คนตำบลปิล๊อกโชว์ “กองทุนธนาคารที่ดิน” แก้ปัญหาเองก่อนรอรัฐออกโฉนด
ชาวกาญจนบุรีโชว์รูปธรรมแก้ปัญหาแนวใหม่ ต้องมีกองทุนที่ดินชุมชน พอช.มอบเงินก้นถุงธนาคารที่ดินตำบลปิล๊อก แนะรอแค่รัฐออกโฉนดไม่ได้ ชาวบ้านต้องพึ่งตัวเองก่อน
วันที่ 24 มิ.ย. 54 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวที “ความร่วมมือการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท” ณ บ้านอีต่อง ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดย นายทินกร ทรายทอง คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินฯ ต.ปิล๊อก กล่าวว่า ตามที่ขบวนองค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตกได้ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2549 มีพื้นที่ดำเนินการ 99 ตำบล 42 อำเภอ 13 จังหวัด จำนวนนี้มีพื้นที่เข้มข้น 3 ตำบล คือ ต.ปิล๊อก จ.กาญจนบุรี, ต.ทองมงคล และ ต.ช้างแรก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีพื้นที่ขยายผลที่จะนำไปสู่การเป็นพื้นที่รูปธรรมอีก 24 ตำบล
“ทั้งหมดใช้กระบวนการเรียนรู้ วางเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างความเป็นธรรมและการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เน้นระบบบริหารจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมองที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่มีคุณค่ามากกว่ามูลค่า”
นายทินกร กล่าวต่อว่า ในส่วนของ จ.กาญจนบุรี มีการดำเนินงานใน 46 หมู่บ้าน 19 ตำบล 3 อำเภอ โดยแต่ละพื้นที่มีกระบวนการจัดการทำฐานข้อมูลระดับหมู่บ้าน, แผนที่ทำมือ, แผนที่ 1:4,000 และมีกลไกร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับตำบล พร้อมกับสร้างกฎเกณฑ์ในการดูแลรักษาที่ดิน
นายสุชาติ นิลเมือง นายกองค์การบริหารส่วนต.ปิล๊อก กล่าวถึงรูปธรรมในพื้นที่ว่าปัญหาคือชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมและทองผาภูมิ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นสาเหตุให้ถูกจับกุมและพิพาทกับหน่วยงานรัฐโดยตลอด แม้ทำข้อมูลไปเสนอราชการหรือแม้แต่ชุมนุมเรียกร้องก็ไม่มีผล ภายหลังเคลื่อนงานเป็นขบวนร่วมกันทั้ง 4 หมู่บ้าน มีกระบวนจัดเก็บข้อมูลชุมชนที่แสดงถึงขอบเขตการถือครองรายบุคคล ระยะเวลาในการอยู่อาศัย ประเภทที่ดิน และทำแผนที่ทำมือ พร้อมกับวางกติการ่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อความเข้าใจกับชุมชน นำมาสู่การกันแนวเขตป่ากับพื้นที่อยู่อาศัยและกติกาการอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่บุกรุกเพิ่ม
“คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยานฯ ยุติการจับกุม หากมีการบุกรุกจะใช้กติกาที่วางร่วมจัดการก่อน เกิดกองทุนที่ดินที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรในพื้นที่และกรณีจำเป็นที่ต้องขยายพื้นที่เพิ่ม จนถึงวันนี้ปิล๊อกได้นำกองทุนที่ดินไปใช้พัฒนาชุมชนอย่างมีคุณภาพ มีการวางระบบน้ำ จัดสวัสดิการ ฯลฯ กลายเป็น 1 ใน 11 พื้นที่ของประเทศที่จะใช้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ไกลกว่าแค่เอกสารสิทธิ”
นายถาวร ลีลาพันธ์ นายอำเภอทองผาภูมิ กล่าวว่า การจัดการที่ดินแนวใหม่ระดับตำบลนี้ ชุมชนและหน่วยราชการจำเป็นต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ทำให้มีปัญหาหลายประการส่งผลต่อการเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น ขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาการทำมาหากิน คุณภาพชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางสังคมและชุมชน ยินดีที่วันนี้เห็นชุมชนเติบโตไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง
ทั้งนี้มีเวทีเสวนา “การจัดการที่ดินโดยชุมชนและท้องถิ่น” โดย นางสาวกนิษฐา ปรีชาพีชคุปต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่ดิน ยาวนานและมีไม่กี่แนวทางคือหากไม่ยกขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมักถูกหยอดน้ำหวานโดยการรับเรื่องไว้หรือออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีแต่สุดท้ายก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่พบคือในวิธีแก้ปัญหานั้นมีช่องว่าง เนื่องจากชุมชนขาดข้อมูลเชิงลึกที่จะสนับสนุนวิธีคิดของตนเองต่อหน่วยงาน
“วิธีแก้คือการทำให้ชัดเจนตั้งแต้ต้นน้ำเมื่อไปถึงปลายน้ำจะง่าย เริ่มจากการเปลี่ยนกระบวนท่าใหม่ ชุมชนต้องแก้เองไม่ใช่รอไปบอกให้คนอื่นแก้ ตัวเองต้องบอกปัญหารู้ให้ละเอียดว่าที่ดินที่ครอบครองมีปัญหาอะไร ขอบเขตเท่าไร จัดการอย่างไร ต้องคิดและเสนอไปด้วยกัน ไม่ใช่เสนออย่างเดียวแล้วรอ คิดเผื่อไว้เลยว่าถ้าได้ที่ดินมาจะพัฒนาอย่างไร ไม่ใช่ขอแค่ดินแล้วค่อยว่ากัน”
นางสาวกนิษฐา กล่าวว่า หมดยุคที่จะเรียกร้องเพียงกรรมสิทธิ์ บทพิสูจน์ที่ผ่านมาบอกว่าหากรอแค่หลักฐานสุดท้ายคนจนต้องแพ้ ไม่ได้หมายความว่าโฉนดไม่สำคัญ เพียงแต่ระหว่างรออาจต้องทำอะไรก่อนและเพื่อให้รัฐมั่นใจว่าชุมชนสามารถจัดการได้ การทำงานของประชาชนแนวใหม่ต้องก้าวหน้าแบบนี้
ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวอีกว่า เครื่องมือที่สำคัญมากคือการมีกองทุน เพราะแสดงเจตนารมณ์ว่าชุมชนมีความพร้อมต้องการแก้ปัญหาจริงจัง การจะแก้ไขปัญหาแบบร่วมหัวจมท้ายต้องมีทุนที่เป็นหลักประกัน และหากสังเกตจะพบว่าชุมชนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักใช้กองทุนเป็นเครื่องมือทำให้คนรวมตัวกันและสื่อสารไปยังคนภายนอกว่าชุมชนไม่ได้เป็นผู้ขอแต่เป็นผู้ที่พร้อมที่จะพัฒนา
นายศิลป์ชัย ชำนิเขตการณ์ ผู้แทนคณะทำงานที่ดินฯ บ้านโบอ่อง ต.ปิล๊อก กล่าวว่า ชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย เมื่อดินเสื่อมสภาพก็ย้ายไปที่แห่งใหม่ สุดท้ายสูญเสียที่ดินเพราะถูกกว้านซื้อบ้างถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯบ้าง ภายหลังรวมตัวกันเปลี่ยนมาทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ทำปุ๋ยเองไม่ใช้เคมี ตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ชาวบ้านร่วมสมทบจัดหาที่ดินและสร้างกติการ่วมกับป่าไม้ เมื่อดินอุดมสมบูรณ์ประกอบกับข้อมูลจากแผนที่ทำมือและจับพิกัดระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) ทำให้วันนี้ไม่มีการบุกรุกแล้ว
นายละอองดาว ลีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินฯ และผู้แทนพื้นที่ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว กล่าวถึงสภาพปัญหาว่าชาวบ้านไม่มีที่ทำกินเพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของ สปก. ที่ชาวบ้านเข้าทำกินแต่ต่อมาถูกหลอกกว้านซื้อเปลี่ยนมือไปโดยเอกชน แล้วให้ชาวบ้านเป็นผู้เช่าในราคาสูง เกิดปัญหาหนี้สิน ก่อนตัดสินใจไปสู้เรียกร้องให้รัฐช่วย แต่สุดท้ายไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ที่สุดชาวบ้านลงขันร่วมหุ้นตั้งกองทุนที่ดินโดยความเชื่อว่านายทุนคนเดียวซื้อที่ได้ร้อยไร่ ถ้าคนร้อยคนซื้อแค่สิบไร่คงทำได้ จึงทำข้อมูลพื้นที่รวบรวมผู้มีปัญหาจัดลำดับ เคลื่อนโดยใช้กองทุนสวัสดิการที่มี ค่อยขยายๆสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินจัดสรรให้ผู้เดือดร้อน”
นายละอองดาว กล่าวด้วยว่า หลักคิดคือไม่จำกัดว่ารัฐไม่ให้แล้วไม่ทำอะไรต่อ หลักความสำเร็จทางจังหวัดได้ลงนามข้อตกลงช่วยสำรวจที่ดินของหน่วยงานรัฐเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือคนไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งหลังจากนั้นมีนิคมอุตสาหกรรมยกที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้ชาวบ้านเช่าในอัตราปีละ 20 บาทต่อไร่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พอช.ยังได้มอบกองทุนสวัสดิการและกองทุนธนาคารที่ดินตำบลให้แก่ ต.ปิล๊อก 100,000 บาทเพื่อใช้ต่อยอดการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยชนบท.