เอ็กซ์คลูซีฟ:เปิดผลสอบฉบับเต็มโครงการระบายข้าวถุง “ยิ่งลักษณ์"
เอ็กซ์คลูซีฟ:เปิดผลสอบฉบับเต็มโครงการระบายข้าวถุง “ยิ่งลักษณ์" คณะอนุกมธฯ วุฒิสภา งัด “สัญญาขายช่วง" มัดทุจริต ชง ป.ป.ช.ฟันบริษัทเอกชน ผู้เกี่ยวข้องนับสิบ!!
หมายเหตุ: เป็นรายงานผลการตรวจสอบโครงการระบายข้าวถุง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ฉบับเต็มของคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล จากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่มี “พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา เป็นประธาน และนำเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการสอบสวนอยู่ในขณะนี้
ooooo
คณะอนุกรรมาธิการระบายข้าว วุฒิสภา ได้รับคำร้องถึงปัญหาของประชาชนเกี่ยวกับโครงการร้านถูกใจ ซึ่งเป็นโครงการของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการนำสินค้าไปจำหน่ายให้กับประชาชนเพื่อลดค่าครองชีพ โดยมีการกล่าวว่า ร้านถูกใจดังกล่าวไม่มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวถุงที่กรมการค้าภายใน ได้ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ผลิตข้าวถุง และนำสินค้าอื่น ๆ อีกส่วนหนึ่ง ไปจำหน่ายให้กับประชาชนด้วยนั้น มีจำนวนน้อยมาก
คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้เดินทางไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัด รวมหลายจังหวัด จึงพบว่า ปัญหาข้าวถุงที่นำไปจำหน่ายที่ร้านถูกใจที่มีอยู่ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ร้านนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการซื้อข้าวราคาถูกและบรรดาร้านค้าถูกใจก็ยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากความยุ่งยากในการสั่งซื้อข้าวและการส่งสินค้าที่ร้านค้าสั่งมาจำหน่ายไม่ตรงเวลามีความล่าช้าและไม่มีสินค้า โดยเฉพาะข้าวสารที่เป็นสินค้าที่ประชาชนต้องการซื้อเพียงพอแต่อย่างใด จึงทำให้ร้านค้าถูกใจจำต้องเลิกกิจการไปเป็นอย่างมาก ทั้งที่ข้าวสารที่ส่งไปจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่ประชาชนต้องการซื้อ แต่ไม่มีข้าวสารเพียงพอเพื่อจำหน่าย
คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้สอบถามไปยังผู้ที่ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าถึงปัญหาดังกล่าวทางบริษัทผู้รับผิดชอบในการส่งสินค้ายืนยันว่าทางบริษัทถูกจำกัดจำนวนข้าวสารที่จะนำไปจำหน่ายที่ร้านถูกใจเพียงสัปดาห์ละไม่เกิน 2,500 ตัน และการส่งมอบข้าวจากโรงสีที่ปรับปรุงก็มีปัญหา
คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงได้สอบถามไปยังกรมการค้าภายในและ อคส. ที่มีหน้าที่ในการผลิตข้าวสารถุง รวมทั้งการศึกษาถึงมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จึงได้ทราบว่า กขช. ได้มีการอนุมัติให้มีการปรับปรุงข้าวสารถุงจำนวนถึง 2,500,000 ตัน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูกเพียงถุงละ 70 บาท (5 กก.)
จากมติ กขช. ยังพบว่า นอกจากการการระบายข้าวในรูปแบบของร้านถูกใจแล้ว ยังมีการระบายข้าวถุงในรูปแบบของร้านธงฟ้าราคาประหยัด และในมติหลายมติยังมีการระบายข้าวในรูปแบบของการระบายข้าวถุงในรูปแบบของร้านธงฟ้า และมติหลายมติยังมีการระบายข้าวในรูปแบบของร้านค้าทั่วไปอีกด้วย
คณะอนุกรรมาธิการฯ จึงตรวจสอบเกี่ยวกับร้านธงฟ้าและร้านทั่วไปว่ามีข้าวสารถุงซึ่งเป็นสินค้าที่ อคส. สั่งให้มีการปรับปรุงจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน และได้มีการประชุมร่วมกับทางคณะกรรมการหลายจังหวัด ยืนยันว่า ไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีข้าวถุงตรา อคส. จำหน่ายที่ร้านค้าทั่วไป จึงได้ไปตรวจสอบจาก อคส. ถึงตัวแทนซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการนำข้าวสารถุงไปจำหน่ายให้กับร้านค้าทั่วไป พบว่า อคส. ได้มีการประรกาศรับสมัครตัวแทนและได้บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวสารถุง ดังนี้
1.บริษัท สยามรักษ์ จำกัด
2.บริษัท คอนไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด
3.บริษัท ร่มทอง จำกัด
จากการตรวจสอบแผนการตลาดของบริษัท สยามรักษ์ฯ พบว่า บริษัท สยามรักษ์ฯ อ้างว่า มีร้านจำหน่ายทั่วประเทศประมาณ 1,420 ร้าน โดยระบุร้านค่าส่งขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดมีจำนวน 150 ร้าน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 100 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้ได้ระบุชื่อร้านค้าจำหน่ายขนาดใหญ่ 12 ร้าน
