วสท.เสนอแนวทางจัดการน้ำ 3 ระยะ แนะล้มผลประมูลโครงการ นับหนึ่งใหม่
วสท.ออกแถลงการณ์ ชี้เวทีรับฟังความเห็นโครงการน้ำล้มเหลว สะท้อนผลการไม่ทำตามหลัก-ขั้นตอนวิชาการ เสนอแผนจัดการน้ำ 3 ระยะ แนะล้มผลประมูลโมดูลแล้วนับหนึ่งใหม่
วันที่ 24 ธันวาคม 2556 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ออกแถลงการณ์ ระบุประเด็นความล้มเหลวของเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน และข้อเสนอแนวทางที่ถูกต้องในการบริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา
โดยเน้นย้ำว่า มีการดำเนินงานที่ผิดหลักและขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นลำดับ กระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งให้รัฐนำแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำไปจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ทุกเวทีกลับไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะเป็นแผนแม่บท จึงไม่อาจชี้แจงทำความเข้าใจได้ เรียกได้ว่า ล้มเหลว ซึ่งสะท้อนจากการไม่ปฏิบัติตามหลักขั้นตอน
วสท.ยืนยันว่า ตามหลักการที่ถูกต้องต้องทำการศึกษาแผนแม่บท วิเคราะห์ทั้งระบบลุ่มน้ำ โดยเปรียบเทียบกรณีทางเลือกจากหลายกรณีศึกษา ก่อนตัดสินใจคัดเลือกโครงการ ทั้งนี้ แนวทางบริการจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่จำเป็นต้องดำเนินงานให้เสร็จภายใน 5 ปี โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะได้แก่
ระยะเร่งด่วน ดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี เริ่มด้วยการบริหารจัดการโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ปรับระบบฐานข้อมูลให้ทุกหน่วยงานเข้าถึงได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ กับองค์กรและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ควบคุมการเกษตรให้เหมาะสม และปรับเกณฑ์บริหารอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่าง
ระยะกลาง ดำเนินการไม่เกิน 5 ปี ดำเนินการร่วมกันทั้งมาตรการที่ใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับการจัดการความเสี่ยงในการลดผลกระทบจากอุทกภัย แก้ปัญหารุกล้ำแม่น้ำลำคลอง ตลอดจนการฟื้นฟูและป้องกันการบุกรุกป่าไม้ ส่วนที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ประกอบด้วย ขุดลอกทางน้ำ กำหนดพื้นที่แก้มลิง จัดการพื้นที่ปิดล้อม และสร้างคลองลัดสำหรับเร่งระบายน้ำ
ระยะยาว ใช้เวลาดำเนินการ 5-10 ปี ขึ้นไป ควรดำเนินการเพียงโครงการเดียว คือ สร้างหรือปรับปรุงคลองผันน้ำข้ามลุ่มน้ำฝั่งตะวันออก
ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างทั้งระยะกลางและระยะยาว ต้องไม่ละเลยการดำเนินการตามหลักขั้นตอนที่ถูกต้องของการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากภาคประชาชน
ประเด็นสำคัญ ขอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการทั้งหมด เริ่มจากยกเลิกผลของการประมูลโครงการตามโมดูลต่างๆ ดังกล่าว และนำผลการรับฟังความเห็นประชาชนที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนแม่บทของประเทศก่อนที่จะแตกเป็นโครงการย่อย รวมถึงศึกษาแผนแม่บท การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ แผนงานงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง แผนงานบริหารจัดการน้ำโดยใช้สิ่งก่อสร้าง จัดทำขอบเขตงาน ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบรายละเอียดโครงการ และเปิดเวทีให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้สนใจได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง