นักวิชาการประสานเสียง ชี้จัดรับฟังความเห็นโครงการน้ำ ‘ล้มเหลว’
วันที่ 24 ธันวาคม 2556 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน จัด เสวนาวิชาการหัวข้อ "ความล้มเหลวเวทีรับฟังความเห็นประชาชนและข้อเสนอแนวทางที่ถูกต้องในการบริหารจัดการอุทกภัย ฉบับ วสท." ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคาร วสท. โดยมี นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการผู้ทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ เข้าร่วมเสวนาจำนวนมาก
โดยส่วนใหญ่นักวิชาการต่างประสานเสียงลงความเห็นว่า เวทีรับฟังความเห็นประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล 30 กว่าเวที ดำเนินงานผิดหลักและขั้นตอนที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น เนื่องจากยังไม่มีแผนแม่บท
ทั้งนี้ การจัดรับฟังความเห็นแต่ละเวทีกลับไม่มีรายละเอียดเพียงพอ ไม่อาจชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้ รวมถึงไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และฟันธงว่า เป็นกระบวนการที่ 'ล้มเหลว' ซึ่งสะท้อนจากการไม่ปฏิบัติตามหลักขั้นตอน
'สำนักข่าวอิศรา' รวบรวมความเห็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ถอดบทเรียนวิเคราะห์ และลงพื้นที่ติดตามทุกเวทีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งมีความคิดเห็นน่าสนใจ ไว้ดังนี้
2 ปีจัดการน้ำ รบ.ปู เสียเวลาเปล่า
นายปราโมทย์ ในฐานะอดีตกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มองการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ทั้งที่ควรมีการศึกษาในระยะแรกก่อนว่า โครงการน้ำแต่ละพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง แต่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กลับไม่ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว และได้ "เหมาเข่ง" ให้ผู้ก่อสร้างดำเนินการแทน ทำให้ต้องเสียเวลาไปถึง 2 ปี ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ล้มกระดานโครงการน้ำใหม่ทั้งหมด
เสนอยุบ กบอ.นับหนึ่งโครงการใหม่อย่างถูกหลักวิชาการ
ด้านนายหาญณรงค์ ซึ่งได้ลงพื้นที่ติดตามทุกเวทีที่จัดรับฟังความเห็นประชาชน ถอดบทเรียนพร้อมวิเคราะห์ว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมายังไม่ทั่วถึง และไม่มีการนำแผนการบริหารจัดการน้ำที่แท้จริงมาเผยแพร่ นอกเสียจากการนำโครงการที่บริษัทได้ต่อรองราคาไว้แล้วมาเป็นข้อมูลประกอบการรับฟังเท่านั้น
อีกทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการน้ำได้เข้าร่วมรับฟังไม่ถึง 10% ของเวทีแต่ละจังหวัด ส่งผลให้เกิดความไม่ส่วนร่วมจริง ที่สำคัญมีการกีดกันผู้เข้าร่วมโดยกระบวนการลงทะเบียนล่วงหน้าหรือเอาค่าเดินทางมาเป็นตัวบ่งชี้ของจำนวนด้วย
"นักวิชาการควรนำข้อมูลไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก่อน และควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่สำคัญชาวบ้านจำนวนมาก ไม่เชื่อถือกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) แล้ว ดังนั้น จึงควรหาวิธีการศึกษาแบบอื่นเข้ามาแทนที่"
ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำฯ บอกด้วยว่า วิทยากรที่นั่งบนเวทีในแต่ละจังหวัดก็ไม่สามารถตอบโจทย์อะไรได้เลย และหากเป็นเช่นนี้จะให้มัคทายกนั่งแทนก็ได้ ทั้งนี้ เสนอให้ยุบ กบอ.แล้วใช้กระบวนการอื่นขึ้นมาดำเนินการแทน
ชี้ช่องนักวิชาการรับทำออแกไนซ์ ผิด พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย
ขณะที่ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย บอกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ชี้ชัดไปแล้วว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจน และแผนที่รัฐบาลมีอยู่เป็นเพียง 'แผนซ้อนทับ' เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เรียกได้ว่า ผิดตั้งแต่ต้น และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาก็เป็นการนำความคิดเห็นไปให้ประชาชนฟัง แต่ไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นประชาชน
ฉะนั้น กระบวนการดังกล่าวจึงไม่ใช่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างที่เข้าใจ และที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ทำ และไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ชอบธรรม
