"คณิต ณ นคร"ทำหนังสือจี้ อสส.ถอนฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดี
"คณิต ณ นคร" ในฐานะอดีต ประธาน คอป.ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดีทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เพื่อความสงบในบ้านเมือง-ยุติธรรม เคยทำหนังสือถึงรัฐบาล-อดีต อสส.แล้วแต่ไม่ได้รับความสนใจ จี้รื้อคดีซุกหุ้น "ทักษิณ"ใหม่
23 ธันวาคม 2556 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด(อสส.)ขอให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีการก่อการร้ายทั้งหมดทุกคดี(ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่ตกเป็นจำเลย) ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ
นายคณิต กล่าวว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน คอป.เกิดมีการดำเนินคดีในเรื่องการก่อการร้าย ซึ่งตนได้เขียนบทความเรื่อง “การก่อการร้าย” โดยเห็นว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่น่าเป็นผลดีซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอัยการ แต่เนื่องจากองค์กรอัยการในขณะนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสร้างความถูกต้องและความปรองดองของคนในชาติ ในการเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องการก่อการร้ายนี้ คอป. จึงได้กล่าวถึงทางออกเพื่อสร้างความถูกต้องเกี่ยวกับองค์กรอัยการว่า เมื่อการดำเนินคดีในความผิดฐานก่อการร้ายทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศขาดความเชื่อถือศรัทธา ทางแก้โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่อาจทำได้ เช่น การสั่งไม่ฟ้องหรือการถอนฟ้องโดยพนักงานอัยการน่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะองค์กรอัยการดูจะไม่ค่อยร่วมมือในการสร้าง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional justice)
“ เมื่อองค์กรอัยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ คอป. จึงได้เสนอให้ฝ่ายการเมืองได้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายแทน แต่ก็ไม่พบว่าฝ่ายการเมืองได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อแก้ปัญหาของชาติแต่อย่างใด”
นายคณิต กล่าวว่า บัดนี้ปรากฏว่ าอดีตอัยการสูงสุดสองคนก่อนหน้านายอรรถพลได้ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ดำเนินการอันอาจเป็นความตามประมวลกฎหมาอาญา มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ และที่สำคัญอาจทำให้คดีของรัฐเกิดความเสียหายได้ตามที่ตนได้กล่าวไว้ในบทความที่ปรากฏในหนังสือ“อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีก่อการร้าย” จึงเสนอแนะเรียกร้องให้อัยการสูงสุดได้ทำหน้าที่โดยสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดี ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ เพื่อความสงบให้แก่บ้านเมือง
นายคณิต กล่าวด้วยว่า นอกจากส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดแล้วยังส่งหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีมีใจความว่า ตามที่ตนได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้เป็นประธาน คอป. และในเวลาต่อมารักษาการนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ให้ความสำคัญแก่ คอป. และได้ให้ คอป. ได้ดำเนินงานต่อไป จนการทำงานของ คอป. เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกันยายน 2555 และ คอป. ได้เสนอแนะเพื่อให้เกิดความสงบและความปรองดองของคนในชาติไว้หลายประการ นั้น
“แม้จะปรากฏว่าหลังจาก คอป. เสร็จสิ้นการทำงานแล้ว คอป. ไม่พบว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป. อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังได้สร้างความขัดแย้งของคนในชาติขึ้นอีกโดยการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและอื่น ๆ แต่ตนในฐานะอดีตประธาน คอป. และ คอป. ทุกคน โดยสำนึกในความรับผิดชอบในเงินภาษีอากรของประชาชนในการที่รัฐได้จัดสรรงบประมาณของแผ่นดินเพื่อการทำงานของ คอป. ในอันที่จะช่วยสร้างความสงบและความปรองดองของคนในชาติ ได้เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรทำหน้าที่ผลักดันข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติและสังคมต่อไป”
นายคณิต กล่าวด้วยว่า ในฐานะเป็นอดีตประธาน คอป. ได้พิมพ์หนังสือ “ประชาธิปไตยและการตั้งรังเกียจทางสังคม” อันเป็นผลงานของ คอป. เช่นเดียวกัน ออกเผยแพร่ไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ส่งให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนแล้วด้วย ทั้งนี้ คอป. เชื่อว่าในการ “ซุกหุ้น” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ที่มีการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นมีความไม่ถูกต้องจนเชื่อได้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่ง คอป. เห็นว่าหากให้ ปปง. ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วก็คงจะพบความไม่ถูกต้องและการกระทำความผิดกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว
หนังสือนายคณิตระบุว่า คอป. ยังเห็นว่าการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนในความไม่สงบเมื่อปี 2553 ที่ได้มีการประกาศหรือโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดและได้เกิดการเผาที่ทำการของรัฐหลายแห่งและอาคารของเอกชนนั้น ก็เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาอย่างแน่ชัด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 85 ซึ่งสำหรับเรื่องหลังนี้มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งที่สามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ ส่วนเรื่องการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายนั้นก็อยู่ในวิสัยที่กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ยากแต่ประการใดและคงจะสามารถนำไปสู่ศาลได้เช่นเดียวกัน
หนังสือระบุด้วยว่า ในฐานะอดีตประธาน คอป. ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด ในฐานะนักวิชาการผู้สอนกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งได้นิพนธ์ตำรากฎหมายสองลักษณะนี้ด้วย และในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศนอกจากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายและการวางเพลิงเผาบ้านเผาเมืองแล้ว ยังทำตนตกเป็นเครื่องเป็นของทางการเมืองอีกด้วย