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปตรวจสอบพบว่า ร้านดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท สยามรักษ์ฯ และไม่เคยรู้จักอีกด้วย เพียงแต่เคยเป็นลูกค้าของบริษัท เจียเม้ง จำกัด ซึ่งเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ และจากการตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายข้าวทั่วไปในจังหวัดต่าง ๆ ก็ไม่มีข้าวสารถุงในรูปแบบที่ อคส. จัดทำวางจำหน่ายแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ อคส. ยืนยันว่า ได้ให้โรงสีที่ปรับปรุงข้าวสารถุง อนุมัติให้เบิกข้าวสารในโกดังของรัฐไปจำนวน 1 ล้านตันเศษ
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญบริษัท นิ่มซี่เส็งฯ มาสอบถามถึงจำนวนข้าวสารถุงที่บริษัท นิ่มซี่เส็งฯ รับไปจัดส่งที่ร้านถูกใจ ก็ได้รับการยืนยันว่า ยอดจำนวนทั้งหมดที่ทางบริษัทรับส่งไปจำหน่ายมีเพียง 50,000 ตันเศษ เท่านั้น
ต่อมา นายทวีศักดิ์ หิรัญรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามรักษ์ฯ ได้เดินทางมาพบประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ยอมรับว่า เป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวสารถุง โดยรับจ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายจริง แต่ไม่เคยมีอาชีพเกี่ยวกับการค้าข้าวมาก่อนแต่อย่างใด จึงไม่สามารถนำข้าวไปจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ ได้ และเห็นว่าในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้บริษัทฯ สามารถขายส่งจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ ได้ และเห็นว่าในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้บริษัทฯ สามารถขายส่งหรือขายปลีกได้ จึงได้ขายช่วงต่อให้กับโรงสีที่ทำการปรับปรุงข้าวไปทันที โดยได้ทำสัญญากับนายศุภกร แซ่เฮ้ง โดยการแนะนำของบริษัท เจียเม้งฯ, บริษัท สิงห์โตทองฯ และบริษัท โชควรลักษณ์ฯ และยังได้มอบสำเนาสัญญาการขายช่วงที่ได้ทำสัญยาไว้กับ อคส. เพื่อแสดงว่าการจำหน่ายข้าวสารถุงของโครงการนี้ กับร้านค้าทั่วไป และข้าวที่หายไปนั้น ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้บริษัท คอนไซน์ฯ และบริษัท ร่มทองฯ ได้ยอมรับกับคณะอนุกรรมาธิการฯ ว่าได้ขายข้าวคืนให้บริษัทปรับปรุงคุณภาพข้าวส่วนใหญ่เหมือนเดิม
(อ่านประกอบ: เปิดสัญญาลับ“ขายช่วง”บ.สยามรักษ์"จุดตาย"ระบายข้าวถุงรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์")
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปพบผู้บริหาร อคส. สอบถามถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งทางผู้บริหาร อคส. ให้ข้อมูลว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน และบอกว่าเมื่อเป็นเช่นนี้คงจะแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งระงับให้โรงสีที่ปรับปรุงหยุดดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงข้าวสารถุง เนื่องจากเกรงว่าจะทำความเสียหาย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้ อคส. เร่งติดตามข้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทที่รับปรับปรุงและยังไม่ได้จำหน่ายข้าวสารไปยังที่อื่นกลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่ง อคส. ก็รับว่าจะเรียกข้าวสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปรับปรุงกลับคืนให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2556 แต่จนกระทั่งขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเรียกคืนข้าวที่โรงสีเบิกไปปรับปรุงได้ครบตามจำนวนที่แจ้งแต่อย่างใด
คณะอนุกรรมาธิการฯ และคณะกรรมการจังหวัด ได้สอบถามไปยังโรงสี สิงห์โตทองไรซ์ฯ จ.กำแพงเพชร ถึงกรณีเจ้าของบริษัทได้เซ็นรับซื้อข้าวคืนจากบริษัทจำหน่ายว่าเป็นลายเซ็นของตนเองหรือไม่ โดยโรงสี สิงห์โตทองไรซ์ฯ ยืนยันว่าเป็นลายเซ็นของตนเองจริง แต่ขณะที่เซ็นชื่อนั้นไม่ทราบรายละเอียดในเอกสารดังกล่าว และยืนยันว่าบริษัท สยามรักษ์ฯ ไม่ได้ขายข้าวคืนให้
