'สมพร' ชี้ธ.ก.ส.ทำงานผิดปกติ ใช้เงินทุ่มจำนำข้าว หวั่นเป็นมหันตภัยใหญ่
'สมพร' ฉะนโยบายยกระดับรายได้เกษตรกรสอบตก ขาดสมดุล ทุ่มทุนด้านเดียว ด้านนิพนธ์ แนะลดแรงงานภาคเกษตร
วันที่ 23 ธันวาคม 2556 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ สกว. ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อประมวลรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นสำคัญเร่งด่วน ที่ได้จากการศึกษาวิจัย ให้เป็นข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งนี้จัดในหัวข้อ "ทางเลือกเชิงเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร" โดยมี รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองของชาติ และรศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ณ ห้องประชุม 1 สกว. ชั้น 14 อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ พญาไท
รศ.ดร.สมพร กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดึงพืชเศรษฐกิจอย่าง "ข้าว" ไปเป็นเรื่องการเมือง จนกลายเป็น พืชการเมือง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในการบริหารจัดการ ไม่สามารถใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์มาแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลจะอ้างเสมอว่า เกษตรกรมีรายได้ต่ำจึงต้องใช้นโยบายประชานิยมมาแทรกแซงราคา แม้จะไม่ปฏิเสธว่าควรให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลมีอุปสงค์แอบแฝงจากการทำนโยบายดังกล่าว
รศ.ดร.สมพร กล่าวถึงการตอบสนองเชิงนโยบายในอดีตที่ผ่านมา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจทำเรื่องพัฒนาด้านแหล่งน้ำและการชลประทาน จัดหาที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร และการป้องกันไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน โดยอาจจัดทำธนาคารที่ดิน ที่ใช้เงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท ช่วยให้ที่ดินชุมชนไม่ตกเป็นของนายทุน จัดให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร เพิ่มการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และทำให้เกษตรกรเข้มแข็งขึ้น อยู่ได้อย่างยั่งยืน ท้ายที่สุดรายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้เป็นนโยบายที่ดีและจำเป็นในปัจจุบันนี้
"การจัดให้เกษตรกรรายเล็กได้เข้าถึงสินเชื่อการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำมีความจำเป็น และอดีต ธ.ก.ส.ใช้กลไกสินเชื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตพืช หากมีการปลูกพืชชนิดใดมากเกินไป แต่ปัจจุบันมอง ธ.ก.ส.เห็นภาพที่ผิดปกติ มีเงินเหลือให้กู้น้อยมาก เพราะเงินใช้ส่วนใหญ่ไปกับการจำนำข้าว ที่นับว่าเป็นมหันตภัยยิ่งใหญ่ หากเกษตรกรไม่มีที่พึ่งในด้านนี้ ผมว่ารัฐบาลจำเป็นต้องย้อนมองอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรและกลไกการตลาดที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม"
ทุ่มไปจำนำข้าว งานด้านอื่นสอบตกหมด
รศ.ดร.สมพร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้เป็นพิเศษ แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาชัดเจนว่า การยกระดับรายได้ในแบบรัฐบาลนี้ เกือบทำให้งานด้านอื่นล้มเหลวไปด้วย เรียกได้ว่า 'สอบตก' เพราะทุ่มทุนไปด้านเดียวในการรับจำนำข้าว จึงขาดความสมดุลในร้อยห่วงโซ่ของสินค้าเกษตรอื่นๆ
"การยกระดับราคา หรือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไม่ได้อยู่ที่เพิ่มราคาข้าวอย่างเดียว ถ้าข้าวมีต้นทุนสูง ต้องปรับคุณภาพให้ดีขึ้น จะเหนือคู่แข่ง มีตลาดจำเพาะ ไม่เหมาเข่ง แต่ขณะนี้จำนำข้าวกำลังทำให้ข้าวหอมมะลิคุณภาพของไทยถูกทอนความจำเพาะลงพร้อมกับมีการขยายตัวในประเทศเพื่อบ้าน เมื่อเข้าการค้าเสรี ศักยภาพสินค้าอื่น เช่น ผลไม้ พืชผักจะลำบาก เพราะกระทรวงพาณิชย์ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับจำนำข้าว ตลาดพืชอื่นบางลง ขณะที่เวียดนามใช้กลไกตลาดได้เต็มที่ มีศักยภาพการส่งออกข้าวดีมากและข้าวคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือไทยวิ่งสวนทางกับพลวัตของตลาด ใช้ทรัพย์สินไปกับนโยบายจำนำข้าว จนลืมผลผลิตอื่นในภาคเกษตร"
สำหรับข้อเสนอในการเพิ่มรายได้เกษตรกร รศ.ดร.สมพร เสนอวิธีเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยใช้หลักการของการประกันความเสี่ยงจากราคา (option pricing) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา หน่วยงานกลาง ให้เกษตรกรมาซื้อประกันความเสี่ยงจากราคา และและจ่ายเบี้ยประกันให้กับหน่วยงานกลาง เช่น ธ.ก.ส.ที่เสนอให้มารับประกันความเสี่ยงราคาจากเกษตรกร รวมถึงเสนอให้ใช้ชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดนโยบาย แทนการออกนโยบายเดียวแบบจากบนสู่ล่าง เช่น ลดต้นทุนการผลิต หรือผลิตพืชอื่นๆ โดยรัฐทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน สิ่งที่สำคัญคือนโยบายที่ดีต้องสร้างความสมดุล ไม่ใช่เอนไปด้านใดด้านหนึ่ง
นิพนธ์ เปิดปัญหาใหญ่ของเงินงบประมาณ
ขณะที่รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาวว่า ต้องทำให้รายได้ต่อหัวภาคเกษตร กับรายได้ต่อหัวนอกภาคเกษตรใกล้เคียงกัน ไม่อย่างนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน และตราบใดที่เกษตรกรยังเป็นฐานเสียงทางการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่าแรงงานที่นักการเมืองทุกประเทศในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น อินเดียก็ใช้เป็นฐานเสียง ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาว ต้องลดแรงงานภาคเกษตร รายได้ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นได้ และต้องกลับมาทบทวนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรการเกษตรใหม่ เพราะเมื่อย้ายแรงงานออกไปจะเหลือที่ดินการเกษตรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
"ปัญหาใหญ่ของภาคเกษตรกรไทย โดยเฉพาะคนทำไร่ ทำนา คือ น้ำแล้งสำคัญและร้ายแรงกว่าน้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลเข้าใจผิด ใช้ความคิดคนเมืองไปสวมคนชนบทว่า น้ำท่วมรุนแรง นโยบายที่ออกมาชัดเจนว่า เงินชดเชยน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง และช่วงน้ำแล้งเกษตรกรไม่มีทางปรับตัว นอกจากนอกภาคเกษตร ทั้งยังมีปัญหาความล้มเหลวของระบบเงินชดเชย เห็นได้ชัดจากแรงจูงใจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.ที่อากาศหนาว 3 วันประกาศภัยหนาว ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม เพื่อให้เบิกเงินได้ นี่เป็นปัญหาใหญ่ของเงินงบประมาณ"