ประจักษ์ ก้องกีรติ : สถานการณ์เช่นนี้เราไว้วางใจกองทัพไม่ได้เลย
"...ในประเทศที่มีการรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้ง เราไม่สามารถไว้ใจกองทัพได้เลย กองทัพพร้อมจะเข้ามาได้เสมอ ถ้ามีอำนาจบางอย่างผลักดัน หรือให้ไฟเขียวให้กองทัพพร้อมเข้ามาแทรกแซง..."
ท่ามกลางเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่เริ่มต้นมากว่า 50 วัน
บทบาทของกองทัพถูกจับตาเป็นอย่างสูง เพราะถูกมองเป็น “ตัวแปร” สำคัญ ที่จะทำให้ผลลัพธ์ศึกชิงอำนาจครั้งนี้พลิกไปยังขั้วใดก็ได้
โดยทหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งนี้ เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. ได้ออกมาเปิดเผยบนเวทีปราศรัย ช่วงค่ำคืนวันที่ 1 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมาว่า ได้ไปเจรจากับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.)
โดยมี ผบ.เหล่าทัพทุกเหล่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา” ผู้บัญชาการทหารบก “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” ผู้บัญชาการทหารเรือ และ “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ผู้บัญชาการทหารอากาศ นั่งเป็นสักขีพยาน
กระทั่งใครบางคนอุทานว่าคล้ายถูกปฏิวัติเงียบ!
แม้ในเวลาต่อมากองทัพจะพยายามแสดงท่าทีเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด เห็นได้จากกรณีที่ “กำนันสุเทพ” เลขาฯ กปปส.ส่งคำเชิญขอเข้าพบ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และผู้นำเหล่าทัพทุกคน "เป็นการส่วนตัว" แต่ ผบ.สส.กลับใช้การเปิดเวทีเสวนาหาทางออกของประเทศ ในวันที่ 14 ธ.ค.2556 แทนที่จะให้แกนนำผู้ชุมนุมเข้าพบเพียงลำพัง
ทว่า บทบาทของ “ชายชุดเขียว” ก็ยังถูกจับตาอย่างต่อเนื่อง
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังเสร็จสิ้นงานเสวนา ในหัวข้อ "มายาคติว่าด้วยประชาธิปไตย (ของใครของมัน)” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสพูดคุยถึงประเด็นเรื่องบทบาทของกองทัพต่อความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้กับ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.
ทั้งนี้ “ประจักษ์” กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่มีคนเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุม เพราะตนไม่สามารถไว้วางใจกองทัพที่อยู่ในภาวะหมิ่นเหม่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาลได้
“โดยฐานะของกองทัพคือข้าราชการภายใต้การกำกับของรัฐบาล ไม่ต่างจากปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมอื่นๆ ลองนึกภาพว่า อธิบดีกรมป่าไม้เสนอขอเป็นตัวกลางในการจัดการเจรจาก็คือการทำเกินหน้าที่ ในแง่นี้ กองทัพจึงอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ที่จะเปลี่ยนฐานะตัวเองจากการเป็นข้าราชการผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไปเล่นบทเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล จากผู้ใต้บังคับบัญชา มาเป็นผู้บังคับบัญชา”
นักวิชาการหนุ่มรายนี้มองว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ของการสร้างเสรีประชาธิปไตย ตราบใดที่สังคมไทยยังมีปัญหาภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” หมายถึงการที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถควบคุมหรือมีอำนาจเหนือกลไกรัฐด้านความมั่นคงอย่างทหารได้
“ที่กองทัพทำบทบาทเช่นนี้ได้ เพราะอำนาจเชิงประเพณียังครอบงำอยู่ในการเมือไทย ดังนั้น ผมจึงไม่เห็นด้วยกับบทบาทการก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางของกองทัพ”
“ประจักษ์” ยังชี้ว่า ในประเทศที่มีการรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้ง เราไม่สามารถไว้ใจกองทัพได้เลย กองทัพพร้อมจะเข้ามาได้เสมอ ถ้ามี "อำนาจบางอย่าง" ผลักดัน หรือให้ไฟเขียวให้กองทัพพร้อมเข้ามาแทรกแซง
“บทบาทที่กองทัพเล่นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ฮีโร่ แต่การที่กองทัพออกไปช่วยเหลือประชาชนตอนน้ำท่วม แบบนั้นใช่ เป็นฮีโร่” อาจารย์ มธ.รายนี้กล่าว
ภาพประกอบ - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ่ายภาพร่วมกับผู้นำเหล่าทัพขณะเข้าร่วมงานสโมสรสันนิบาต เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา จากแฟนเพจไทยคู่ฟ้า Thai Khu Fah