คณะอนุกรรมาธิการฯ และคณะกรรมการ จ.ลพบุรี ให้เจ้าของบริษัท โชควรลักษณ์ฯ ได้ดูสำเนาสัญญาที่บริษัท สยามรักษ์ฯ ขายข้าวคืนให้ แต่ได้รับการยืนยันว่า ไม่ทราบว่าตนเองเซ็นในสัญญาดังกล่าวไปเพราะเหตุใด อีกทั้งยืนยันว่าข้าวที่ส่งมอบไปนั้นได้ส่งมอบให้กับบริษัท สยามรักษ์ฯ ได้ซื้อช่วงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมธิการฯ ยังได้รับการยืนยันว่า นายศุภกร แซ่เฮ้ง คู่สัญญาที่บริษัท สยามรักษ์ฯ ขายช่วงให้นั้น สำเนาลายเซ็นที่ลงนามในสัญญานั้น เป็นของตนเองจริง และยอมรับว่าเป็นเพียงคนกลางในการติดต่อร้านค้าเพื่อการซื้อขายข้าวกับบริษัท เจียเม้งฯ โดยบริษัท เจียเม้งฯ เป็นผู้มอบอำนาจให้นำเงินไปซื้อข้าวกับ อคส. โดยได้รับค่าตอบแทนจากยอดการขายที่บริษัท เจียเม้งฯ มอบให้เท่านั้น
(อ่านประกอบ : แกะรอย“ศุภกร แซ่เฮ้ง”ผู้รับช่วงระบายข้าว 3 ล้านถุง รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”)
คณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบและกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเกษตรและสหกรณ์ และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 ได้เดินทางไปศึกษาดูงานเพื่อติดตามและตรวจสอบการระบายข้าวสารในพื้นที่ ดังนี้
1.จ.พิษณุโลก และเชียงราย วันที่ 4 – 5 เมษายน 2556
2.จ.นครปฐม และสุพรรณบุรี วันที่ 9 พฤษภาคม 2556
3.จ.กำแพงเพชร และลพบุรี วันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2556
4.จ.นครราชสีมา วันที่ 10 มิถุนายน 2556
และ 5.จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2556
ทั้งนี้จากการไปประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัดและคณะกรรมการจังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานถึงปัญหาข้อบกพร่องของร้านถูกใจ และไม่มีการกล่าวถึงร้านข้าวสารราคาถูกที่จำหน่ายในร้านทั่ว ๆ ไปแต่อย่างใด โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา ได้มีการสอบถามเจ้าของบริษัท เจียเม้งฯ ถึงเรื่องข้าวสารที่จำหน่ายทางช่องทางร้านค้าทั่วไป จากการตรวจสอบที่ผ่านมานั้นไม่มี ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะเริ่มจะหน่ายข้าวถุงในช่วง 10 มิถุนายน 2556
เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการจำหน่ายข้าวสารถุงในราคาถูกที่ร้านค้าทั่วไป จึงทำให้กระทรวงพาณิชย์หาทางแก้ไขเพื่อจะให้มีร้านค้าในช่องทางร้านค้าทั่วไป ทั้งที่โครงการดังกล่าวได้จำหน่ายข้าวสารไปปรับปรุงจำนวนถึง 1 ล้านตันเศษ ตั้งแต่ปี 2554 – 2555
ส่วนการติดตามตรวจสอบการจำน่ายข้าวสารถุงในร้านค้าทั่วไปนั้น จากการตรวจสอบที่ร้านจำหน่ายข้าวสารซึ่งเป็นร้านตามรายชื่อที่บริษัท สยามรักษ์ฯ อ้างว่าเป็นตัวแทนจำหน่าย ดังนี้
1.บจก.วังมะนาวเกษตรภัณฑ์ จ.ราชบุรี และมีสาขาใน อ.เมือง จ.ราชบุรี จากการตรวจสอบพบว่า ทั้งสองร้านไม่มีข้าวสารถุงตรา อคส. จำหน่ายแต่อย่างใด และอ้างว่าไม่เคยรู้จักบริษัท สยามรักษ์ฯ มาก่อน ไม่เคยรับข้าวสารตรา อคส. มาจำหน่ายแต่อย่างใด แต่มีข้าวสารถุงของบริษัท เจียเม้งฯ วางจำหน่าย
2.บริษัท ชัยถาวรพันธ์ จำกัด อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรรณบุรี, ร้านเอเชีย ฟู้ดฟาร์ม จ.สงขลา, ร้านสุนันทาค้าข้าว จ.ยะลา, ร้านเกษตรธัญญะ จ.กรุงเทพฯ, ร้านปั้นสวยค้าข้าว จ.นนทบุรี, ร้านคลังทองข้าวไทย จ.ปทุมธานี และร้านไทยเจริญพรแก๊ส อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีข้าวถุงตรา อคส. จำหน่ายแต่อย่างใด
ขณะที่ จ.ชุมพร คณะอนุกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2556 พบว่า ร้านที่ติดต่อจากตัวแทนบริษัท เจียเม้งฯ ว่ามีข้าวตรา อคส. จำหน่ายในราคาถุงละ 75 บาท พบว่า ร้านกรมหลวงค้าข้าว เพิ่งเริ่มสั่งซื้อครั้งแรก จำนวน 16 ตัน และต้องจ่ายเช็คล่วงหน้า 4 วัน ก่อนที่จะไปรับข้าวที่โรงสี เจียเม้งฯ จึงได้ซื้อข้าวสารถุงตรา อคส. จากร้านดังกล่าวในราคาถุงละ 95 บาท (5 กก.) จำนวน 5 ถุง และเมื่อสอบถามเจ้าของร้านว่าเหตุใดจึงจำหน่ายในราคาดังกล่าว เจ้าของร้านอ้างว่าซื้อมาในถุงละ 75 บาท และต้องไปรับสินค้าเอง นอกจากนี้ ร้านกลุ่มโพธิ์เงิน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นร้านในรายชื่อตัวแทนจำหน่ายของบริษัท สยามรักษ์ฯ เริ่มสั่งซื้อข้าวถุงจากโรงสี เจียเม้งฯ ในหลักเกณฑ์เดียวกับร้านกรมหลวงค้าข้าว เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ทั้ง 2 ร้านยืนยันว่าไม่รู้จักบริษัท สยามรักษ์ฯ รู้จักแต่บริษัท เจียเม้งฯ เท่านั้น และยืนยันว่าบริษัท สยามรักษ์ฯ ไม่เคยส่งข้าวมาจำหน่ายให้กับร้านตนเองแต่อย่างใด โดยในใบเสร็จรับเงินและสำเนาสลิปการจ่ายเงินค่าข้าวดังกล่าว ยืนยันว่าร้านค้าได้ซื้อข้าวในราคาถุงละ 75 บาท (5 กก.) พร้อมทั้งต้องไปบรรทุกข้าวสารจากโรงสีเจียเม้ง เองด้วย
