ปชต.เชื่อมโยงทั้งระบบ นักวิชาการชี้ปฏิรูปการเมืองไม่ได้ทำอย่างอื่น ก็ไม่สำเร็จ
ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ แนะเรียกคืน รสก.พนักงานต้องเข้มแข็ง ป้องกันตรวจสอบการรั่วไหล ห่วง ธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง ด้าน วิทยากร เชียงกูล ชี้แปรรูปถูกบิดเบือนสร้างประโยชน์ให้คนส่วนน้อย โวยนักวิชาการเลิกอ้างกม.เลื่อนเลือกตั้งไม่ได้ ถ้าคิดจะปฏิรูป
วันที่ 19 ธันวาคม 2556 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) จัดเสวนาปฏิรูปประเทศ นำสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจจากระบบการเมืองอุปถัมภ์ เชิญชวนพนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมรับฟัง โดยมี รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.วิทยากร เชียงกูล ผอ.ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ม.รังสิต ร่วมเสวนา ณ หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงปัญหารัฐวิสาหกิจปัจจุบันนักการเมือง ผู้บริหารพูดแต่เรื่องขาย แปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยไม่ตั้งคำถามว่า รัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นเพื่ออะไร ต้องเอาวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอากำไรเป็นตัวตั้ง เพราะวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจเพื่อบริการสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ ไม่เน้นกำไร แค่ไม่ขาดทุนก็พอ และตั้งขึ้นเพื่อความมั่นคงของระบบ ดูแลความมั่นคงของชาติและประชาชน เช่น เชื้อเพลิง พลังงาน ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะทัพเรือ ทัพบิน ทัพบก พลังงานมีความสำคัญกับความมั่นคง แต่พลังงานที่ใช้กันทุกวันนี้เน้นทุนเป็นหลัก
“บริษัท ปตท.เป็นบริษัทใหญ่ใน 80 ของโลก แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความยิ่งใหญ่นั้น สำหรับรัฐวิสาหกิจประเภทที่ตั้งมาเพื่อหากำไร ตามหลักการห้ามผูกขาด รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัด ฉะนั้น อะไรก็ตามที่มุ่งหากำไรต้องไม่ผูกขาด ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต้องแข่งกับธนาคารเอกชนทั่วไป”
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ธุรกิจเพื่อความมั่นคงกลับเน้นกำไรและผูกขาดนั่นคือ ปตท.ปัจจุบันมีหุ้นเอกชนเกือบครึ่งหนึ่ง กฎหมายระบุแฝงว่า ต้องไม่ทำลายผลประโยชน์เอกชน แต่ธุรกิจเอกชนที่ถือหุ้นหากในยามสงคราม ที่รัฐต้องสั่งห้ามขาย ห้ามส่งออก รัฐบาลจะกล้าทำหรือไม่ เพราะกฎหมายเอื้อให้เอกชนฟ้งร้องได้
“ปตท.มักอ้างว่า ต้องขายตามราคาตลาดโลกไม่อย่างนั้นไม่ได้กำไร แต่ไม้เปิดเผยกำไรต่อยูนิตและต้นทุนการกลั่น การขุด บอกเพียงว่า เป็นความลับธุรกิจทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจ”
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ทำหน้าที่หน้าที่ปล่อยสินเชื่อเกษตรกรในอัตรารัฐบาลกำหนด จึงทำให้เกิดปัญหาความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง เพราะถูกบังคับให้นำเงินไปให้โครงการจำนำข้าวโดยจ่ายเงินให้ชาวนา เดือนธันวาคม มีเงินพอที่จะจ่ายให้ชาวนาเพียงหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่ความต้องการของชาวนามีกว่าแสนล้านบาทแล้ว จึงขอถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่ขายข้าวแล้วนำเงินเอาเงินมาให้ชาวนาโดยตรง
“ในฐานะที่เคยทำงานในรัฐวิสาหกิจมาก่อน เห็นว่าการแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจให้โปร่งใส และไม่ขาดทุนไม่ยาก แต่ผู้บริหารต้องมีจิตสาธารณะร่วมมือกับพนักงานเพิ่มความเข้มงวดในการทำงาน ป้องกันการรั่วไหล เหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และผมทำมาแล้ว”
ชี้รัฐวิสาหกิจคือสมบัติสาธารณะ
ขณะที่รศ.วิทยากร กล่าวว่า คำว่ารัฐวิสาหกิจคือการทำประโยชน์ให้ภาคประชาชน แต่ตอนนี้รัฐวิสาหกิจกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เป็นตัวแทนของนายทุน ถูกบิดเบือนในการใช้ประโยชน์เพื่อคนส่วนน้อย รัฐวิสาหกิจคือสมบัติสาธารณะ ที่ภาครัฐเข้ามาจัดการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่การเอานักการเมือง ข้าราชการระดับสูงเข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหาร อีกทั้งระบบการศึกษา เศรษฐกิจของเราสอนให้คนเชื่อในระบบทุนนิยม ดังนั้นถ้าไม่ปฏิรูปทางการเมือง หรือการให้มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนจากภาคประชาชนจริงๆจะไม่สามารถจัดการระบบทุนพวกนี้ได้ และจะไม่สามารถปฏิรูปหรือแก้ปัญหารัฐวิสหกิจได้
