นักวิชาการ มองข้าวไทย ‘สินค้าดาวร่วง’ แนะรัฐเร่งระบายสต็อก
สมพร อิศวิลานนท์ ฉะ รบ.ดึงข้าวเป็นพืชการเมือง ชี้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาไม่ได้ มองข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าดาวร่วง ใกล้ขาดความจำเพาะ ให้คะแนน พณ.ทำหน้าแย่สุด ระบายสต็อกไม่ได้
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โดยประมวลผลจากการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างหนักใจที่มีการดึงพืช โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจอย่าง 'ข้าว' ไปเป็นเรื่องการเมือง จนกลายเป็น 'พืชการเมือง' ที่เมื่อเกิดปัญหาจะไม่สามารถใช้หลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังถูกมิติทางการเมืองบดบังมากขึ้น อย่างโครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลอ้างเสมอเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ แม้จะไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องที่ดีและควรให้ความช่วยเหลือ แต่รัฐบาลเองก็มีอุปสงค์แอบแฝง
"กรณีจำนำข้าว รัฐบาลดึงอุปทานเข้ามาควบคุม เพื่อสร้างอำนาจผูกขาด นี่คือหัวใจที่ต้องติดตาม และเป็นประเด็นสำคัญของปัญหาโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบัน เพราะการดึงอุปทานเข้ามารวบรวมไว้จำนวนมาก โดยไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานระบาย ทำให้ข้าวล้นสต็อกจำนวนมาก"
รศ.สมพร มองว่า สถานการณ์ข้าวไทยขณะนี้กำลังเป็น 'สินค้าดาวร่วง' จากต้นทุนการผลิตประมาณ 9,000 บาท/ตัน ขณะที่เวียดนาม 6,000 บาท/ตัน พม่า 5,000 บาท/ตัน กัมพูชา 4,000 บาท/ตัน กระทั่งข้าวหอมมะลิ ตอนนี้เวียดนามส่งออกแบบก้าวกระโดด ซึ่งคาดว่าภายในอีก 3 ปี ข้าวหอมมะลิไทยจะขาด 'ความจำเพาะ' ลง หากรัฐบาลยังทำดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อ
จากการดำเนินนโยบายจำนำข้าวรอบปีที่ผ่านมา รศ.สมพร บอกว่า 'ส่วนที่แย่ที่สุด' คือ การทำหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ในการรับจำนำข้าว แต่กลับไม่ได้ทำหน้าจัดการบริหารการตลาดตามเป้าหมายที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดคือ ปริมาณข้าวในสต็อกที่มีจำนวนมาก แทนที่จะขายข้าวได้ราคาที่สูงขึ้น ราคาก็ตกต่ำลง ส่งผลให้ราคาข้าวในไทยทรุดลงตามไปด้วย และลดต่ำกว่าอินเดียและเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ข้าวไทยขาดความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคและผู้นำเข้า
"ปัญหาที่หนักคือการดึงข้าวจำนวนมากมาไว้ในสต็อก โดยไม่มีวิธีบริหารจัดการที่ดี ข้าวที่รับจำนำถึงสิ้นเดือน ก.ย. 44.2 ล้านตัน (28.7 ล้านตันข้าวสาร) ขายตันละ 1.4 หมื่นบาท ประมาณ 10 ตัน และฤดูกาลใหม่ยังเหลือข้าวอีก 8 ล้านตัน จะเห็นว่ามีข้าวเปลือกที่ถาโถมเข้ามาจำนวนมากโดยที่รัฐยังไม่มีเงินจ่าย นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ข้าวไทยกำลังจะขาดความเชื่อถือจากต่างประเทศ"
สำหรับ 'ส่วนดี' ของโครงการรับจำนำข้าว รศ.สมพร บอกว่า คือการที่สามารถช่วยให้ชาวนา 'กลุ่มหนึ่ง' มีรายได้ในระยะสั้นเพิ่มขึ้น กระตุ้นการใช้จ่ายภาคเศรษฐกิจได้ แต่ชาวนาที่ได้ประโยชน์จากโครงการจริงๆ มีอยู่ไม่เกิน 1.2 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะเห็นว่าชาวนากลุ่มที่อยู่ในเขตชลประทานและจำนำได้ 2 ครั้ง ชาวนาที่มีผืนนาจำนวนมากจึงเชียร์โครงการนี้ นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อโรงสีให้สามารถกู้เงินและได้ทุนคืนในเวลารวดเร็วภายใน 1 ปี ขณะที่ภาพของเศรษฐกิจโดยรวมกลับเสียหายมาก เพราะทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
"อย่าลืมว่าข้าวไทยกว่าจะได้รับการยอมรับต้องสร้างมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่เราถูกทำลายภายใน 2-3 ปี ภายหลังที่รัฐบาลเข้ามาบริหารและใช้นโยบายนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่สำคัญ เมื่อบริหารงานผิดพลาดแล้วกลับไม่ยอมรับความผิดพลาด และพยายามดันทุรังต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมากๆ เห็นว่าต้องจัดการข้าวในสต็อกของรัฐให้ได้เป็นอย่างแรก"
ภาพประกอบจาก สกว.