามีมากขึ้นอันเป็นการเพิ่มฐานอำนาจให้กับกลุ่ม กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) การเพิ่มอำนาจในฐานของประชาชนจำนวนมหาศาล เป้าหมายเขาต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”
ศร.ตระกูล กล่าวถึงการต่อสู้ขณะนี้ที่กำลังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการเลือกตั้งนั้น มีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กระทำการผิดพลาด แต่หากเกิดขึ้นจริงก็อาจจะไม่จบง่ายๆ เพราะขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว มีโอกาสที่จะไม่ได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)จากภาคใต้และก.ท.ม. เมื่อ ส.ส.ไม่ครบ ก็เปิดสภาฯไม่ได้ หรืออาจเลือกผู้แทนมาแล้วมีการฟ้องร้องเรื่องการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และมีข้อสังเกตว่า นักการเมืองขณะนี้ไม่มีใครกล้าลงทุนควักกระเป๋าในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะมีแนวโน้มจะอยู่ไม่ครบเทอม
"ดูได้จากตามท้องถนนยังไม่ปรากฏป้ายหาเสียงของพรรคใด แต่หากผลการเลือกตั้งออกมาแล้วพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็กลายเป็นรัฐบาลฝ่ายเดียวที่ไม่มีฝ่ายค้าน การทำงานก็จะเกิดปัญหา อีกทั้ง กปปส. ก็ยังอยู่พวกเขาก็คงยังค้านต่อ ไป การบริหารก็ดำเนินไปไม่ได้" อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว และว่า อีกปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และจะทำให้การลงคะแนนเลือกตั้งนั้นไม่มีความชอบธรรม คือ การที่มีประชาชนไปเลือกตั้งน้อยมาก หรือการไปแสดงตัวขอใช้สิทธิแต่ไม่ลงคะแนนเลือกและคืนบัตร ทำบัตรเสีย และ NO VOTE เมื่อทั้งหมดนี้นับรวมแล้วมีจำนวนใกล้เคียงกับคะแนนเสียงข้างมากที่ได้ก็มีปัญหาความไม่ชอบธรรม
รศ.ตระกูล กล่าวถึงการจัดตั้งสภาปฏิรูปที่มาจากนักการเมืองหรือรัฐบาลเองก็ไม่มีใครเห็นด้วย เมื่อปรากฏการณ์ออกไปว่า รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศไทย แต่ก็ยังดังทุรังบอกว่าตัวเองมาจากคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอยู่ ลักษณะแบบนี้หากปล่อยไว้นานประเทศชาติจะเสียหาย วัดใจรัฐบาลและทักษิณ หากยังไม่ถอยเพราะยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หลังจากนั้นอาจมี 2 เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น คือ
1. เกิดปฎิวัติประชาชน คล้ายกับการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่
2. เมื่อถึงจุดที่สถานการณ์ไปต่อไปไม่ได้ ทหารที่มีอำนาจอาจจะออกมาปฏิวัติยึดอำนาจ แต่อาจจะไม่ใช่การยึดอำนาจแบบเดิม แต่อาจเป็นการหาทางปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยส่วนตัวที่พยายามมองทหารในแง่ดีว่าทหารไม่ได้เข้าข้างรัฐบาล แต่ที่ทหารยังไม่ทำเพราะเกรงสังคมประชาธิปไตย ในประเทศมหาอำนาจทั้งหลายจะกล่าวตำหนิว่าไปทำลายล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
“ขณะนี้มีคนเสื่อมศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยอยู่มาก แต่ก็ยังไม่ถึงขีดสุด ยังมีคนที่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกที่ดี แต่โดยธรรมชาตินักการเมืองเมื่อได้รับเลือกเข้ามาก็มักแก่งแย่งชิงตำแหน่งทางการเมือง หากนักการเมืองยังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ กลุ่มนี้หันไปร่วมกับ กปปส.เมื่อไหร่ อาจเป็นเรื่อง เพราะหลังการเลือกตั้ง กปปส.ก็คงไม่ไปไหน อาจจะมีการตื่นตัวเป็นระยะตามกระแสคอยเฝ้าดูการทำงานของรัฐบาลต่อไป” อ.ตระกูล กล่าว
รศ.ตระกูล กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วในระบอบประชาธิปไตยจะยังคงอยู่ต่อไปแม้จะมีการปฏิรูปประเทศ แต่การต่อสู้ก็ควรตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์กติกาหลักของประเทศ การต่อสู้เช่นนี้อาจนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบคู่ขนาน ที่มีสองขั้ว สองแนวทาง ที่อาจนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีการต่อสู้กับระหว่างสองขั้วได้ดีทีเดียว แต่อยากหวังให้มีการผลัดกันขึ้นไปมีอำนาจหล่นอำนาจสลับกัน แต่ปัญหาก็ยังอยู่ที่การหาผู้มาสร้างกฎเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ผู้ที่มองเรื่องของผลประโยชน์ของชาติมิใช่พวกอีแอบที่ทำตัวเป็นกลาง แต่สุดท้ายก็ออกกฎมาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหวังกับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่อาจเข้ามาแทนที่นักการเมืองเก่าที่แย่ได้บ้าง