(อ่านประกอบ: เอ็กซ์คลูซีฟ:แผนผังความเชื่อมโยงเครือข่ายระบายข้าวถุงรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์")
ooooo
โครงการธงฟ้า – ราคาประหยัด และโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ”
-โครงการธงฟ้า – ราคาประหยัด
จากการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน ซึ่งได้ตรวจสอบเป็นบริษัทเอกชน เชื่อมโยงกับการทำงานขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่ขาดความโปร่งใส ที่ประเมินว่า โครงการข้าวถุงอาจมีข้าวสูญหาย แอบไปขายทำกำไรในตลาดกว่า 1.1 ล้านตัน ผลจากโครงการจำหน่ายข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 จำนวนประมาณ 2.25 ล้านตัน โดยให้สำรวจข้าวเก่าที่ค้างในโกดังตั้งแต่ปี 2542 – 2552 ซึ่งพบว่ามีจำนวน 2,189 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย และข้าวที่จัดให้กับพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้อีกประมาณ 6 หมื่นตัน มอบให้ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ดำเนินการจัดส่งรายละ 3 หมื่นตัน แต่การส่งมอบข้าวไปยังภาคใต้กลับไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตามมติ กขช. เมื่อปลายปี 2554 เพราะเมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีการนำส่งข้าวถุงไปจำหน่ายประมาณ 8,000 – 10,000 ตัน เท่านั้น จึงยังคงมีข้าวเหลือค้างในมือ อคส. และ อตก. ที่ยังไม่ได้จัดส่งจำนวนมาก
ต่อมาได้มีมติ กขช. ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 อนุมัติให้มีการเปลี่ยนคุณสมบัติของข้าวที่นำไปช่วยเหลือประชาชน จากเดิมกำหนดให้ใช้ข้าวสต็อกเก่า คือ ข้าวนาปรังของปี 2552 ไปเป็นสต็อกใหม่ คือข้าวนาปีที่รับจำนำปี 2554/55
หลังจากนั้นอีกเพียง 3 เดือนเศษ ในการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ได้อนุมัติให้ อคส. นำข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 แสนตัน ซึ่ง อคส. อ้างว่าได้จัดจ้างผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว การบรรจุข้าว และกระจายสินค้าไว้แล้ว เพื่อให้มาจัดทำข้าวถุงธงฟ้าราคาประหยัดจำนวน 50,000 ตัน คิดราคาเนื้อข้าวในราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาปลายทางไม่เกินถุงละ 71 บาท เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปซื้อในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ลดค่าครองชีพของประชาชน ตามโครงการของกรมการค้าภายใน
จากมติ กขช. จากที่ให้นำข้าวลงไปช่วยพี่น้องมุสลิคภาคใต้ ไปสู่การลดราคาขายข้าวในสต็อกของรัฐเหลือ 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ “ดึงดูด” ให้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมการขับเคลื่อนโครงการขายข้าวถุงอีกเพียบ เพราะถ้าบริษัทใดมีสายสัมพันธ์กันก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าในท้องตลาด จากราคาขายส่งข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทยเฉลี่ย ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ตันละ 15,251 บาท คำนวณเป็นราคาเนื้อข้าว ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 76.25 บาท/ถุง 5 กก. แต่การที่รัฐบาลลดราคาครึ่งหนึ่ง เท่ากับต้นทุนอยู่ที่ 38.125 บาท/ถุง ดังนั้น ถ้าซิกแซกไม่นำข้าวที่ซื้อจาก อคส. ในราคาถูกนี้เข้าสู่ตลาดจริง ๆ ย่อมสร้างกำไรได้ถึงถุงละ 31.875 บาท
กขช. ได้จัดโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจเบ็ดเสร็จอีก 5 แสนตัน ตามมติเมื่อวันที 31 พฤษภาคม 2555 โดยระบุว่า “อนุมัติให้นำข้าวสารขาว 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 4 แสนตัน และข้าวเหนียวขาว 11 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดยาวอีก 1 แสนตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจำหน่ายให้ อคส. เพื่อนำไปบรรจุถุง โดยถุง 1 กิโลกรัม ในราคาไม่เกินถุงละ 15 บาท และถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาไม่เกินถุงละ 71 บาท จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยคิดราคาเนื้อข้าวทั้ง 2 ชนิด ในราคาเดียวกันที่ราคา 7.625 บาท/ถุง 1 กิโลกรัม และราคา 38.125 บาท/ถุง 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ กขช. ได้เคยอนุมัติไว้ โดยให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการบรรจุถุง และกระจายสินค้าจนถึงปลายทางตามช่องทางการตลาดทั่วไป และโครงการธงฟ้าราคาประหยัดและร้านถูกใจ”
