คุยกับหมออำพล จินดาวัฒนะ ‘ปฏิรูปประเทศ’ แบบไทยไม่เฉย
แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะอยู่ในภาวะวิกฤตที่ยังไม่คลี่คลาย แต่วิกฤตครั้งนี้ได้สร้างจุดร่วมที่ทุกสี ทุกฝ่ายพูดตรงกันเรื่องหนึ่ง คือ 'ปฏิรูปประเทศ' ไม่ว่าจะโดยจุดมุ่งหมายใดก็ตาม นับเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ หากจะมีการพูดคุยถึงแก่นแท้ของการปฏิรูปที่ยอมรับได้ร่วมกัน
"ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา" มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องปฏิรูปกับ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนงานสมัชชาสุขภาพกว่า 10 ปี และในฐานะอดีตผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ผู้เคยทำงานด้านปฏิรูปประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ถึงทางออก และแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย
นพ.อำพล เสนอถึงแนวทาง 'การปฏิรูปประเทศไทย' ว่ามี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.เรื่องประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่ผ่านมาประชาชนลงคะแนนเลือกนักการเมืองเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่กลับถือว่า อำนาจนั้นเป็นสิทธิขาด ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเมื่อได้รับเลือกเข้ามาก็ไม่ได้ช่วยสร้างความผาสุกให้คนข้างล่าง กลับก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ความจนกระจาย ความรวยกระจุกตัว สถานการณ์เช่นนี้เป็นโครงสร้างที่ผิดเพี้ยน
ดังนั้น ต้องปฏิรูปด้วยการสร้าง "ระบบควบคุมกำกับการทำงานระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน" ที่ประชาชนทุกภาคเข้าไปมีบทบาท รับฟังความเห็นประชาชนในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องเล็ก หรือนโยบายใหญ่ของประเทศ ไม่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
ส่วนการสร้างระบบควบคุมรัฐบาล หรือหน่วยงานที่มาจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทำได้อย่างไรนั้น นพ.อำพล ยกตัวอย่าง ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการทำประชาพิจารณ์ ควรเป็นข้อกำหนดหรือกฎหมายเลยว่าโครงการแบบใด นโยบายแบบใด แผนพัฒนาแบบใดที่ต้องฟังประชาชน รวมถึงรับฟังอย่างไร ขนาดไหน ต้องทำประชามติหรือไม่ หรือต้องฟังตั้งแต่ขั้นริเริ่ม ระบุให้ชัดว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมได้แค่ไหน ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระบบเหล่านี้ต้องมีการปรับ พัฒนา ทั้งในเรื่องกฎหมาย ให้เอื้ออำนวยต่อประชาชน ที่ไม่เป็นเพียง 'ระบบแบบผิวเผิน' อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการมีส่วนรวม
"กรณีตัวอย่างของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ การจะออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับชุมชนใด นโยบายที่กระทบต่อสาธารณะจะถามประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้โหวตลงคะแนนว่าเห็นด้วยหรือไม่ บางประเทศถามความเห็นประชาชนเป็นรายสัปดาห์ รวมถึงมีการเยียวยา แก้ไขปัญหาสำหรับผู้เสียประโยชน์ จนเป็นวิถีปกติของทั้งรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ใช่ได้รับเลือกตั้งแล้วหายไป 4 ปี"