ทั้งนี้ เมื่อคิดโยงไปยังอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีหน้าที่สอน วิจัยและบริการวิชาการ แต่ทราบว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมในการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เช่น เรื่องรายชื่อ การลงทะเบียน หรือที่เรียกว่า กระบวนการทำออแกไนซ์ ที่ใครก็ทำได้ แต่ไม่ได้มีส่วนอธิบายตามหลักวิชาการ เท่ากับว่า นักวิชาการไม่ได้ใช้บทบาทบริการทางวิชาการ และหากเป็นเช่นนั้นจะถูกต้องหรือผิด พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ด้วยหรือไม่ต้องพิจารณากัน
ลุ้นศาลปกครองสูงสุดนัดฟันคดีน้ำ 9 ม.ค. 57
ขณะที่นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนเองไม่ปฏิเสธที่รัฐบาลจะแก้ไขหรือป้องกันปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่กระบวนการขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างไม่เห็นหัวประชาชน ทั้งที่ ตามกฎหมายโดยเฉพาะมาตรา 57 วรรคสอง บัญญัติว่า ...การออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ... แต่รัฐบาลกลับพยายามปิดกั้นเจตนารมณ์ที่มีในกฎหมายมาโดยตลอด
คำว่า 'รับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง' ในความเห็นส่วนตัวควรมีการจัดเวทีในระดับพื้นที่รับผลกระทบด้วย มิใช่นับเพียงสถิติทางตัวเลขเท่านั้น
"คำพิพากษาศาลปกครองกล่าวระบุให้รัฐบาลต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 57 วรรคสอง และ 67 วรรคสอง แต่ปรากฏทำได้เพียงมาตราแรกเท่านั้น ส่วนมาตรา 67 วรรคสอง กลับไม่ทำเลย ท้ายที่สุด ขอเสนอให้ยุบ กบอ.ด้วย"
นายศรีสุวรรณ ระบุอีกว่า วันที่ 9 มกราคม 2557 เวลา 9.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีที่ตนเองยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คน เพื่อขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง หรือเพิกถอนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ
"คาดว่าภายใน 2 อาทิตย์ ศาลปกครองสูงสุดน่าจะมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางก่อนหน้านี้ นั่นหมายถึง การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมาถือเป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้จัดเวทีรับฟังฯ ใหม่ทั้งหมด
เมื่อถามว่า จะดำเนินการอย่างไรกับเงินที่รัฐบาลใช้ไปในการจัดเวทีรับฟังฯ นายกฯ ส.โลกร้อน กล่าวว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสอดคล้องกับศาลปกครองกลาง รัฐบาลจะต้องไปนับหนึ่งโครงการนั้นใหม่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ.และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบกับเงินที่ใช้จ่ายไปส่วนนี้
นายศรีสุวรรณ ขยายความด้วยว่า การยกเลิกจะหมายรวมถึงกรณี 4 บริษัทผู้รับเหมาด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยอ้างคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล เพราะว่าในทีโออาร์ระบุชัดเจนว่า บริษัทเหล่านี้ไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายใด ๆ กับรัฐบาล
เมื่อถามอีกว่า หากเป็นเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อ พ.ร.ก. กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท หรือไม่ นายศรีสุวรรณ ตอบว่า ส่วนตัวที่กู้มาก่อนหน้านั้นใช้ได้ แต่เงินก้อน 2.9 หมื่นล้านบาท จาก 4 สถาบันการเงินไม่สามารถใช้ได้ เพราะพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กำหนดไว้ว่าต้องกู้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2556
ขณะเดียวกันการที่เซ็นสัญญานิติกรรมอำพรางที่ผ่านมา ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่สามารถกระทำได้ เพราะการใช้สัญญาต้องมีการส่งมอบทรัพย์สิน ดังนั้นการเซ็นสัญญาเฉยๆ โดยไม่ส่งมอบสิ่งใดๆ เลย นิติกรรมจึงเป็นโมฆะโดยปริยาย
"หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท จะไม่เป็นโมฆะ นั่นหมายถึง ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ส่วนที่เหลือก็ไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการออก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ยาก ทำให้ต้องกลับไปใช้งบประมาณปกติเท่านั้น"