โครงการนี้มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้ปรับปรุงข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ เจียเม้ง 50,000 ตัน นครสวรรค์ค้าข้าว 50,000 ตัน โชควรลักษณ์ 1.25 แสนตัน และสิงห์โตทอง 1.25 แสนตัน เป็นต้น โดยทาง กขช. ได้ให้ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพข้าว ส่วนกระบวนการแจกจ่ายไปยังร้านถูกใจทั่วประเทศ มอบให้บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง จำกัด เป็นผู้ดำเนการและการจำหน่ายไปยังร้านค้าทั่วไปให้ สยามรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่ง
ต่อมาในช่วงปลายปี 2555 ก็มีมติ กขช. ออกมาอีกครั้ง อนุมัติให้นำข้าวในสต็อกออกมาจำนวน 1.8 ล้านตัน โดยอ้างโครงการธงฟ้า การลดค่าครองชีพ และร้านถูกใจ มีการเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามารับดำเนินการไปเป็นล็อต ๆ คราวละ 3 แสนตัน มีบริษัทที่ได้เข้าไปดำเนินการแปรสภาพเพื่อจัดจำหน่าย ไฮไลต์อยู่ที่กลุ่ม 5 เสือในวงการค้าข้าว อาทิ เจียเม้ง พงษ์ลาภ นครหลวงค้าข้าว บวกด้วยเจ้าของฉายาเสือตัวใหม่อีก 2 เจ้าในวงการค้าข้าวคือ โชควรลักษณ์ และสิงห์โตทอง ที่ครองส่วนแบ่งโควตาข้าวในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอด
ข้าวล็อตใหญ่ดังกล่าวยังคงเปิดให้ระบายผ่าน 2 ระบบ เช่นเดิม คือ ถ้าจัดส่งไปขายที่ร้านถูกใจ ต้องผ่านกระบวนการขนส่งสินค้าของบริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง แต่ถ้าเป็นข้าวถุง อคส ที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปอคส. อนุมัติการจัดจำหน่ายผ่าน 3 บริษัท คือ สยามรักษ์ คอนไซน์ ร่มทอง
(อ่านประกอบ:ดูชัดๆ“บทบาท-ท่าที”อคส.ตัวการหลักคดีข้าวถุงรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์”)
โครงการระบายข้าวของรัฐบาลเพื่อขายให้แก่ประชาชนในโครงการธงฟ้าและร้านถูกใจได้เปิดช่องให้ อคส. ระบายข้าวได้ในราคาต่ำเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ของตลาด จำนวน 2.5 ล้านตัน หากคิดเป็นปริมาณข้าวถุงขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม จะมากถึง 500 ล้านถุง ปรากฎหลักฐานว่า อคส. อนุมัติการส่งมอบข้าวให้เอกชนรับไปดำเนินการปรับปรุงสภาพ บรรจุถุง และจำหน่ายแล้ว 1.1 ล้านตัน แต่ในข้อเท็จจริงปรากฎว่าข้าวถุงธงฟ้า ไม่ว่าจะผ่านร้านถูกใจหรือขายตามร้านค้าทั่วไป กลับไม่ปรากฎในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการตรวจสอบเชิงลึกก็พบว่า ข้าวสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งไปจำหน่ายให้กับประชาชนตามวัตถุประสงค์
การส่งข้าวไปยังร้านถูกใจเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น จริง ๆ แล้วตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มีข้าวไปถึงมือประชาชนโดยผ่านร้านถูกใจน้อยมากแค่ 56,275 ตัน ทั้ง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการร้านถูกใจถึง 10,000 แห่ง ใช้เงินไป 1,321 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการจัดส่งข้าวราคาถูกไปถึงมือประชาชนอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบว่าข้าวที่ออกจากโกดังราคาลด 51 เปอร์เซ็นต์ จำนวนมากหายไปไหน
ทั้งนี้ เมื่อหักปริมาณข้าวที่จัดส่งไปให้ร้านถูกใจจำนวน 56,235 ตัน แล้ว จะเหลือปริมาณข้าวที่ อคส. อนุมัติระบายออกไปอีก 1 – 1.1 ล้านตัน ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายให้กับประชาชนตาม “ร้านค้าทั่วไป” ในโครงการข้าวธงฟ้าราคาประหยัดเช่นเดียวกัน ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคยได้รับข้าวในโครงการของรัฐดังกล่าว
ในการจัดจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้าให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วไปนั้น อคส. ได้มอบให้ 3 บริษัท เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยจะต้องส่งแผนงานด้านการตลาดมาให้ อคส. ตรวจสอบก่อน ว่าเมื่อรับข้าวสารไปบรรจุถุงแล้ว จะมีร้านค้าย่อยมารับสินค้าไปจำหน่ายให้ถึงมือประชาชนอีกทอดหนึ่ง อาทิ สยามรักษ์ ได้ส่งแผนการตลาดให้ อคส. ;มีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้าขนาดใหญ่ และขนาดปานกลางในต่างจังหวัด 281 แห่ง และปริมณฑลอีก 1,141 แห่ง รวมเป็น 1,423 แห่ง เป็นต้น แต่ อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อย ๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุ กมธ. พบว่า ร้านค้าที่ สยามรักษ์ หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาดส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวแต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 71 บาท/ถุง เพราะต้นทุนที่ซื้อมาสูงกว่ากำหนดไว้ และก็ไม่ได้จ่ายเงินตรงให้แก่ 3 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ อคส. แต่ถูกบังคับให้ต้องโอนเงินไปยังอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว และต้องไปรับข้าวเองที่ จ.อยุธยา จึงเกิดคำถามตามมาถึงกระบวนการครั้งนี้ว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่สำรวจตลาด พบว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขบวนการ “โยก” ข้าวถุงราคาถูกจากโกดัง อคส. ไปขายในตลาดทั่วไปหรือขายให้กับพ่อค้า แทนที่จะบรรจุถุงขายให้แก่ประชาชน ตามที่ กขช. กำหนดราคาขายไม่เกิน 71 บาท/ถุง ซึ่งคนที่ดำเนินการย่อมได้รับส่วนต่างก้อนมหาศาล เมื่อซื้อข้าวมาในราคาลด 51 เปอร์เซ็นต์ แต่ขายไปในราคาตลาด
อีกสมมติฐานหนึ่งที่คณะอนุ กมธ. คาดไว้ก็คือ มีการนำข้าวไปแปรเป็นข้าวถุงจริง ๆ แต่ตีตราแบรนด์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวถุงธงฟ้าแล้วจำหน่ายในราคาเกินกว่า 111 บาท/ถุง เมื่อคำนวณดูแล้ว จากที่มีข้าวออกจากโกดัง อคส. ไปถึง 1.1 ล้านตัน แปรสภาพเป็นข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัมได้ประมาณ 221 ล้านถุง ถ้านำไปขายในราคาตลาด นั่นก็คือส่วนต่างกำไรมากกว่าถุงละ 61 บาท เท่ากับมูลค่าเงินที่จะได้รับไปสูงถึง 13,211 ล้านบาท
-โครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ”
คณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำข้าวปี 2554/55 ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีฤดูการผลิต 2554/55 เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อคส. กรมส่งเสริมการเกษตร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรมการค้าต่างประเทศ ฯลฯ มาให้ข้อมูลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล
จากข้อมูล อคส. มีหน้าที่จัดหาผู้ประกอบการรับจ้างปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุงละ 5 กก. เพื่อลดค่าครอบชีพให้กับประชาชน โดยจำหน่ายในร้านธงฟ้า ร้านถูกใจ ร้านค้าสวัสดิการ อคส. ร้านค้าสวัสดิการหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทุกภัย ซึ่งการระบายข้าวเพื่อการดังกล่าวของรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 6 ครั้ง รวมปริมาณทั้งสิ้น 2.5 ล้านตัน มี 3 บริษัทเอกชนมารับมอบข้าว และพบความผิดปกติมากที่สุดคือการระบายในครั้งที่ 6 ที่คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาระบายข้าว ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน โดยมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 เห็นชอบให้ระบายข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเหนียว 10 เปอร์เซ็นต์เมล็ดยาว จากโครงการข้าวนาปรัง 2555 เดือนละ 3 แสนตัน ตั้งแต่มกราคม – มิถุนายน 2556 รวมทั้งสิ้น 1.8 ล้านตัน เพื่อนำไปบรรจุถุง ถุงละ 5 กก. และจำหน่ายไม่เกินถุงละ 70 บาท โดยล่าสุดได้ส่งมอบไปแล้ว 6 แสนตัน (มกราคม – กุมภาพันธ์) มีผู้ประกอบการ 6 ราย ชนะประมูลปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อส่งมอบได้แก่
1.บจก.เจียเม้ง จำกัด
2.บจก.นครหลวงค้าข้าว
3.บจก.เอเชียโกเด้นไรซ์
4.บจก.พงษ์ลาภ
5.บจก.สิงห์โตทองไรซ์
และ 6.บจก.โรงสีโชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ
ทั้งนี้ในส่วนของข้าวสารเพื่อจำหน่ายในร้านธงฟ้า มี บจก.เจียเม้ง เป็นผู้ส่งมอบ ส่วนร้านค้าถูกใจมี บจก.นิ่มซี่เส็ง เป็นผู้ส่งมอบ ขณะที่ร้านค้าทั่วไปบริษัทที่เหลือจะเป็นผู้ส่งมอบ โดยระบุจะส่งมอบให้กับร้านค้าทั่วไปของ 3 บริษัท ประกอบด้วย
