แถลงการณ์ร่วม 3 องค์กรสื่อ ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
องค์กรวิชาชีพสื่อขอผู้ปฏิบัติงานข่าว ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ ตรงไปตรงมา และควรให้พื้นที่ในการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
วันที่ 19 ธันวาคม 2556 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรสื่อต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจในอนาคตของประเทศแต่บรรยากาศความขัดแย้งยังไม่มีการผ่อนคลายลงเลย และก่อความวิตกกังวลร่วมในสังคมของเรา องค์กรวิชาชีพสื่อ ขอแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้
1.องค์กรวิชาชีพสื่อตระหนักดีถึงความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมือง หรือวิกฤติของประเทศก็เป็นวิถีทางปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งที่ถูกกำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง และยังมีความแตกแยกในสังคมอย่างกว้างขวาง เต็มไปด้วยแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อการตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้งได้
องค์กรวิชาชีพสื่อ มีความเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งในบรรยากาศดังกล่าว อาจจะไม่ช่วยนำพาประเทศออกจากความขัดแย้งตามที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องการ ในทางกลับกันจะทำให้เกิดเป็นวิกฤติของประเทศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรง ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้งนำประเทศออกจากความขัดแย้งให้ได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ผ่านกลไกการหารือและตัดสินใจร่วมกันเพื่อร่วมสร้างกติกาการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ โดยมีเป้าหมายร่วมคือหาทางออกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ เพื่อไม่ความขัดแย้งที่รุนแรงกลับมาอยู่ในวังวนเดิมอีก
อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดี วิกฤติของประเทศในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นวิกฤติที่เป็นโอกาสของประเทศไทย ที่กำลังก้าวข้ามความเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างหลักประกันที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศของเราสามารถปลดเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้อะไรที่จำเป็นต้องปฏิรูปทันทีก็ต้องลงมือทำเช่นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น และควรเร่งดำเนินการปรึกษาหารือเพื่อให้การเลือกตั้งที่ทุกภาคส่วนในสังคมพอใจเกิดขึ้นโดยเร็ว
2. รัฐบาลรักษาการ มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติและต้องไม่ใช้กลไกรัฐไปซ้ำเติมความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องยึดมั่นในการดำเนินการใดๆ ต่อการชุมนุมให้เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรงในทุกกรณี ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ต้องไม่ดำเนินการ หรือสั่งการใดๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมที่จะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียโดยเฉพาะการนำมวลชนมาเผชิญหน้ากัน
3. สำหรับ กปปส. ต้องยึดมั่นและรักษาแนวทางการชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ สันติอหิงสา ปราศจากอาวุธ ให้เป็นแนวทางที่มั่นคงต่อไป การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้จำนวนมหาประชาชนจำนวนมากชุมนุมกดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองก็เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ แต่องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าแนวทางพูดคุยเจรจากับฝ่ายต่างๆ เพื่อหาทางออกร่วมกันเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ เราเชื่อมั่นว่าพลเมืองไทยจำนวนมหาศาลต้องการเดินไปด้วยกันบนเส้นทางปฏิรูปประเทศ พลังของพลเมืองไทยต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่อคนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความอบอุ่น
4.ผู้ปฏิบัติงานข่าวในองค์กรสื่อต่างๆ ต้องยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับสื่อของรัฐ ผู้มีอำนาจสั่งการจะต้องไม่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงกองบรรณาธิการนำเสนอข่าวหรือเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกในสังคม และควรให้พื้นที่ในการเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นของทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
ขณะเดียวกันทางด้านผู้ประกอบธุรกิจสื่อต้องตระหนักถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ องค์กรสื่อจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ทั้งสวัสดิภาพของนักข่าว ช่างภาพ ผู้ปฏิบัติงานในสนามข่าวทุกคน และการปฏิบัติหน้าที่ของกองบรรณาธิการ ทั้งนี้สื่อต้องไม่เป็นเป้าหมายการคุกคาม กดดันของฝ่ายใด เพราะการข่มขู่ คุกคาม กดดันสื่อ ด้วยการหวังผลใดๆ ก็ตามจะกระทบต่อข้อเท็จจริงที่สังคมควรได้รับรู้อย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปรกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย
สุดท้ายนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อขอเรียกร้องประชาชนทุกฝ่ายได้ใช้ความอดทน อดกลั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องร่วมกันเรียกร้อง ผลักดันให้เกิดการสร้างบรรยากาศของความปรองดอง เพื่อการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศของเราลุกยืนอย่างเข็มแข็งต่อไป