รัชนี ธงไชย แนะพ่วงการศึกษาแบบใหม่เข้าวงปฏิรูป
รัชนี ธงไชย แนะพ่วงปฏิรูปการศึกษาแบบใหม่ เข้าวงปฏิรูปประเทศ ชี้ต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กคิด ปฏิวัติวิธีคิดคนในศธ. ให้ระดับพื้นที่จัดการเรียนเอง ย้ำ รมต.คนเดียวคิดแทนสิบล้านคนไม่ได้
นางรัชนี ธงไชย นักการศึกษา และอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่ทำงานด้านการศึกษา กล่าวกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา ว่าในช่วงที่มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปประเทศไทยขณะนี้ เห็นว่าควรให้มีการพิจารณาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ที่ต่างจากปฏิรูปการศึกษาแบบเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ โดยหลักทั่วไปต้องตั้งเป้าว่าให้ผู้เรียนมี ผู้สอนมีความสุข นั่นถือเป็นการปฏิรูปแล้ว เพราะทุกวันนี้ทั้งผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครองต่างมีทุกข์
"การศึกษาที่จะทำให้เด็กมีความสุขได้นั้น เป็นการศึกษาที่ให้เด็กมีสิทธิในการคิดว่าอยากเรียนอะไร ให้ได้รู้จักตนเอง แต่หากไม่ให้สิทธิในการคิด แล้วจัดการศึกษาแบบเดียวทั้งระบบ ท้ายที่สุดต้องมาเคี่ยวเข็ญ ซึ่งไม่เกิดความรู้ การเรียนรู้และความสุข" นางรัชนี กล่าว และว่า หลักสูตรการศึกษาไทยไม่มีพื้นที่ให้เด็กคิดมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยซ้ำ
"การเปิดพื้นที่ให้เด็กคิด ต้องอาศัยความใจกว้าง ครูต้องมีความรัก เชื่อมั่นและศรัทธาในเด็ก ไม่อย่างนั้นท้ายที่สุดครูจะไม่รู้จักเด็ก ต้องเริ่มที่การปฏิวัติวิธีคิดของผู้ใหญ่ตั้งแต่ในระดับกระทรวง นั่นคือ ปล่อยให้แต่ละพื้นที่จัดการศึกษาของตนเอง ซึ่งได้ลองทำแล้วกับโรงเรียนขนาดเล็กที่รัฐต้องการจะปิดหรือยุบรวม โดยตั้งคำถามกับผู้ปกครองว่าอยากเห็นอะไรจากการศึกษาของลูก ได้คำตอบว่าอยากให้ลูกเป็นคนดี ทำงานเป็น ช่วยพ่อแม่เป็น เพราะหากรักพ่อแม่ได้ จะรักคนอื่นได้ รักชุมชนได้ ไม่ได้คิดเรื่องเรียนเก่งเป็นอันดับแรก และให้พ่อแม่ผลัดกันมาเป็นครูคนละวัน กระบวนการเช่นนี้ทำให้โรงเรียนพัฒนาไปได้เร็วมาก ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ก็เข้ามาศึกษาดูงาน"
อย่างไรก็ตาม สังคมส่วนใหญ่ยังวัดผลอยู่ที่ความเก่ง และระดับคะแนน ซึ่งจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ นางรัชนี เห็นว่า ความคิดเช่นนั้น เป็นการเตรียมคนเข้าสู่โลกทุนนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งเป็นโลกที่เน้นสร้างระบบคุณค่าวัฒนธรรมการแข่งขัน ไม่อย่างนั้นระบบทุนจะไม่ก้าวหน้า สรุปแล้ว การศึกษาแบบดังกล่าวตอบสนองคนกลุ่มเดียว คือ นายทุน สร้างให้นายทุนก้าวหน้า แต่ไม่ได้สร้างคนให้เจริญงอกงามจากภายใน
"เห็นได้ชัดจากระบบการศึกษาของรัฐที่คัดคนเรียนไม่เก่งออกจากระบบ ตัดสินว่าไม่สามารถไต่เต้าขึ้นสู่ระดับยอดของสังคมได้ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมจึงเกิดการละเมิดหรือทำผิดในสังคมมากขึ้นทุกวัน สอดคล้องกับผลการวิจัยของนักจิตวิทยา ที่ระบุว่า กลุ่มคนที่ถูกคัดออกจากระบบการศึกษาเหล่านี้เป็นผู้ถูกกระทำ มีความเจ็บปวดฝังลึกภายในจิตใจมาก่อน จึงมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นเจ็บปวด ดังนั้น การศึกษาไทยต้องตัดวงจรเช่นนี้ออกไป เพราะคนที่มีความทุกข์จะมีความคิดสร้างสรรค์หรือ แต่คนที่มีความสุขหลายคนกบฏและไม่ได้เรียนหนังสือ"
นางรัชนี ฝากถึงคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการคนใหม่ด้วยว่า ขอให้เป็นคนที่มีความสุขและมองเห็นการศึกษาออกจากกรอบวิธีคิดแบบเดิมของโรงเรียน ใจกว้างเปิดการศึกษาที่หลายรูปแบบให้เด็กมีวิธีคิดที่หลากหลาย ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาฯ ทุ่มงบไปกับการพัฒนาครู แต่เป็นครูในระบบว่าจะสอน จะคุมเด็กอย่างไร ต้องเพิ่มการพัฒนาครูให้รู้พัฒนาการของเด็กแต่ละวัยว่าเด็กต้องการเรียนรู้อะไร ที่สำคัญต้องให้อำนาจชุมชนจัดการการศึกษา เพราะชุมชนสอนทั้งความรู้ในชีวิต การทำมาหากิน ให้ทำงานเป็น ซึ่งเป็นระบบที่สมดุล ขณะที่กระทรวงศึกษาจัดหลักสูตรแยกกันหมด
"รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าคนๆ เดียว รัฐมนตรีคนเดียวไม่สามารถดูแลเด็กเป็นสิบล้านคนได้ และคิดแทนเด็กสิบล้านคนไม่ได้"