1.บจก.สยามรักษ์
2.บจก.คอนไซน์ เทรดดิ้ง
และ 3.บจก.ร่มทอง
ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการระบายข้าวครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 อนุมัติมาจำนวน 1 แสนตัน ยังระบายสินค้าไม่หมด แต่ทำไมยังมีการอนุมัติการจัดเก็บเป็นข้าวถุงหรือไม่ เก็บไว้อย่างไร รวมทั้งราคาขายข้าวถุง ถุงละไม่เกิน 70 บาทนั้น ผู้บริโภคได้ซื้อในราคาถูกหรือไม่
คณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบ และกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเกษตร และสหกรณ์ และคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบเรื่องการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 พบว่ากรณีจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2556 ที่ จ.พิษณุโลก และเชียงราย (วันที่ 4 – 5 เมษายน 2556) จ.นครปฐม และสุพรรณบุรี (วันที่ 9 พฤษภาคม 2556) จ.กำแพงเพชร และลพบุรี (วันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2556) จ.นครราชสีมา (วันที่ 10 มิถุนายน 2556) จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ (วันที่ 13 – 15 มิถุนายน 2556) จ.ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ยะลา และสงขลา (วันที่ 16 – 20 มิถุนายน 2556)
ทั้งนี้ได้สรุปสาระประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ จากการศึกษาดูงาน ดังนี้
1.ผลการดำเนินการโครงการร้านถูกใจดังกล่าว พบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องประสบปัญหาต่าง ๆ ในการสั่งซื้อ ทั้งเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้รับการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ที่ยังไม่เข้าใจในความชัดเจนด้านกระบวนการสั่งซื้อเกี่ยวกับระยะเวลาในการสั่งซื้อ ซึ่งเดิมการกำหนดให้ร้านค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้เฉพาะในช่วงของต้นสัปดาห์ แต่ภายหลังให้ร้านค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านไปรษณีย์ได้ทุกวัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ยังไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมรับรายการสั่งซื้อจากร้านค้า
2.ร้านค้าจำนวนมากเกิดความสับสนต่อข้อกำหนดในการสั่งซื้อสินค้าบางรายการ ในด้านปริมาณการสั่งซื้อ เนื่องจากสินค้าบางอย่างมีข้อกำหนดในการสั่งซื้อที่จำนวนขั้นต่ำไว้ในปริมาณมาก เช่น แปลงสีฟันบางยี่ห้อให้ร้านค้าซื้อขั้นต่ำมากถึง 12 โหล ซึ่งเกินความจำเป็นต่อจำนวนประชากรในแต่ละตำบลนั้น ๆ
3.ร้านค้าบางร้านตั้งข้อสังเกตไปถึงราคาจำหน่ายสินค้าประเภทนมสดยูเอชทีบางยี่ห้อว่าผู้ขายมีกำรเพียง 0.25 บาทต่อกล่องเท่านั้น ซึ่งคุ้มต่อการแช่เย็น ขณะที่ราคาจำหน่ายปลีกของสินค้าบางอย่างกลับไม่แตกต่างจากราคาที่มีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
4.การบริหารจัดการในเรื่องของการขนส่งสินค้า ที่เดิมทีจะจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เป็นผู้จัดส่งสินค้า อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่เป็นที่สอดคล้องกับความจริง เพราะปกติบุรุษไปรษณีย์มักใช้รถจักรยานยนต์ไปส่งจดหมายในแต่ละตำบล หากจะให้พวกเขาเปลี่ยนเอาข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลไปส่งด้วย จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่ให้เงินเดือนเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนพาหนะ ซึ่งกรมการค้าภายในก็ทราบปัญหานี้ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นบริษัท นิ่มซี่เส็งฯ กับแม็คโคร เป็นผู้กระจายสินค้าไปยังร้าน แต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้าไม่ได้
5.ปัญหาดังกล่าวเห็นควรเสนอแนวคิดว่า การดำเนินการโครงการ “ร้านถูกใจ” ทำยาก เพราะรัฐบาลไม่ใช่พ่อค้า
5.1 ซัพพลายเออร์ไม่ผลิตสินค้าราถูกให้แน่ ๆ เพราะหากเขาทำสินค้าราถูกให้โชห่วย ก็แข่งกับสินค้าของเขาที่ขายผ่านโมเดิร์นเทรด
5.2 การจัดส่งสินค้าควบคุมลำบาก ไม่มีทางกำหนดได้เลยว่าให้ไปส่งตอนนั้นตอนนี้ และถ้าสินค้าหมด ไม่มีขาย สุดท้ายลูกค้าก็จะเปลี่ยนไปซื้อที่อื่น
6.กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ใช้งบประมาณนับพันล้านบาทในการดำเนินโครงการโชห่วยแห่งชาติ “ร้านถูกใจ” ส่วนหนึ่งของเม็ดเงินดังกล่าวหมดไปกับค่าใช้จ่ายดังนี้