ขณะที่ 'ระบบของไทย' นพ.อำพล บอกว่า ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ยังเป็นแบบผูกขาดอำนาจ รัฐคิดเอง ตัดสินใจเอง พอประชาชนโต้แย้งก็ท้าให้มาลงเลือกตั้งแข่งขัน จึงต้องสร้างระบบกลไกและโครงสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนสำคัญที่จะต้องปฏิรูปอย่างแน่นอนคือ 'รัฐธรรมนูญ' ที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนควบคุม กำกับการทำงานของระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน
"ทุกวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก คนในพื้นที่ถูกผลกระทบมาก ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ และทรัพยากรที่มีอยู่ คิดตัดสินใจทำโครงการแบบคนมีอำนาจ หากปฏิรูปต้องสร้างระบบที่ไม่ว่าโครงการเล็ก หรือใหญ่ต้องรับฟังสาธารณะ โครงการจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง และจะจัดการผลกระทบเหล่านั้นอย่างไรบ้าง แต่ก็เห็นความจำเป็นว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังต้องมีอยู่ แต่ไม่ใช่แบบปล่อยให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ"
2.พลิกกลับสามเหลี่ยมอำนาจโดยการกระจายอำนาจ ขณะนี้โครงสร้างอำนาจแบบเบ็ดเสร็จรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง เป็น 'พีรามิดหัวกลับ' ใช้อำนาจในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรอย่างมโหฬาร ต้องพลิกคืนสามเหลี่ยมอำนาจให้เกิดความสมดุล ทั้งอำนาจการตัดสินใจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรระดับชุมชน
3.ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือแบบถกแถลง (Participatory หรือ Deliberative Democracy) จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 ในหมวดสิทธิชุมชนระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐจะต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วม การตัดสินใจ การวางนโยบาย การพัฒนาประเทศ การตัดสินใจสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีกลไก ไม่มีระบบเช่นนี้เกิดขึ้น
ดังนั้น การปฏิรูปครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าช่วงเวลาใดก็ตาม ต้องสร้างระบบและกลไกดังกล่าวนี้ เพราะแม้จะมีกลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่เมื่อรัฐนำขึ้นพิจารณาก็ไม่ได้รับการยอมรับ เป็นเช่นนี้มาตลอดเพราะรัฐไม่ได้เห็นประชาชนมีความสำคัญ
นพ.อำพล ยกกรณีการจัด 'สมัชชาสุขภาพ' ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมทำงานมากว่า 10 ปี ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน มาประชุมหาฉันทามติร่วมกัน บางเรื่องสามารถผลักดันไปสู่รัฐบาล บางเรื่องระดับชุมชนจัดการเองได้ และบางเรื่องสมาชิกที่เป็นกรรมการทั่วประเทศก็นำนโยบายกลับไปทำเอง
"นี่คือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หากเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ ก็ต่อยอดไปในระดับประเทศได้ ไม่ต้องชี้หน้าด่ากัน พูดคุย ปรึกษา ตกลงกัน เพื่อหาฉันทามติ ท้ายที่สุดก็จะได้ข้อสรุป"
4.พลังพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนเสื้อสีใด ก็ล้วนคือ 'พลังพลเมือง' ที่ลุกขึ้นมามีปากมีเสียง แสดงพลังทางการเมือง นับว่าเป็นทุนมหาศาล ที่ 'ไทยไม่เฉย' อีกต่อไปแล้ว กลายเป็นช่วยกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบ บ้านเมืองให้ดีขึ้น เพราะพลังพลเมืองมีความเป็นอิสระ หากส่งเสริมพลังด้านนี้มากๆ จะเป็นตัวกำกับระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนได้
"พลังพลเมืองในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่ผ่านมาประชาชนมองว่า ราษฎรต้องแบมือขอรับอย่างเดียว ตอนนี้กลายเป็นพลังของเมืองอย่างมหาศาล ที่มีสำนึกสาธารณะ อยากมีส่วนร่วม อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ลุกขึ้นกำกับการทำงานของรัฐ และเป็นธุระจัดการในส่วนที่พลังพลเมืองจัดการตนเองได้"
เมื่อถามว่าแนวทาง 4 ประเด็นดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นอย่างไร นพ.อำพล บอกว่า ไม่ใช่เรื่องที่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำได้ ต้องนำข้อเสนอจากทุกฝ่ายมาร่วมกันคิด ร่วมกันศึกษา ร่วมกันกำหนดข้อเสนอ และเผยแพร่ให้สังคมได้เรียนรู้ และเข้าใจในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน พอสังคมเข้าใจก็จะมีแรงผลัก
"อย่างข้อเสนอของชุดคณะกรรมการการปฏิรูป (คปร.) ของท่านอานันท์ ปันยารชุน เสนอว่า ให้แบ่งงบประมาณปีละเพียง 1 แสนล้านบาท นำมาจัดสรรตามเกณฑ์ชี้วัดความยากจนแต่ละจังหวัด และตามจำนวนประชากร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่ถึง 5% ของเงินงบประมาณ เป็นการจัดสรรตามความเหลื่อมล้ำ แล้วสร้างกลไกที่ภาครัฐ ภาคชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมพิจารณาการใช้งบประมาณด้วยกัน
นี่เป็นกลไกการลดบทบาท 'ส.ส.เสียงดัง' และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ที่ได้จนล้นอยู่แล้ว"
นพ.อำพล บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วการปฏิรูปประเทศไทย มีการเริ่มต้นมานานแล้ว และมีการผลักดันในหลายทิศทาง เช่น แนวคิดเรื่องชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง บางพื้นที่กำลังผลักดันกฎหมายจัดการตนเอง และที่จังหวัดอำนาจเจริญ ได้กำหนดธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ อยากเห็นจังหวัดไปทิศทางไหน อย่างไรก็เสนอย่างนั้น นี่คือ กระบวนการปฏิรูปอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นแล้ว จากนี้หากรัฐบาลส่วนกลางจะใช้อำนาจคิดเอง ทำเอง ตัดสินใจแทนทั้งหมดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
"แนวคิดเรื่องพื้นที่จัดการตนเองขณะนี้คืบหน้า และขับเคลื่อนไปได้มาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ เพราะอยู่กรุงเทพฯ และเห็นเพียงการแย่งอำนาจ การพูดคุยกันเฉพาะคนข้างบน"
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ประเด็นที่เสนอมานี้ นพ.อำพล บอกว่า ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ ไม่มีกำหนดเวลา ต้องทำไปเรื่อยๆ ชั่วลูกชั่วหลาน เพราะโครงสร้างการบริหารรวมศูนย์อำนาจมาเป็นร้อยปี แม้จะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแบบรวมศูนย์ ดังนั้น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงนี้ยิ่งจะทำได้ยากกว่าเดิม รัฐบาลอาจบอกว่า รับนโยบายปฏิรูปประเทศไทย แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไรบ้าง
"แม้พรรคการเมืองจะรับปากว่าจะปฏิรูปประเทศไทย แต่ก็เชื่อไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรแค่ไหน พอได้เข้าไปอยู่ในอำนาจแล้ว คงเกิดขึ้นยากมาก ดังนั้น ภาคประชาชนต้องติดตาม คอยเฝ้าระวัง ขับเคลื่อนเองด้วย ระบบประชาธิปไตยจะรอให้เกิดสมดุลโดยให้คนที่มีอำนาจทำให้ไม่ได้ ต้องเป็นสังคมพลังประชาชนพลเมืองที่คอยติดตาม"
ท้ายที่สุด... นพ.อำพล มองว่า จะต้องมีทางออกที่ทั้ง 2 ฝ่าย 'ได้' เหมือนกัน แต่ก็ต้องยอม 'เสีย' บางส่วนไปบ้าง
"ตั้งไว้ร้อยก็ต้องยอมลดลงกันบ้าง แต่ถ้าไม่ยอมลดลงกันเลย ก็ดูเหมือนจะไปไหนไม่ได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเหมือนยังเดินไม่สุดทาง อย่างไรแล้ว ทางออกต้องไม่ใช่แบบที่มีใครได้หมด เสียหมด ต้องเป็นแบบที่ได้ด้วยกัน และเสียบางส่วนด้วยกัน"