ผอ.ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นอ้างว่า เพื่อการบริหารจัดการที่ทันสมัย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างรากให้งอกมีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความจริงเราอาจจะทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน และบริหารกันเอง ประชาชนสามารถมาเข้าถือหุ้นได้ และให้รัฐบาลถือหุ้นบางส่วน มีการตรวจสอบที่เหมาะสม ทั้งนี้ปัญหาเหล่านี้ยังเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจเข้ากับการเมืองด้วย ดังนั้นการเมืองจึงไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้งอย่างเดียว
"ในแง่ประชาชนมีส่วนหนึ่งตื่นตัวกับการเมือง เรื่องปัญหาคอรัปชั่น มองเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่แค่เรื่องระบบเลือกตั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นระบบที่เลวร้ายเพราะส่วนหนึ่งมีการโกง มีการใช้ระบบอุปถัมป์ ไม่ใช่เลือกแล้วได้ตัวแทนของนายทุนเข้ามาโกง หลอกประชาชนว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศจะเจริญรุ่งเรือง หลอกเก่งหลายอย่าง แม้จะคอรัปชั่นแต่บริหารเก่งกว่าอีกฝ่าย เพราะอีกฝ่ายบริหารไม่เป็น แล้วคนไทยก็ชอบเศรษฐกิจระยะสั้น ความเจริญระยะสั้น"
รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า ถ้าไม่สร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งทั้งในระบบการเมือง เศรษฐกิจที่เป็นธรรม สร้างระบบจริยธรรมคุณธรรม คนไม่ดีอย่าให้เข้ามา มีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ประชาชนตรวจสอบได้ ประเทศก็จะไม่เดินหน้า ทั้งนี้ระบเศรษฐกิจถือเป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
"นักวิชาหลายท่านพูดอยากให้มีการเลือกแต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยหมายถึงอะไร หมายถึงสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่แค่สิทธิไปเลือกตั้ง แต่ประชาธิปไตยคือการอยู่อย่างเสมอภาค ทั้งระบบการศึกษา การทำให้คนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขแต่ที่ผ่านมาคือระบบทุนนิยมไม่สามารถทำให้คนอยู่ในสังคมนี้ได้ ดังนั้นจะต้องให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง แก้ปัญหาโครงสร้างเชิงระบบ แก้ปัญหาคอรัปชั่น เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ไม่แก้ปัญหานี้แล้วเจริญ ไม่มี และหลายประเทศเขาสามารถแก้ได้"
อย่างไรก็ตาม รศ.วิทยากร กล่าวว่า ในการปฏิรูปนั้นจะต้องให้ประชาชนมีการศึกษาดี สร้างจิตสำนึกที่ดี ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการต่อรองและควบคุมนักการเมืองได้ หลายคนมองปัญหาและเห็นว่าควรจะมีการปฏิรูป แต่บางทีสิ่งที่เราพูดมันไม่ชัด บางคนคิดไม่ออกจะปฏิรูปไปอย่างไร หรือถ้าปฏิรูปแล้วไปไม่ถึง เอกชนออกมาแต่ไม่พยายามผลักดันอย่างแท้จริง มีการอ้างกฎหมายต่างๆนานา ว่าต้องเลือกตั้งก่อนที่จะปฏิรูป เลื่อนไม่ได้
“ทั้งๆที่กฎหมายคือเครื่องมือที่เขียนขึ้นมาเพื่อทำให้มนุษย์ สังคมดีขึ้น มีความเป็นธรรม ซึ่งหัวใจของกฎหมายที่แท้จริงเพื่อสร้างหลักความเป็นธรรม ไม่ใช่บอกว่ากฎหมายเลื่อนไม่ได้ๆ เอาหมวดอักษรมาอ้าง ถ้าเลื่อนแล้วจะเป็นจะตายกันหรือย่างไร ซึ่งความจริงเป็นกฎหมายเทคนิคง่ายๆ หลักของกฎหมายคือความเป็นธรรม กฎหมายต้องเอื้อประโยชน์ ขจัดความแตกต่างแตกแยก ดังนั้นการปฏิรูปโดยสันติวิธีคือสิ่งที่ควรจะทำและน่าจะทำได้ ถ้าไม่ทำประเทศก็จะตกต่ำ คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะปฏิรูปประเทศหรือปล่อยให้ประเทศไทยตกต่ำต่อไป”
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่าแล้วทำไมไม่ปฏิรูปหลังเลือกตั้งนั้น รศ.วิทยากร กล่าวด้วยว่า เนื่องจาก ถ้าปฏิรูปหลังเลือกตั้งจะปล่อยให้รัฐบาลเลวๆ มาปฏิรูปตัวเองได้อย่างไร ตอนนี้ประชาชนกำลังตื่นตัว ต้องปะทุความเข้าใจให้ประชาชน และเกิดการปฏิรูปด้วยประชาชนเอง