6.1 จ้างทำป้ายชั้นวางสินค้าโครงการร้านถูกใจ จำนวน 20,000 ป้าย วงเงิน 1,498,000 บาท (อันละ 74.90 บาท)
6.2 ซื้อชั้นวางสินค้าโครงการร้านถูกใจ จำนวน 20,000 จุด วงเงิน 63,000,000 บาท
6.3 จ้างจัดทำป้ายหน้าร้านโครงการร้านถูกใจ จำนวน 10,000 ป้าย วงเงิน 4,023,200 บาท (อันละ 402.32 บาท)
6.4 จ้างจัดงานมหกรรมรวมพลร้านถูกใจ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 จำนวน 13,275,882.69 บาท
6.5 จ้างจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการร้านถูกใจ จำนวน 58,950,000 บาท (เป็นที่น่าสังเกตว่าค่าจ้างประชาสัมพันธ์สูงมากถึง 58.9 ล้านบาท)
6.6 จ้างผลิตเสื้อยืดโครงการร้านถูกใจ จำนวน 20,000 ตัว จำนวน 3,320,000 บาท (ตัวละ 166 บาท)
6.7 จ้างทำงานขนส่งและกระจายสินค้าและสินค้าใหม่ร้านถูกใจจำนวน 13,200,000 บาท
7.การบริหารจัดการในเรื่องของการขนส่งสินค้า ที่เดิมทีจะจ้างบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เป็นผู้จัดส่งสินค้า อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ไม่เป็นที่สอดคล้องกับความจริง เพราะปกติบุรุษไปรษณีย์มักใช้รถจักรยานยนต์ไปส่งจดหมายในแต่ละตำบล หากจะให้พวกเขาเปลี่ยนเอาข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลไปส่งด้วย จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่ให้เงินเดือนเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนพาหนะ ซึ่งกรมการค้าภายในก็ทราบปัญหานี้ ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นบริษัท นิ่มซี่เส็งฯ กับแม็คโคร เป็นผู้กระจายสินค้าไปยังร้าน แต่ก็ยังแก้ปัญหาเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้าไม่ได้
8.สินค้าที่จำหน่ายในโครงการร้านถูกใจ มีเพียงบางรายการเท่านั้นที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ กล่าวคือ ข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ ขนาด 5 กิโลกรัมที่ราคา 70 บาท ถูกกว่าตลาด 40 – 50 บาท ทำให้ประชาชนเดินเข้ามาซื้อข้าวในร้าน และเลือกสินค้าอื่น ๆ ที่จำหน่ายในร้านไปด้วย แต่ก็ซื้อไม่มาก เพราะสินค้าอื่น ๆ ไม่ได้ตรงกับความต้องการหรือหากเปรียบเทียบก็ถูกกว่าตลาดเพียง 1 – 2 บาทต่อชิ้น
9.งบประมาณโครงการร้านถูกใจที่ได้จากรัฐบาล 1,320 ล้านบาท อาจสูญเปล่า เนื่องจากเป็นโครงการแบบนำร่อง ไม่ได้ทำแบบถาวร
10.จากข้อมูลการศึกษาการระบายข้าวของรัฐบาล ที่ระบายให้กับองค์กรหรือหน่วยงานในประเทศของรัฐบาล ให้ผู้ประกอบการบริษัทเอกชนปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุง เพื่อจำหน่ายในร้านธงฟ้า ร้านค้าเอกชนโดยทั่วไป ร้านสวัสดิการหน่วยราชการต่าง ๆ รวมถึงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า บริษัท เจียเม้งฯ มีการจัดทำถุงบรรจุข้าวสารตรา อคส. (วันที่ 6 มีนาคม 2555) ก่อนที่มติคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในการดำเนินการรตามที่กรมการค้าภายในเสนอเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 และดำเนินการให้ อคส. หาผู้ปรับปรุงและจัดหาผู้ขนส่งไปยังร้านค้าถูกใจในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2555 และเหตุใดจึงทราบรูปแบบถุงที่บรรจุข้าวสารตรา อคส. ดังกล่าว เหมือนกับว่าบริษัท เจียเม้งฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการดำเนินการระบายข้าวในรูปแบบร้านถูกใจ และใช้ช่องทางนี้เป็นการระบายข้าวไปยังช่องทางร้านค้าอื่น ๆ ด้วย
(อ่านประกอบ:เปิดตัว"เจียเม้ง"ตัวละครเอกระบายข้าวถุง-รายได้ 6 ปีล่าสุดทะลุ 4 หมื่นล.)
ข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการ
บริษัท เจียเม้งฯ ทราบได้อย่างไรว่าบริษัทตนเองจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ปรับปรุงโดยที่ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีและยังไม่ทราบว่าจะได้เป็นผู้ปรับปรุง แต่สั่งจัดำถุงจำนวน 13 ล้านถุงก่อนแล้ว
นอกจากนี้ จากการรายงานในที่ประชุมแต่ละจังหวัด พบว่าไม่มีข้าวบรรจุถุงดังกล่าวจำหน่ายในแต่ละจังหวัดที่ลงพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง จึงสรุปว่าข้าวสารถุงตรา อคส. ในร้าค้าทั่วไปก่อนหน้านั้นไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด