การปฏิรูปประเทศต้องเริ่มทันที
การปฏิรูปประเทศต้องเริ่มทันที
โดย กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
อดีตกรรมการ คอป.
1. ขณะนี้น่าจะพอสรุปสถานการณ์ได้ว่า จุดร่วมที่ทุกฝ่ายในความขัดแย้งเห็นตรงกัน คือ การปฏิรูปประเทศต้องเกิดขึ้น ประเด็นที่ยังไม่ลงรอยกันและยังถกเถียงกันอยู่คือ “เลือกตั้งแล้วปฏิรูป” หรือ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในความเห็นของผมแนวทางทั้งสองน่าจะไม่ใช่แนวทางที่นำไปสู่สัมฤทธิผลของการปฏิรูป
ผมเห็นว่าหากจะทำให้การปฏิรูปประสบผลสำเร็จและเปลี่ยนพลังความขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์ “กระบวนการปฏิรูปต้องเกิดขึ้นทันที” และ หากทุกฝ่ายจริงใจกับการปฏิรูปดังที่กล่าวอ้างอยู่ และจริงใจต่อประเทศก็ต้องรีบดำเนินการทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กระบวนการปฏิรูปได้เริ่มต้นได้จริง
2. ในกระแสความขัดแย้งเป็นธรรดาอยู่เองว่าข้อคิดเห็นต่างๆแม้จะดีสักเพียงใดย่อมไม่สามารถได้รับการยอมรับจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งหากเสนอโดยคู่ขัดแย้ง ดังนั้นหากทุกฝ่ายจริงใจต่อการปฏิรูป ผมขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งยอมที่จะมาคุยกันใน “เวทีกลาง” คำว่า “เวทีกลาง” นี้ต่างจาก “คนกลาง” คือไม่เน้นที่การหา “คนกลาง” ในฐานะ “ปัจเจก” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งนับวันคงหายากขึ้นทุกที แต่หมายถึงเวทีที่ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้แต่ละคนอาจมีมุมมองทีถูกมองว่าเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งบ้าง แต่เมื่อมอง “โดยรวม” แล้วต้องมีสภาพของความเป็นกลางเพียงพอที่คู่ขัดแย้งไว้วางใจ
3. เวทีกลางมีหน้าที่ในการเสนอ “หลักประกัน” ที่ทำให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งเห็นได้ว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นแน่นอน และจะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “หลักประกัน” ที่จะเป็นรูปธรรมคือการแสดงให้เห็น “เส้นทางสู่การปฏิรูป” (Roadmap for Reform) ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และที่สำคัญสามารถทำได้ในกระแสความขัดแย้ง
4. “เส้นทางสู่การปฏิรูป” นั้นหากนำมาหารือกันใน “เวทีกลาง” ด้วยความไว้วางใจ ไม่ชิงไหวชิงพริบกัน อะไรที่บอกว่าไม่ได้ก็อาจจะทำได้ แต่อย่างน้อยผมคิดว่าน่าจะหารือกันในประเด็นเหล่านี้ให้ตกผลึก
4.1 รูปแบบองค์กรขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งน่าจะมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้
• ตั้งขึ้นก่อนการเลือกตั้ง
• มีสถานภาพทางกฎหมายที่สามารถให้อิสระ มีความต่อเนื่องในการทำงาน และมีงบประมาณที่เพียงพอ เช่นอาจทำโดยพระราชกำหนดโดยการให้ความเห็นชอบโดยพรรคการเมืองและคู่ขัดแย้ง เป็นต้น
• มีองค์ประกอบของบุคคลจากหลากหลายภาคส่วนที่เป็นที่ยอมรับ โดยไม่เป็นองค์กรที่นำโดยนักการเมือง (เนื่องจากต้องพูดถึงประเด็นการปฏิรูปการเมืองเป็นประเด็นหลักด้วย)
• มีกระบวนการที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านปฏิรูปอย่างใกล้ชิด
• มีกระบวนการทางกฎหมายที่ออกแบบให้ข้อเสนอมีผลผูกพันภายหลังการเลือกตั้ง เช่น การกำหนดให้มีการทำประชามติในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและจำเป็น ฯลฯ
4.2 ความชัดเจนของการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหน้า อาทิเช่น ต้องเป็นรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระการปฏิรูปประเทศเป็นวาระสำคัญที่สุด จึงต้องคุยกันถึงรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน เช่น การกำหนดวาระให้ไม่อยู่ครบเทอม เช่นไม่เกิน 1 ปี หรือเมื่อเสร็จภารกิจหลักเช่นการปฏิรูปในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการปฏิรูปการเมืองแล้วก็ควรยุบสภาให้มีการเลือกตั้งตามกติกาใหม่โดยเร็วที่สุด เป็นต้น
4.3 กรอบประเด็นในการปฎิรูป เช่น กติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐ เช่นการปรับปรุงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง การตรวจสอบและถ่วงดุลย์การใช้อำนาจรัฐโดยฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระต่างๆ การขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ การเมือง ภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ การสร้างระบบราชการบนพื้นฐานของจริยธรรมและคุณธรรม การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม การสร้างระบบยุติธรรมที่เที่ยงธรรมและสามารถเข้าถึงโดยง่าย เป็นต้น
4.4 มาตรการและแนวทางที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริงทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ประเด็นที่ต้องมีความชัดเจน ได้แก่
• มาตรการทางกฎหมายที่นำไปสู่การมีผลของการปฏิรูปที่เป็นข้อสรุปขององค์กรเพื่อการปฏิรูป เช่น การให้สัตยาบรรณ หรือสัญญาประชาคมโดยพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆในความขัดแย้ง หรือ การลงประชามติในบางประเด็น เป็นต้น
• บทบาทภาคประชาสังคมในการติดตามตรวจสอบและผลักดันอย่างต่อเนื่องให้การปฏิรูปเกิดจริง
• มาตรการในการสลายขั้วความขัดแย้งจากมวลชนทุกฝ่ายที่กำลังจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรง โดยโน้มน้าวทุกฝ่ายให้เห็นความสำคัญกับการปฏิรูปซึ่งเป็นจุดร่วมที่ทุกฝ่ายต้องการเหมือนกัน
5. นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่เราต้องไม่ลืมก็คือ เรากำลังพยายามปฏิรูปประเทศในกระแสความขัดแย้ง การปฏิรูปจึงต้องอยู่ในหลักการที่ทุกฝ่ายรับได้หรือ “รับไม่ได้น้อยที่สุด”
ด้วยเหตุนี้ “กระบวนการ” ในสถานการณ์เช่นนี้จึงสำคัญไม่น้อยกว่า “เป้าหมาย” การปฏิรูปที่ได้มาโดยกระบวนการที่คนจำนวนมากไม่ยอมรับคงไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ ดังนั้น ทางออกใดๆที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากความขัดแย้งจึงต้องอยู่บนหลักการของระบอบประชาธิปไตย และการหารือร่วมกันโดยฟังเสียงสะท้อนจากคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายและประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น
ผมจึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งแสดงความจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยประกาศเจตนารมณ์ที่จะยินยอมเข้าสู่กระบวนการในหารือผ่าน “เวทีกลาง” ในประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้เกิด “หลักประกัน” ให้แก่ประชาชน อันเป็นสัญญาณให้เห็นว่าการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นแล้ว และสามารถร่วมกันผลักดันให้ประสบผลสำเร็จในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับบ้านเมืองได้จริงหลังการเลือกตั้ง
ก่อนที่จะสายเกินไป...