‘ประตูที่ปิดตาย’ บริบทสังคมสู่การกำหนดเพศสภาพ
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตัวละครอย่าง ‘เจ๊เมี่ยง’ หรือ มัชฌิมา นักปั้นดารามือฉมังที่มีบุคลิกเกย์สาว แห่ง ‘มาดามดัน’ จะกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งบ้านทั้งเมือง ด้วยประโยคฮิตติดหู “ถ้าไม่เริด ก็เชิดใส่” จนเรียกเรตติ้งให้วิก 3 พระรามสี่ไม่น้อย
ซึ่งหากย้อนนึกไปในอดีตจะเห็นว่าละครไทยปัจจุบันเริ่มมีการหยิบยกเรื่องราวของ ‘กลุ่มเพศทางเลือก’ หรือ ‘เพศที่สาม’ จากนวนิยายหลายเรื่องออกมาตีแผ่ให้เห็นชีวิตของกลุ่มคนดังกล่าวผ่านจอแก้วมากขึ้น เช่น หมิงซาน กับ อาเหว่ย (กี่เพ้า), คุณชายใหญ่ กับ ยศ (ดอกส้มสีทอง), เจ๊มดแดง (ระบำดวงดาว) หรือ ธีร์ กับ ภู (ฮอร์โมนฯ)
ทั้งนี้ ยิ่งทำให้นึกถึงผลงานนวนิยายเรื่องหนึ่งของไม้หอมแห่งสวนอักษร ‘กฤษณา อโศกสิน’ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเพศที่สามเรื่องที่สองในชีวิตการเขียน นั่นคือ ‘ประตูที่ปิดตาย’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในสตรีสาร ปี 2517-2518 และจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ หจก.บรรณกิจเทรดดิ้ง ปี 2519 ซึ่งก่อนการเขียนนั้น ‘กฤษณา’ ได้นำเสนอในบทนำเรื่องว่า...
เพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุทธจักรน้ำหมึกด้วยกัน บอกเชิงคาดคั้นทีเดียวว่า “พี่ ขอร้องนะ อย่าเขียนเชิงสนับสนุนให้มีเกย์ในบ้านเรามากขึ้นอีกเลย แค่นี้ก็ทำลายสังคมพออยู่แล้ว พี่คิดดูนะ ถ้ามีพวกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นยังไง”
หากแต่ด้วยจิตวิญญาณของนักเขียนแห่งตำนาน เธอได้ตระหนักและบรรยายไว้ว่า ...ก็เห็นใจคนที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นโดย ‘เกิดมาเป็น’ หรือเป็นโดยการเลี้ยงดู โดยสิ่งแวดล้อม โดยความผิดหวังอื่น ๆ ใด ๆ ก็ตาม ผู้เขียนยอมรับในพฤติกรรมส่วนบุคคลของเขาผู้นั้น ตราบเท่าที่เขายังเป็นคนดี มีประโยชน์ทั้งส่วนครอบครัวและส่วนรวม...
อย่างไรก็ตาม เมื่ออ่านจบจึงถึงบางอ้อว่ากว่า 30 ปีที่นวนิยายเรื่องนี้ได้ฝากฝีน้ำหมึกไว้ เนื้อหายังคงร่วมสมัยอิงวิถีชีวิตของกลุ่มเพศที่สามในสังคมไทยปัจจุบันได้ดีอย่างไม่ผิดเพี้ยนนัก...แม้ตอนจบจะค่อนข้างพะอืดพะอมและชวนให้จินตนาการต่อก็ตาม
ด้วยการนำเสนอมิติของ 2 ตัวละครหลักที่ต้องใช้ชีวิตคู่ร่วมกันระหว่าง ‘นพี’ หนุ่มนักเรียนนอกหน้าตาโก้สุภาพเรียบร้อย มีรสนิยม อยู่ในแวดวงราชการ แต่มีจิตใจที่แอบซ่อนตัวตนที่แท้จริง ใช่แล้ว...เขาเป็นเกย์ กับ ‘จิลลา’ สาวสวยผู้เพียบพร้อมทุกด้าน หล่อนยึดมั่นเสมอว่าการที่ได้แต่งงานกับนพี เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ชนะผู้หญิงคนอื่นที่เขาเคยโอ้อวดไว้ว่า “เขาเป็นเสือผู้หญิง”
หารู้ไม่...ว่านพีผู้เพียบพร้อมของหล่อนเป็น ‘เกย์’ และต้องการแต่งงานกับหล่อนเพื่อปิดบังสังคม โดยเฉพาะอาชีพอย่างเขาที่ต้องคลุกคลีในแวดวงราชการเช่นนี้
สะท้อนสู่ยุคปัจจุบัน ยังคงพบเห็นละครหลายเรื่องพยายามฉายมุมมองความซ่อนเร้นเหล่านี้ตีแผ่ให้สังคมเห็นว่ายังมีผู้ชายหลายต่อหลายคนที่หลอกผู้หญิงแต่งงาน เพื่อปิดบังปมด้อยในตัวเองอยู่ อาจจะด้วยหลายเหตุผลที่ต่างมีไม่เหมือนกัน ซึ่งในชีวิตจริงก็เกิดขึ้นเช่นนี้
ผู้ชายหลายคนที่ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์ และแต่งงานเพื่อบังหน้าทางสังคม อาจจะอดใจได้ไม่นาน แต่ที่สุดแล้วเขาก็ต้องกลับไปกินของเก่าตามสถานเริงรมย์ผู้ชายหรือบางรายก็มีคู่ขาที่มักหลอกคู่ชีวิตว่าเป็นเพื่อนสนิท
สุดท้าย ผู้ที่เสียใจและชอกช้ำมากที่สุดก็คือ ‘ภรรยา’
ดังที่ ‘กฤษณา’ ได้ถ่ายทอดผ่านบทละครในมโนของ ‘จิลลา’ กับประโยคที่ว่า “สองเดือนแล้วสิที่เขาไม่ได้แตะต้องหล่อนเลย”
และแล้วหล่อนก็จับได้ว่า 'นพี' เป็นเกย์คบกับ ‘ระบิล’ เพื่อนหนุ่ม และอีกหลาย ๆ คนที่เขารู้จักตามสถานเริงรมย์ต่าง ๆ ซึ่งยอมรับว่าหล่อนใจแข็งมากพยายามทำใจยอมรับ แม้จะต้องขื่นขมมากเช่นไรก็ตาม...จากที่เคยนอนห้องเดียวกัน กลายเป็นแยกนอนคนละห้อง
‘กฤษณา’ บรรยายไว้ว่า “ประตูที่กั้นอยู่ระหว่างห้องเขาและห้องของหล่อนจะปิดหรือเปิดเมื่อใด หล่อนมิได้สนใจอีกแล้ว เพราะจิลลารู้ดีว่าแม้มันจะปิดหรือเปิดก็ตาม แต่บัดนี้มันได้ ‘ปิด’ ไปแล้วเกือบจะเด็ดขาด”
พิสูจน์ให้เห็นว่า การที่ 'จิลลา' ยอมใช้ชีวิตกับ 'นพี' ต่อ นอกเหนือจากความรักในตัวตน ความรักในพ่อของลูก ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าเกย์อย่างเขาเป็นคนดีและไม่บกพร่องในหน้าที่สามี ยกเว้นเพียงแต่เรื่องบนเตียงเท่านั้น
“...เขาวางศีรษะลงบนหมอน มีเสียงขยับคอสองสามครั้ง จนเตียงไหวยวบ ต่อมาทุกสิ่งทุกอย่างก็นิ่งสนิท...”
ยืนยันว่าประโยคข้างต้นได้สะท้อนภาพความบอบช้ำในจิตใจของผู้หญิงอย่าง ‘จิลลา’ ไม่น้อย ที่ต้องเเอบนอนร้องไห้รอคอยอย่างถวิลหากับความรักอันสุดซึ้งทีี่หล่อนควรจะได้รับในฐานะภรรยา มิใช่เพียงการโอบกอดหรือหอมเเก้มธรรมดาเท่านั้น
ซึ่งต่อแต่นี้คงต้องให้กำลังใจ ‘จิลลา’ ต่อว่าจะใช้ชีวิตกับ ‘นพี’ ต่อไปอย่างไร เพราะนวนิยายมิได้เฉลยตอนจบเฉกเช่นเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องสมหวังในความรัก หากแต่ ‘ประตูที่ปิดตาย’ คงเหลือแก่นคิดไว้ให้คนรุ่นหลังได้นำไปประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่ามีเกย์เกิดขึ้นและเปิดตัวต่อสาธารณชนแล้วมากมาย
อย่างไรก็ตาม ที่แน่ ๆ แม้ไทยจะมีเกย์เกิดขึ้นมาก พวกเขาก็มิได้ทำลายสังคม แต่กลับเป็นคนดี สร้างชื่อเสียงและเป็นผู้นำในศาสตร์หลาย ๆ แขนงได้ไม่ด้อยไปว่าชายหรือหญิง
ยกเว้น...ยังหลอกผู้หญิงแต่งงานบังหน้าเกลื่อนจนผีอย่างเรา ๆ เอือมระอา
ตราบใดที่สังคมยังไม่เปิดกว้างมากกว่านี้
คงยากที่จะเเก้ให้ตก .
twitter:@jibjoyisranews